4C : ส่วนประสม “การแข่งขันข้ามสนาม”

การแข่งขัน
คอลัมน์ CSR Talk
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

สถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งเร้าให้ภูมิทัศน์การแข่งขันเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการ ทั้งที่ได้รับผลกระทบ และมิได้รับผลกระทบ นับจากนี้ไปจะเผชิญกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ จากการที่ธุรกิจของตนต้องดิ้นรนหาธุรกิจใหม่ เพื่อความอยู่รอดและเติบโตในวันข้างหน้า และจากการที่ธุรกิจอื่นก็ต้องดิ้นรน และเข้ามาแข่งขันในสนามธุรกิจที่เรามีอยู่เดิม

ในแง่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำต้องผันตัวมาทำธุรกิจใหม่ ซึ่งอยู่นอกธุรกิจแกนหลักเดิม เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ทดแทนรายได้จากธุรกิจเดิมที่หดหาย และอาจไม่ฟื้นกลับมาดีดังเดิม

ในแง่บุคลากรที่ทำงานอยู่ในธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โรงแรม ที่พัก นำเที่ยว รถเช่าของฝาก สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานบันเทิง ตลอดจนธุรกิจรับจัดงาน และนิทรรศการต่าง ๆ จำต้องหันมาประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งอยู่นอกวิชาชีพเดิมทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในสนามเดิม จะพบกับคู่แข่งขันหน้าใหม่ที่ข้ามสายมาจากนอกวงการ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบในแง่ของโอกาส ได้แก่ ธุรกิจผลิตวัคซีน โรงพยาบาล ประกันสุขภาพ ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและบริการทำความสะอาดสถานที่ให้ปลอดเชื้อ รวมทั้งธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ และผู้ให้บริการเครื่องมือสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ ฯลฯ จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในสนามแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ถาวรหลังสถานการณ์

จึงทำให้ธุรกิจที่แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โดยตรง แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากคู่แข่งขันรายใหม่ที่เป็นผลิตผลจากส่วนประสมการแข่งขัน (competition mix)

ที่สำคัญใน 4 ส่วน ได้แก่ 1) การแข่งขันข้ามสาขา 2) การแข่งขันข้ามเทคโนโลยี 3) การแข่งขันข้ามกฎกติกา 4) การแข่งขันข้ามสายพันธุ์

– การแข่งขันข้ามสาขา (cross-sector) คือ การที่ผู้เล่นรายเดิมในสาขา ถูกผู้เล่นรายใหม่นอกสาขาเข้ามาแข่งทำธุรกิจในประเภทเดียวกัน

– การแข่งขันข้ามเทคโนโลยี (cross-technology) คือ การที่คู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกันใช้เทคโนโลยีใหม่หรือแตกต่างจากเดิม และก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ

– การแข่งขันข้ามกฎกติกา (cross-disciplinary) คือ การที่ผู้เล่นรายเดิมหรือรายใหม่ลงสนามแข่งขัน โดยใช้วิธีควบรวม หรือเข้าครอบงำกิจการของคู่แข่งหรือคู่ค้าในฝั่งต้นน้ำหรือปลายน้ำที่ส่งผลต่อห่วงโซ่ธุรกิจ

– การแข่งขันข้ามสายพันธุ์ (cross-breed) คือ การที่ธุรกิจปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยธุรกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทำให้การแข่งขันแบบเดิมหมดความหมาย

ตัวอย่างของ competition mix ที่เกิดขึ้นจากผลพวงของโควิด ได้แก่ เครือ ปตท. เดินเครื่องลุยธุรกิจใหม่ “ยาและเครื่องมือแพทย์” เต็มรูปแบบ ขุมทรัพย์ใหม่รับช่วงต่อ “พลังงาน-ปิโตรเคมี” บริษัทเครือ ซี.พี.กรุ๊ป เข้าถือหุ้น 15% “ซิโนแวก” บ.ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของจีน

ในปี 2564 กิจการที่อยู่ในธุรกิจ ซึ่งได้รับโอกาสจากสถานการณ์โควิดจำต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือคู่แข่งขันรายใหม่ที่เป็นผลิตผลจากส่วนประสมการแข่งขัน (competition mix)

แสวงหาพันธมิตรร่วมดำเนินการที่สามารถเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขัน รวมทั้งเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเพื่อรักษาฐานตลาด ตลอดจนการวางแผนและบริหารสายอุปทานให้มีความยืดหยุ่นสูงรองรับการแข่งขันข้ามสายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต