คุณคือ… ตัวคูณหรือตัวหาร ?

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
สายป่าน ปัทมจิตร
[email protected]

เมื่อองค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่ (new normal) สิ่งที่องค์กรต้องการที่สุดกลับไม่ใช่แค่ผู้นำที่เก่ง หรือมีความสามารถเท่านั้น แต่ต้องเป็น “ผู้นำแบบตัวคูณ” (multipliers) ด้วย น่าเสียดายเหลือเกินที่ผู้นำเก่ง ๆ หลายคนเป็น “ผู้นำ แบบตัวหาร” โดยไม่รู้ตัว (accidental diminishers)

หลักคิดเรื่องผู้นำที่เป็นตัวคูณ หรือ “ผู้ทวีปัญญา” (multipliers) และผู้นำแบบตัวหาร หรือ “ผู้บั่นทอนปัญญา” (diminishers) นี้เป็นแนวคิดอันโด่งดังที่มาจากหนังสือติดอันดับขายดี “Multipliers” ของ “Liz Wiseman” ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ช่วงเวลายาก ๆ แบบนี้นี่แหละที่องค์กรต้องการผู้นำแบบ multipliers ที่สุด เพราะเป็นยุคที่เราต้อง “do more with less” คือ ทำน้อยแต่ได้มาก เพื่อช่วยให้องค์กรอยู่รอด และเติบโตท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ

องค์กรทุกวันนี้ไม่สามารถรุ่งเรืองได้ด้วยความคิดของใครคนเดียว แต่เราต้องการความฉลาด ความสามารถของทุกมันสมองในองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างองค์กรอันชาญฉลาด (intelligent organization) และผู้นำแบบ multipliers นี่แหละ ที่จะสร้างองค์กรแบบนั้นได้

แล้วผู้นำแบบ multipliers และ diminishers นั้นต่างกันอย่างไร ?

เราลองนึกถึงผู้นำ หรือหัวหน้าในอดีตของเราดู เคยไหมที่เราอยู่กับหัวหน้าบางคนแล้วเราไม่ค่อยอยากพูด ไม่อยากเสนออะไร แถมรู้สึกว่าไล่ตามนายไม่ค่อยจะทัน รอทำแค่ที่นายสั่ง หรือแนะนำมาก็พอ หัวหน้าที่ทำให้เรารู้สึกว่าสติปัญญาความสามารถของตัวเราลดน้อยถอยลงทุกที หรือถูกบั่นทอนลง แบบนี้เองที่เป็นผู้นำแบบ diminishers

ในขณะที่หัวหน้าแบบ multipliers นั้นจะเป็นหัวหน้าที่เราอยู่ด้วยแล้ว เรารู้สึกว่าเราโตขึ้น เก่งขึ้นทุกวัน มีโอกาสได้แสดงศักยภาพความสามารถของเราอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่ายิ่งอยู่ด้วย ก็ยิ่งมีปัญญาแบบทวีคูณ ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้นำแบบ multipliers หรือผู้สร้างอัจฉริยะในองค์กร จะกลายเป็นของจำเป็นสำหรับ โลกยุคปัจจุบัน

แต่รู้ไหมว่ามีหัวหน้ามากมายเหลือเกินที่เป็นผู้บั่นทอนปัญญา หรือ diminishers โดยไม่รู้ตัว ?

ผู้นำแบบ accidental diminishers นี้ คุณ Wiseman จำแนกไว้หลายประเภทด้วยกัน มีตั้งแต่แบบถนัดสั่ง เจ้าไอเดีย พลังล้นจนลูกทีมตามไม่ทัน หรือไม่ก็ประเภทคอยเข้ามาช่วย มาทำแทนจนไม่เหลือพื้นที่ให้ลูกทีมได้คิดและเติบโต จนนานวันเข้า ลูกทีมก็เริ่มเอะใจและได้คิดว่าแล้วเราจะคิดไปทำไม ?

สู้รอคำสั่ง หรือแนวคิดจากหัวหน้าละกัน เพราะนี่แหละคือวิธีดีที่สุดแล้วในการดำรงชีพในองค์กร แล้วไม่ช้าไม่นาน ลูกทีมเหล่านี้จะค่อย ๆ ถอนพลังสติปัญญา และความผูกพันของตัวเองไปไว้ที่อื่น ที่ไม่ใช่ทีมนี้ ที่นี้อีกต่อไป

ต่างกันกับผู้นำแบบ multipliers หรือหัวหน้าในฝัน ที่ทำให้ลูกทีมอยากมาปล่อยพลังในที่ทำงานทุกวัน เขาคือผู้นำที่ทำให้ลูกทีมรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของงาน ด้วยการหมั่นซักถามความเห็นแทนที่จะเป็นคนให้คำตอบ เขาจะคอยสังเกตจุดแข็งจุดเด่นของแต่ละคน และพร้อมให้พื้นที่หรือโอกาสกับลูกทีมในการเรียนรู้ พัฒนา และปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมา แทนที่จะเอาแต่สั่งหรือรวบอำนาจไว้ทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ เขายังไม่ใช่คนที่จะจับลูกทีมไปประหารเมื่อลูกทีมทำพลาด แต่ยอมรับได้ว่าความผิดพลาดนั้นบางครั้งก็จำเป็น และยอมรับได้ ถ้าจะช่วยทำให้ลูกทีมเก่งขึ้น เติบโตขึ้น และสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้จากพฤติกรรมแบบ multipliers นี้ คืออัจฉริยภาพของทุกคนในทีม ที่พร้อมส่งผลลัพธ์แบบ “10X” ให้กับองค์กร

สรุปสั้น ๆ คือ ผู้นำที่เป็นตัวคูณ หรือ multipliers นั้น เขาจะไม่เล่นบทของ genius หรือคนฉลาดซะเอง แต่เขาจะเป็น genius maker หรือผู้สร้างคนฉลาด ฉะนั้น อย่าลืมกลับไปทบทวนตัวเองดูสักนิดว่าคุณเป็นผู้นำแบบไหน ?

หากผู้อ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ท่านใดสนใจ อยากรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิด และหลักการของหลักสูตร multipliers เพิ่มเติม สามารถติดต่อดิฉันได้ที่ [email protected]