จ๊อบส์ ดีบี เผยตลาดงานเริ่มฟื้น หลังผ่านจุดต่ำสุดปี 63 ช่วงโควิดระบาดใหม่

“จ๊อบส์ ดีบี” เปิดข้อมูลประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤตโควิด พบสัญญาณบวกตลาดแรงงานเริ่มฟื้นหลังผ่านจุดต่ำสุด สายงานไอทียังเป็นที่ต้องการสูง ส่วนอาชีพใหม่มาแรงที่ปรึกษาบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลเริ่มปรากฏบนแพลตฟอร์มมากขึ้น เผยข้อกังวลแรงงานไทยทักษะสูงพร้อมไหลออกต่างประเทศ ขณะที่ต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงานในประเทศไทย หวั่นอนาคตแย่งงานกันสูง

นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดระลอกแรก ทำให้การประกาศงานทั้งหมดในประเทศไทยหายไปกว่า 35.6% ระบาดระลอกสองหายไปประมาณ 46% แต่ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามจีดีพีของประเทศที่เริ่มกลับมาดำเนินทุกอย่างได้ปกติ

โดยเฉพาะในเดือน ก.พ. 2564 จำนวนความต้องการแรงงานในประเทศไทย ทั้งจากบนแพลตฟอร์มหางาน และช่องทางสื่อกลางออนไลน์อื่น ๆ ฟื้นขึ้นถึง 24.65% สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่า ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือน เม.ย. 2563 และเดือน ธ.ค. 2563 จากการระบาดของโควิดระลอก 2

และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวก 5% ในกลางปี 2564 เมื่อเทียบกับกลางปีก่อน และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตโควิดในต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่

สายงานที่ต้องการมากสุด

จากจำนวนประกาศงานบนจ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พบว่าธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9% ไม่เฉพาะบริษัทไอที แต่ตอนนี้ทุกบริษัทแทบทุกบริษัทกำลังหาคนที่เก่งด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาทำงาน ซึ่งอัตราเงินเดือนของสายงานด้านไอทีสำหรับเด็กจบใหม่ ขั้นต่ำอยู่ที่ 20,000 บาท ขณะที่ขั้นสูงอยู่ที่ 40,000 กว่าบาท และยังเป็นที่ต้องการมากในตลาดงาน

2) กลุ่มธุรกิจการผลิต เริ่มฟื้นหลังวิกฤต คิดเป็น 8.1% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6% และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9% 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 37.7%

“ที่น่าสนใจคือ กลุ่มธนาคาร ฟินเทค ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในแพลตฟอร์มของจ๊อบส์ดีบีมักจะไม่ค่อยเห็นกลุ่มนี้ติดอันดับเท่าไหร่ แต่กลายเป็นว่าปีนี้เห็นแนวโน้มขึ้นมา เนื่องจากช่วงวิกฤตธนาคารหลายแห่งได้ทรานฟอร์มตนเองทั้งปิดสาขา หันมาโฟกัสด้านคน เทคโนโลยีมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤต และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร และพบว่ามีใบสมัครงาน 1 ล้านกว่าใบต่อเดือน โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท”

ในส่วนของความต้องการเมื่อแบ่งตามสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ คิดเป็น 16% 2)งานไอที คิดเป็น 14.7% 3) งานวิศวกรรม 9.8% และในส่วนของการฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสายงาน พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% 2) สายงานขนส่ง คิดเป็น 24.7% 3) สายงานการผลิต คิดเป็น 20.8%

สายงานเกิดขึ้นใหม่

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตโควิด อาทิ นักพัฒนาเอไอ ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเห็นงานสายนี้ติดอันดับเลย และก็มีสายงานผู้เชี่ยวชาญ Business Transformation เป็นงานที่พยายามสืบเสาะค้นหาทางด้านเทคโนโลยี หรือจะเป็นงานด้าน Data director งานที่ต้องศึกษาข้อมูลมาวางแผนกลยุทธ์ กำหนดทิศทางบริษัท รวมถึง Growth Officer, Chief Official Growth มีหน้าที่มองกลยุทธ์บริษัทให้ออก ว่าการเติบโตของบริษัทจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง ฯลฯ

ทั้งนี้ นางสาวพรลัดดา กล่าวต่อว่า จ๊อบส์ ดีบี ได้ร่วมมือกับ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) ในการจัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ

ภายใต้หัวข้อ “Where – ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล” เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ จากผลสำรวจ พบว่า เกิดสองปรากฏการณ์สำคัญในช่วงวิกฤต

คนไทยทักษะสูงพร้อมทำงานต่างประเทศ

ปรากกฏการณ์แรกคือ คนทำงานหันมาให้ความสนใจการทำงานแบบเวอร์ชวล โดยกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และ 50% ของคนไทยพร้อมที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ ซึ่ง 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) ญี่ปุ่น 3) สิงคโปร์

ขณะเดียวกันก็มีแรงงานต่างชาติก็สนใจอยากมาทำงานให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ 1) สิงคโปร์ 2) มาเลเซีย 3) จีน 4) อินโดนีเซีย 5) รัสเซีย ซึ่งในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ

“จากปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดข้อกังวลคือ คนไทยที่มีความพร้อมไปทำงานต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะสูงมีความสามารถทางด้านภาษา หรือมีความสามารถพร้อมที่จะทำงานกับที่ไหนก็ได้ เช่น ไอที ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เนื่องจากต้องการความก้าวหน้า และเงินเดือนที่สูงขึ้น ตรงนี้น่ากลัวเพราะประเทศไทยก็ต้องการคนที่มีทักษะสูงทำงานเช่นกัน นั้นหมายถึงดีมานด์สูงแต่ซัพพลายจะไม่พอ

ฉะนั้นนายจ้างต้องปรับวิธีการดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้พร้อมทำงานให้บริษัทในประเทศไทย ไม่เช่นนั้นจะโดนต่างชาติที่มีทักษะความสามารถมาแย่งงาน เกิดการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะในวันที่วิถีการทำงานผ่านทางไกลกลายเป็นนอร์ม”

“จะเห็นว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2018 ต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา มาทำงานด้านใช้แรงงาน แต่พอมาปี 2020 กลับเป็นชาวต่างชาติที่มีทักษะสูงขึ้น ปัจจัยเนื่องมาจากการเติบโตของบริษัทในประเทศที่ขยายมาสู่ประเทศไทย และความสนใจอยากอาศัยในประเทศไทย ซึ่งงานต่างชาติจะเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ งานข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนา งานที่พักโรงแรม และบริการด้านอาหาร งานวิทยาศาสตร์ การบริหารและการบริการ”

ดังนั้นแรงงานไทยจำเป็นต้องฝึกทักษะ รีสกิล อัพสกิลมากขึ้น เนื่องจากสำรวจพบว่า แรงงานไทยกว่า 70% เป็นแรงงานทักษะปานกลางจนถึงต่ำ และแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันหากถึงวันที่ต่างชาติเข้ามา ไทยจะต้องจัดการหลายด้านทั้งในแง่กฏหมายคุ้มครองแรงงานต่างชาติ ความพร้อมด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ปรากฏการณ์ที่สอง จากผลสำรวจของ จ๊อบส์ ดีบี คือ คนทำงานในประเทศไทยหลังวิกฤต มีพฤติกรรมหันมาทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้นในทุกสายงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนทำงานแบบเวอร์ชวล (Virtual Talent Pool) ที่จะมาเป็นกุญแจสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับภาครัฐ นายจ้าง รวมถึงคนทำงานในยุคหลังวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการหางานในต่างประเทศโดยไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือโอกาสในการหาคนทำงานที่ตรงตามความต้องการจากต่างประเทศ เป็นต้น