SCG ชูโมเดล “เลิกแล้ง เลิกจน” ชุมชนมีน้ำกินน้ำใช้

SCG

ในปี 2564 เป็นอีกปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้งต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะหากย้อนไปเมื่อช่วงต้นปีพบสัญญาณเตือนแรก คือ น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาเกินมาตรฐานสูงสุดในรอบ 10 ปี จนเป็นสาเหตุทำให้น้ำประปามีรสชาติกร่อยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนน้อย, น้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้น้ำเค็มผ่านเข้าระบบน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา

ซึ่งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) รายงานว่า ค่าความเค็มที่วัดได้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 64 สูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่ต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และถึงแม้ว่าตอนนี้ค่าความเค็มจะลดลงแล้ว แต่ยังมีแนวโน้มจะเค็มอีก

เพราะหากดูปริมาณน้ำฝนในปี 2562 ติดลบถึง 17% และปี 2563 ติดลบไปถึง 12% ทำให้ต้องใช้ต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเกือบหมด และปัญหาคือปีนี้ยังต้องเผชิญกับฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเกษตร อาจทำให้มีชุมชนเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตกว่า 30,000 ชุมชนทั่วประเทศ

ด้วยเหตุนี้เอสซีจีจึงผนึกพันธมิตร อาทิ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หอการค้าแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดลที่จะเอาชนะภัยแล้งและความยากจนอย่างยั่งยืนด้วยการถอดบทเรียนจากโครงการบริหารจัดการน้ำที่เอสซีจีทำมากว่า 10 ปี

ตั้งแต่การสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 100,000 ฝาย การทำสระพวง แก้มลิง รวมถึงโครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง เพื่อสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของปัญหาภัยแล้ง

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เรื่องน้ำ รัชกาลที่ 9 ตรัสซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “น้ำคือชีวิต” ซึ่งเป็นโจทย์ให้เราต้องนำไปวิเคราะห์ ตีความคำนี้พร้อมกับขับเคลื่อนเพื่อแสวงหาคำตอบ โดยให้ประมาณตนเองแล้วบริหารจัดการด้วยตนเอง รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดวิกฤต น่าเสียดายที่เราพูดกันเฉย ๆ แต่ไม่ทำอะไร ผลจึงไม่เกิด น้ำจึงท่วมและแล้งทุกปี

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

ซึ่งจะเห็นว่าชุมชนที่รอดจากภัยแล้งและความจนได้ ล้วนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเองทั้งนั้น ด้วยการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริมาใช้ ประมาณตนเองก่อนว่ามีน้ำต้นทุนเท่าไหร่ จะปลูกพืชอะไรให้เหมาะสมกับพื้นที่ และจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์ยั่งยืน

ในส่วนของมูลนิธิมีเครือข่ายชุมชนที่ทำงานด้วยทั้งหมด 60 ชุมชน คิดเป็นหมู่บ้านประมาณ 1,773 หมู่บ้าน รอดพ้นแล้งหมด เพราะเขามีการเก็บน้ำ บริหารน้ำอย่างดี เก็บน้ำที่ไหลมาทุกเม็ด ทุกพื้นที่เกษตรล้วนมีสระน้ำในพื้นที่ตนเอง และมีประมาณ 24 ชุมชนของมูลนิธิที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้เลย

“ทุกวันนี้เราพูดถึงความยั่งยืนตั้งแต่ระดับสหประชาชาติ แต่เราทำอะไรที่ยั่งยืนบ้าง มีแต่แสวงหา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ายิ่งพัฒนายิ่งแย่ ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตามเหมือนกันหมด ยิ่งรวยทางด้านวัตถุเท่าไหร่ ธรรมชาติยิ่งหายนะ”

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาน้ำของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้อง เพื่อให้ชุมชนไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และมีรายได้ที่มั่นคงเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ทุกคนต้องออกมาทำแบบนี้แล้วเราจะเลิกแล้ง เลิกจนกันเสียที และจะรวยต่อไป

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี กล่าวว่า ตลอด 14 ปีที่ผ่านมาเอสซีจีร่วมกับเครือข่ายแก้ปัญหาภัยแล้ง สืบสาน รักษา ต่อยอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี

โดยเริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสร้างไปแล้วกว่า 100,000 ฝาย รวมถึงการทำสระพวง แก้มลิง ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำชุมชน และสร้างอาชีพให้ชุมชน ต่อยอดสู่โครงการเอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สามารถพลิกชีวิตความเป็นอยู่ให้กับ 250 ชุมชน 47,500 ครัวเรือน ใน 30 จังหวัดมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

รวมถึงต่อยอดโครงการพลังชุมชน อบรมความรู้ คู่คุณธรรม ให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม เรียนรู้การตลาด การค้าขาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เป็นบทพิสูจน์ว่าชุมชนสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและความยากจนได้ จึงนำมาสู่บทสรุป “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล 6 ขั้นตอน ได้แก่

หนึ่ง สามัคคี พึ่งตนเอง เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ปัญหาด้วยความรู้คู่คุณธรรม นั่นหมายความว่า ชุมชนต้องสามัคคีกันก่อนถึงจะนำมาสู่การดำเนินงานร่วมกัน

สอง เรียนรู้จัดการน้ำ ด้วยเทคโนโลยี เรียนรู้การจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริ เข้าใจสภาพพื้นที่ รู้ความต้องการใช้น้ำของตนเองและชุมชน และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทำแผนที่น้ำ ผังน้ำ วางแผนบริหารสมดุลน้ำ

สาม หาน้ำได้ เก็บน้ำไว้ ใช้น้ำเป็น สร้างแหล่งกักเก็บน้ำ สำรองน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเกษตร ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของชุมชน รวมถึงใช้น้ำซ้ำให้คุ้มค่าด้วยระบบน้ำหมุนเวียน และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน

สี่ ทำเกษตรผสมผสาน บริหารความเสี่ยง โดยปลูกพืชเพื่อกิน เพื่อใช้ เพื่อขาย สร้างรายได้ตลอดทั้งปี ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรอัจฉริยะใช้เทคโนโลยี วางแผนเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เช่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อยในพื้นที่แล้ง

ห้า เข้าใจตลาด ตรงใจลูกค้า ปลูกพืชที่เป็นความต้องการของตลาด แปรรูปผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการขายผ่านช่องทางตลาดที่เข้าถึงลูกค้า

หก เศรษฐกิจเพิ่มคุณค่า ชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน การรวมกลุ่มชุมชนให้เข้มแข็ง จัดการผลผลิตเกษตร การตลาด การจัดการเงินและสวัสดิการ ต้องขายได้ ใช้ประโยชน์ได้

“ฉะนั้น ทั้ง 6 ข้อผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราอยากแชร์ให้เห็นว่ามีประโยชน์และเห็นผลจริง ๆ ซึ่งเป้าหมายต่อไปเอสซีจีจะร่วมผลักดันโมเดลเลิกแล้ง เลิกจน ร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยเอาชนะสงครามยากจนโดยเร็ว เพราะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน มันเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเรา เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ตาม บ้านสาแพะเหนือ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เป็นหนึ่งในชุมชนที่สามารถพลิกฟื้นจากความแห้งแล้งได้ โดย “มานพ ปั้นเหน่ง” ชาวบ้านสาแพะเหนือบอกว่า ในอดีตหมู่บ้านสาแพะเหนือต้องเจอกับวิกฤตภัยแล้งมาตลอด เคยปลูกข้าวแต่ไม่ได้กินเพราะข้าวยืนต้นตายจากการขาดน้ำ อีกทั้งแหล่งน้ำยังมีสภาพตื้นเขินจนทำอะไรไม่ได้ ถึงแม้มีคลองในหมู่บ้าน แต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ เพราะเมื่อฝนตกก็ปล่อยให้น้ำไหลไป จึงทำให้ขาดแคลนน้ำ
เมื่อถึงฤดูแล้ง และชาวบ้านก็มีรายได้จากการทำนาปีละครั้งอยู่ที่หลักหมื่นบาทต่อปี และทำพืชเกษตรในฤดูฝนเพียงครั้งเดียว และพืชผักสวนครัวทั่วไป แต่รายได้ไม่พอจนทำให้ชาวบ้านอพยพไปทำงานในเมือง

จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีก่อน ชาวบ้านเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อกำจัดปัญหานี้ให้มีที่กักเก็บน้ำใช้ให้ได้นานที่สุดและให้อยู่รอด จึงตัดสินใจรวมตัวกันลุกขึ้นแก้ไขปัญหาโดยมีเอสซีจี และ สสน. เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งโครงการแรกเริ่มจากการสร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ภูเขาเพื่อกักเก็บน้ำ ปัจจุบันมีมากกว่า 900 ฝายแล้วบนพื้นที่ 3,000 กว่าไร่ ปรากฏว่าเราสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ ทำให้ระบบนิเวศในป่าและชุมชนดีขึ้น ต้นไม้เริ่มเขียวชอุ่ม

จากนั้นจึงเริ่มคิดกันต่อว่าทำอย่างไรจะเกิดความยั่งยืน เลยสำรวจพบว่าแต่ละปีกักเก็บน้ำไว้ได้แค่ 2% จึงขุดลอกอ่างเก็บน้ำในชุมชนใหม่ด้วยการเอาตะกอนออก ซึ่งเดิมเคยเก็บน้ำเอาไว้ได้ 7,000 ลูกบาศก์เมตร ตอนนี้เก็บได้ 12,000 ลูกบาศก์เมตร แล้วก็ทำบ่อพวงคอนกรีต ทำระบบท่อกระจายน้ำเข้าแปลงเกษตร แล้วก็ทำฝายใต้ทราย 9 ฝาย เทปูนไว้ให้น้ำดันขึ้น มีที่กั้นน้ำตาละฝาย เพื่อชะลอน้ำในพื้นที่

จากนั้นจึงมีการต่อยอดมาสร้างแท็งก์น้ำกักเก็บน้ำจำนวน 9 แท็งก์ แต่ละแท็งก์บรรจุน้ำได้ประมาณ 4,000 กว่าลิตร พร้อมกับวางท่อต่อเข้าหมู่บ้านไปยังพื้นที่การเกษตรของชุมชน ซึ่งการสร้างทั้งหมดคนในหมู่บ้านจะมา “เอามื้อ” (ช่วยกันออกแรง) คนละไม้คนละมือ ทั้งงานก่อสร้าง งานขุดลอกถือว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจกัน เพราะการจะดำเนินการเรื่องใด ๆ ก็ตาม ปัจจัยสำคัญคือ คนในชุมชนต้องเห็นด้วย แล้วมีส่วนร่วม ซึ่งชุมชนของเราก็มีการประชุมกันตลอด มีการตั้งคณะกรรมการทำงานดูแลการจัดการน้ำ

พอทำเรื่องน้ำเสร็จก็มาทำเรื่องเกษตร จากเดิมเราทำเกษตรได้แค่ปีละครั้ง ตอนนี้ทำได้ 3 ครั้ง ทำให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 3 เท่า ไม่ว่าจะเป็นปลูกถั่วฝักยาว พริก มะเขือ หรือพืชผักสวนครัวทั่วไป แต่ตอนนี้มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือ “ถั่วพุ่ม” เป็นสินค้าที่ทำเงินให้หมู่บ้านได้มาก มีการส่งออกไปญี่ปุ่น มีไม้ยืนต้นอย่างเงาะ ทุเรียน ทำเกษตรได้ทั้งปีทำให้รายได้จากการเกษตรของชุมชนตอนนี้ถึงปีละ 10-20 ล้านบาท แล้วก็เกิดการจ้างงานคนนอกหมู่บ้านด้วย

“ทั้งนี้ สิ่งที่ยั่งยืนที่สุดในชุมชนของเรา ผมมองว่าเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีน้ำเพียงพอ สามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้ ทำเกษตรได้ตลอดปี มีเงินใช้ไม่ขาดมือ และลูกหลานเริ่มทยอยกลับบ้าน ผมคิดว่านี่คือความสุขและความสามัคคีที่ยั่งยืนในชุมชน”