ท่าเทียบเรือสีเขียว “HPT” ใช้ AI มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม

ท่าเทียบเรือสีเขียว

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผลักดันท่าเทียบเรือสีเขียว โดยใช้เทคโนโลยีและ AI ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand – HPT) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือ และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่าเรือ ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังเป็นบริษัทในกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ที่มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ยุโรป, อเมริกา และออสเตรเลีย จึงถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในซัพพลายเชนระหว่างประเทศ เพราะช่วยผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต

อย่างไรก็ตาม บริษัทตระหนักดีว่าการดำเนินงานด้านท่าเรือด้วยวิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิม มีส่วนทำให้สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการปฏิบัติงานของท่าเรือ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ HPT

ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัทกำลังดำเนินงานไปสู่การเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “ท่าเทียบเรือสีเขียว-Green Port”

พยุงซัพพลายเชนไทย

“สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ” กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ผู้ประกอบการท่าเรือต้องเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยพื้นที่ในท่าเรือนั้นมีกิจกรรมมากมายที่มีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจก และอาจมีเสียงดัง รวมถึงเรือขนส่งหลายลำที่มาเทียบท่าก็มีส่วนสร้างคราบน้ำมันในทะเล แต่อุตสาหกรรมท่าเทียบเรือไม่สามารถหยุดการดำเนินธุรกิจได้ เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกิจการต่าง ๆ ที่ต้องใช้บริการการขนส่งทางเรืออยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ท่าเทียบเรือจึงเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมองค์ประกอบต่าง ๆ ทางธุรกิจของประเทศเข้าด้วยกัน

สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ
สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ที่ผ่านมาเราพยายามเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อมุ่งสู่ท่าเทียบเรือสีเขียว เป็นรูปแบบท่าเรือที่ประสานความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบริเวณรอบท่าเทียบเรือ ภายใต้เกณฑ์และมาตรฐานสากล”

ตอนนี้ HPT มีท่าเทียบเรือทั้งหมด 5 ท่า คือ ท่าเรือ A2, A3, C1, C2 และล่าสุดคือท่าเรือชุด D เพิ่งสร้างเฟสแรกเสร็จสมบูรณ์ โดยมีความยาวหน้าท่า 1,000 เมตร และกำลังดำเนินการสร้างในเฟสที่ 2 เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะมีความยาวหน้าท่าทั้งหมด 1,700 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้ถึงราว 3.5 ล้านทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต)

ใช้ AI รักษาสิ่งแวดล้อม

“สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ” อธิบายว่า ท่าเรือชุด D เป็นท่าเรือที่บริษัทผลักดันเป็นโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อความยั่งยืนไปอีกขั้น เพราะเป็นท่าเรือนำร่องที่ใช้เครื่องมือทันสมัย เพื่อจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (RTG) ที่เป็นระบบพลังงานไฟฟ้า และสามารถควบคุมการทำงานจากระยะไกล

เครื่องมือปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางตอบโจทย์การรักษ์โลกทุกประเด็น พร้อมกันนั้น ยังมีระบบป้องกันการชนสิ่งกีดขวาง anti-lift ซึ่งป้องกันอุบัติเหตุการยกตู้สินค้า และมีระบบตรวจสอบตู้สินค้าบนเรือขนส่งสินค้า โดยจะระบุตำแหน่งวางตู้สินค้าบนหางลาก เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่พนักงาน, ผู้ปฏิบัติการบนเรือขนส่งสินค้า, พนักงานขับรถบรรทุกรับสินค้า รวมถึงเจ้าของสินค้าด้วย

“การที่พนักงานควบคุมปั้นจั่นทำงานในห้องควบคุมจากระยะไกล แทนการปฏิบัติการในห้องควบคุมบนตัวปั้นจั่น จะช่วยลดการสัมผัสมลพิษทางเสียงได้ อีกทั้งยังช่วยให้เราดำเนินงานได้อย่างยืดหยุ่นในแง่ของการจัดการทรัพยากรบุคลากร ยิ่งเราปรับปรุงประสิทธิภาพระบบและการปฏิบัติการมากขึ้น ยิ่งเห็น
ประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ HPT อยู่ในระหว่างการทดสอบ การใช้งานรถบรรทุกตู้สินค้าแบบไร้คนขับซึ่งควบคุมด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence) จำนวน 6 คัน”

โดย HPT เป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือรายแรกที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในประเทศไทย และหากการทดสอบดังกล่าวประสบผลสำเร็จ และรถบรรทุกสามารถปรับใช้งานร่วมกับกลุ่มรถบรรทุกตู้สินค้าได้ ไม่เพียงแต่รถบรรทุกตู้สินค้าไร้คนขับจะประหยัดพลังงานกว่า หากแต่จะปฏิบัติงานได้เงียบกว่า ซึ่งลดมลพิษทางเสียง เมื่อเทียบกับกลุ่มรถบรรทุกตู้สินค้าแบบดั้งเดิม

ไม่เพียงนำเทคโนโลยีมาช่วยสิ่งแวดล้อม บริษัทยังผลักดันพนักงานให้กระตือรือร้นและร่วมมืออย่างเต็มใจในการรักษาสภาพแวดล้อมที่ทำได้ทันที และสามารถควบคุมและวัดผลได้ เช่น ประหยัดน้ำ และพลังงานไฟฟ้า, ลดการใช้พลาสติก, คัดแยกประเภทขยะ และปลูกต้นไม้ที่ท่าเทียบเรือ ผ่านโครงการ Go Green ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ค. 2562

ปีแห่งความเปลี่ยนแปลง

“สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ” กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่สู่ซัพพลายเชน และระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ในการนี้หากแบ่งปี 2563 ออกเป็น 3 ช่วง จะพบว่าตลอด 4 เดือนแรกระหว่างเดือน ม.ค. ถึงเดือน เม.ย. มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือของ HPT ค่อนข้างคงที่ ยอดการปฏิบัติการตู้สินค้าของเรามีการเติบโตขึ้นเล็กน้อย

“ถือได้ว่าช่วงต้นปีเป็นเวลาที่สร้างความชะล่าใจให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นจะกลายเป็นระเบิดเวลา ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระแสการค้าทั่วโลก”

ต่อมาในช่วงเดือน พ.ค. ถึงเดือน ส.ค.ปริมาณตู้สินค้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบริโภคสินค้าทั่วโลกเกิดการหยุดชะงัก สายการเดินเรือต่าง ๆ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องงดให้บริการในบางเที่ยวเรือ หรือรวบรวมปริมาณสินค้าจากหลาย ๆ เที่ยวเรือเข้าด้วยกัน

“จากข้อมูลของสายการเดินเรือที่เป็นลูกค้าของเราบางราย สินค้าจำเป็นยังมีการขนส่งอยู่ ทั้งนี้ ปริมาณการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้นกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ในกระแสการขนส่งสินค้าในช่วงที่ 2 นี้ จากนั้นในเดือน ก.ย. ยอดการปฏิบัติการตู้สินค้าของเราฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากตลาดการค้าสำคัญของโลกกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง”

เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดจากโรคระบาดได้ เราจึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการป้องกันโควิด-19 ขึ้นทันที โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพ และความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงผู้ใช้บริการที่มาจากภายนอก”

“โดยเรากำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในสถานที่ทำงาน ซึ่งรวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รักษาสุขอนามัย และแนวทางการตรวจสอบอุณหภูมิร่างกาย ข้อปฏิบัติดังกล่าวล้วนจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการรักษาปฏิบัติการท่าเทียบเรือตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อปกป้องพนักงานซึ่งเป็นด่านหน้าของเรา ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับลูกเรือและผู้ใช้บริการท่าเทียบเรือในทุก ๆ วัน แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโรคระบาดครั้งใหญ่ แต่ภายใต้การวางรากฐานท่าเทียบเรือที่ปลอดภัยและยั่งยืนของเรายังคงเป็นหลักชัยสำคัญขององค์กรในปี 2564”

แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายที่มาในรูปของโรคระบาดครั้งใหญ่ แต่ภายใต้การวางรากฐานท่าเทียบเรือที่ปลอดภัยและยั่งยืนยังคงเป็นหลักชัยสำคัญขององค์กรในปี 2564 ของ HPT

“ปีนี้เราตั้งเป้าลดรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และพัฒนาโครงการเพื่อกระชับสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ เมื่อการก่อสร้างท่าเรือชุด D ทุกเฟสเสร็จสมบูรณ์ ไม่เพียงแต่จะเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก หากแต่ยังเป็นท่าเทียบเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

“สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ” บอกด้วยว่า เป้าหมายของ HPT คือการสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อกันแบบน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่ากับชุมชนรอบข้าง

“สำหรับการทำประโยชน์ให้ชุมชนของเรามีหลายกิจกรรม เช่น ซีเอสอาร์ประจำปีภายใต้ชื่อ Dock School เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษา และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งล่าสุดทำให้กับโรงเรียนบ้านโสม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, ให้นักศึกษามาเรียนรู้งานที่ท่าเรือ และการมอบเงินสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงหอผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงห้องพักแพทย์ และพยาบาลโรงพยาบาลแหลมฉบัง เป็นต้น”

นับว่าท่าเทียบเรือสีเขียวสะท้อนความพยายามรักษาสภาพแวดล้อมของฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นำมาซึ่งประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างยั่งยืน