จ๊อบไทย คาดการณ์ตลาดแรงงานไตรมาส 4 ชี้กลุ่มธุรกิจบริการ ค้าปลีก ก่อสร้าง ยังสดใสรับปลายปี

จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ระบุว่าจากข้อมูลภาพรวมที่ผ่านมาพบ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ อันดับหนึ่ง ธุรกิจบริการ 9,529 อัตรา ตามมาด้วย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 8,915 อัตรา อันดับสาม ธุรกิจค้าปลีก 7,293 อัตรา อันดับสี่ ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 6,449 อัตรา และอันดับห้า ธุรกิจก่อสร้าง 6,248 อัตรา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัว ผนวกกับไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาลต่าง ๆ จึงทำให้ตลาดแรงงานกลับมาคึกคักโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม และค้าปลีก ส่วนธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีฐานการผลิตที่สำคัญหลายแห่งกระจายอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงมีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก สำหรับธุรกิจก่อสร้างก็ยังมีความต้องการแรงงานสูงและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า สืบเนื่องมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังเผยตัวเลขความต้องการแรงงานขององค์กรต่างๆ ที่มาลงประกาศรับสมัครงานบนจ๊อบไทยดอทคอมในช่วงไตรมาส 4 จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยประมาณ 1-3 เปอร์เซ็นต์ อีกด้วย

“นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) กล่าวว่า เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.2 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 86,000 อัตราต่อวัน ได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่อยู่ในเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม เพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานทั่วประเทศ ในไตรมาส 4 ประจำปี 2560 ซึ่งพบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด มีดังนี้

หนึ่ง ธุรกิจบริการ จำนวน 9,529 อัตรา – สืบเนื่องมาจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 และจะเติบโตต่อเนื่องยาวถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นที่ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวและออกมาใช้จ่าย จึงส่งผลให้ธุรกิจบริการมีความต้องการแรงงานด้านนี้จำนวนมาก

สอง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 8,915 อัตรา – สอดคล้องกับธุรกิจบริการที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวในช่วงปลายปี

สาม ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 7,293 อัตรา – ได้แรงหนุนมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ผนวกกับในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ จึงส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกที่ขยายตัวหลักๆ อยู่ในหมวดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป

สี่ ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 6,449 อัตรา – เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งปัจจัยภายในประเทศที่มีความต้องการสูงขึ้น เนื่องจากมีสินค้าใหม่เข้ามากระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในหมวดยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

ห้า ธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 6,248 อัตรา – สืบเนื่องมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่มีเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง ซึ่งส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไปจนถึงปีหน้า รวมถึงด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัว เช่น คอนโด ตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือง และชมพู จึงต้องการแรงงานเข้ามารองรับการเติบโต

นอกจากนี้ จ๊อบไทยดอทคอม ยังเผยตัวเลขประมาณการของประเภทงานที่มีแนวโน้มเปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ในไตรมาส 4 ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น สำหรับประเภทงานที่มีแนวโน้มเปิดรับสมัครมากที่สุด ได้แก่ 1) งานขาย อยู่ที่ประมาณ 17,500-18,000 อัตรา ตามมาด้วย 2) งานช่างเทคนิค อยู่ที่ประมาณ 9,400-10,000 อัตรา 3) งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ อยู่ที่ประมาณ 7,100-7,500 อัตรา 4) งานวิศวกรรม อยู่ที่ประมาณ 6,400-7,000 อัตรา และ 5) งานบริการลูกค้า อยู่ที่ประมาณ 5,400-6,000 อัตรา ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้นงานขายเนื่องจากถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกบริษัท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อลองดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่างานผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 32% โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีผลต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม

หากคาดการณ์ตลาดแรงงานในไตรมาส 4 ของปีนี้ คิดว่าจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ผนวกกับช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มจับจ่ายใช้สอย ทำให้ตลาดแรงงานจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งในภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม ค้าปลีก ในส่วนของภาคก่อสร้างเองก็ยังมีโครงการจากภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักซึ่งมีแนวโน้มยาวไปถึงปีหน้า ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงคาดว่าในไตรมาส 4 ตลาดแรงงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 โดยประมาณ 1-3% “นางสาวแสงเดือน” กล่าวทิ้งท้าย