“ศิลาวดี พูล สปา รีสอร์ท” เรียนรู้วิกฤตเพื่อสร้างธุรกิจยั่งยืน

โรงแรมศิลาวดี

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยซบหนักจากการปิดประเทศ โดยเฉพาะ “เกาะสมุย” จ.สุราษฎร์ธานี เพราะท่อน้ำเลี้ยงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากการท่องเที่ยว ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติ แต่วันนี้ร้านค้ากิจการหลายแห่งทยอยปิดตัวลง ส่วนกิจการที่ยังอยู่เริ่มปรับทิศทางใหม่

อย่างโรงแรมศิลาวดี พูล สปา รีสอร์ท ในช่วงท่องเที่ยวปิด โรงแรมไม่มีรายได้ ผู้บริหาร พนักงานใช้เวลาหยุดทบทวนตนเองถึงทิศทางของธุรกิจ และการให้บริการลูกค้า

จนกระทั่งต่อมาหลังรัฐบาลคลายล็อกจึงหันมาโฟกัสตลาดไทยมากขึ้น โดยได้ร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันของภาครัฐ จัดโปรโมชั่นเพื่อเข้าถึงลูกค้าหลากหลาย ทั้งยังผุดโครงการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวสมุยออกมาเป็นระยะ ๆ ที่สำคัญ ยังได้สร้าง “ศิลาวดี ฟาร์ม” ขึ้นมา เพื่อหากิจกรรมให้พนักงานทำ เพื่อหวังนำผลผลิตที่ได้จากฟาร์มส่งตรงเข้าห้องครัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายบางส่วนด้วย

“Unseen Samui” ดึงท่องเที่ยว

“ชลลดา สุนทรวสุ” กรรมการผู้จัดการบริหาร โรงแรมศิลาวดี พูล สปา รีสอร์ท กล่าวว่า โควิดระบาดระลอกแรกในปีที่ผ่านมา ธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะสมุยซบ ทำให้โรงแรมต้องหยุดกิจการไปประมาณ 2 เดือน ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทำให้เรามีเวลาว่างคิด และทำอะไรใหม่ ๆ

ชลลดา สุนทรวสุ
ชลลดา สุนทรวสุ กรรมการผู้จัดการบริหาร โรงแรมศิลาวดี พูล สปา รีสอร์ท

พนักงานกว่า 200 ชีวิตต้องหันมาเทรนนิ่งสกิลต่าง ๆ ทั้งซอฟต์สกิล ฮาร์ดสกิล เพื่อเตรียมพร้อมบริการสำหรับลูกค้าที่จะเข้าพัก รวมทั้งได้ปรับแผนงานของโรงแรมเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และหันมาโฟกัสที่ตลาดไทยเป็นหลัก

“เพราะเมื่อก่อนลูกค้าที่เข้าพักส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% คือ ชาวต่างชาติ แต่ก็มีลูกค้าไทยบ้างถือว่าโชคดีที่เราไม่ได้โฟกัสลูกค้าต่างชาติอย่างเดียว ทำให้ขณะนี้ยังมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ”

“ดังนั้นเมื่อธุรกิจเราไปต่อได้ ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะสมุย ด้วยการเป็นสื่อกลางในการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผ่านการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ทางการตลาด จนเกิดเป็นโครงการ Unseen Samui ที่ต้องการนำเสนอสมุยในมุมมองใหม่ ๆ โดยสรรหากิจกรรม หรือสถานที่ใหม่ ๆ ให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ดึงดูดแก่นักท่องเที่ยวชาวไทย”

“ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ต่าง ๆ ของตนเอง โดยโรงแรมจะเป็นสื่อกลางในการเชิญบล็อกเกอร์, อินฟลูเอนเซอร์, ผู้มีชื่อเสียง (key opinion leader) หรือ celebrities มาเป็นส่วนร่วมในการโปรโมตโครงการบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม เนื่องจากคนเหล่านี้มองว่ามีศักยภาพในการนำเสนอคอนเทนต์ มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดีย”

โดยในการโปรโมตมี 4 รูปแบบการท่องเที่ยวตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มชื่นชอบกีฬา กิจกรรมและผจญภัย, ร้านอาหารและคาเฟ่, ท่องเที่ยวธรรมชาติ, ท่องเที่ยวทางเรือ เป็นต้น และถ้าอินฟลูเอนเซอร์สนใจกิจกรรมด้านไหน โรงแรมจะซัพพอร์ตให้

“ชลลดา” กล่าวต่อว่า ดิฉันเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ประมาณหนึ่ง เพราะมองว่าปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ในยุคของดิจิทัล โซเชียลเข้าถึงง่าย มีอินฟลูเอนเซอร์สายต่าง ๆเยอะ และกลุ่มคนเหล่านี้จะมีผู้ติดตาม มีอิทธิพลทางด้านความคิด และแรงจูงใจ ทั้งนี้ ในมุมธุรกิจถือว่าโชคดีที่ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญทางการตลาด

“ถ้าถามว่าเราได้อะไร และโครงการจะยั่งยืนได้อย่างไร หนึ่งคือเราซัพพอร์ตสถานที่พักแก่อินฟลูเอนเซอร์ ก็ต้องยึดการบริการที่ประทับใจ และพาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ถ้าเขารู้สึกชอบ ประทับใจเขาจะอยากกลับมาหาเราอีก สอง เมื่อก่อนตลาดสมุยคือคนต่างชาติ วันนี้เราอยากให้เป็นจุดมุ่งหมายของคนไทยด้วย”

“ฉะนั้น การพาอินฟลูเอนเซอร์ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ตาม 4 รูปแบบที่เราตั้งไว้ อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยรู้จักสถานที่หรือกิจกรรมนั้น ๆ และอยากมาสมุยมากขึ้น และหวังว่าโครงการนี้จะทำให้คนได้เห็นถึงความแตกต่างของสมุยกับสถานที่อื่น ๆ ซึ่งเราอยากสร้างให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกเดินทางของคนไทย ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ แต่ในอนาคตด้วย”

สร้าง “ศิลาวดี ฟาร์ม” ป้อนครัว

นอกจากนี้ “ชลลดา” บอกอีกว่า ไม่เพียงแต่โครงการท่องเที่ยว สถานการณ์โควิดยังทำให้โรงแรมได้หันมาสนใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้สร้าง “ศิลาวดี ฟาร์ม” ขึ้นมาบนพื้นที่ 10 ไร่ อยู่ห่างจากโรงแรมใช้เวลาประมาณ 20 นาที เป็นฟาร์มที่ถูกพัฒนาตามแนวคิด “หวนคืนสู่ธรรมชาติ” (back to the nature) ที่ถือเป็นแนวคิดดั้งเดิมจากการสร้างและบริหารโรงแรม โดยการคำนึงและตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบ ๆ ตัว

“ศิลาวดี ฟาร์ม มีเป้าหมายลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ร่วมงาน หรือลูกค้าที่มาพัก รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ และเคารพธรรมชาติมากยิ่งขึ้น โดยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาใช้ เนื่องจากเรามองว่าธุรกิจโรงแรมสร้างขยะอาหารจำนวนมาก (food waste) จำเป็นต้องนำขยะอาหารที่เกิดขึ้นมากำจัดให้ถูกวิธี”

“ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำสัตว์มาเลี้ยง ด้วยการนำอาหารเหลือจากครัวมาเป็นอาหารให้พวกเขา และขณะเดียวกัน มูลที่ได้จากสัตว์บางส่วนจะถูกนำมาทำปุ๋ยสำหรับแปลงผัก ซึ่งเราปลูกทั้งแบบในโรงเรือนและนอกโรงเรือน ทั้งผักพื้นบ้าน ผักที่โรงแรมใช้ประจำ ซึ่งบางชนิดที่ถูกคัดออกก็จะนำมาให้สัตว์อีกครั้ง ถือเป็นระบบนิเวศที่น่าสนใจ สำหรับผลผลิตที่ได้จากฟาร์มก็จะนำไปซัพพอร์ตครัวของโรงแรม โดยทางโรงแรมจะเป็นผู้สั่งออร์เดอร์ และทางสวนจะจัดส่งตามจำนวนที่สั่ง”

“ตรงนี้มองว่าถ้าเราปลูกเอง เราก็จะมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยไร้สารเคมี อีกทั้งยังมองว่า เทรนด์สุขภาพ (healthy) มาแรง คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับอาหารคลีน ผักออร์แกนิก ทั้งเป็นการช่วยลดต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบจากภายนอก เพราะจริง ๆ แล้วธุรกิจโรงแรมในแต่ละวันจะมีต้นทุนในการหาซัพพลายต่าง ๆ เยอะมาก หากทำตรงนี้ได้ก็จะช่วยลดต้นทุนประมาณหนึ่ง”

แปรรูปสิ่งเหลือใช้

ถึงตรงนี้ “ทวีศักดิ์ จงจิตต์” Ship Gardener ของศิลาวดี ฟาร์ม เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า ศิลาวดี ฟาร์ม แต่เดิมเกิดจากปัญหาขยะที่ไม่มีที่กำจัด เช่น พวกขยะเปียก เศษอาหาร และกิ่งไม้ ใบไม้ ที่มาจากการตัดแต่งต้นไม้ภายในโรงแรม แต่ละวันต้องจ้างรถนำขยะไปทิ้งทำให้สิ้นเปลือง จึงหาวิธีการกำจัด และวิธีที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยสุด จึงสร้างฟาร์มขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์คือ ปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์

ทวีศักดิ์ จงจิตต์
ทวีศักดิ์ จงจิตต์ Ship Gardener ของศิลาวดี ฟาร์ม

“สัตว์ที่เลี้ยง ได้แก่ ไก่ เป็ด ห่าน แพะ กวาง รวมถึงเลี้ยงกบเพื่อกำจัดแมลง และก็ยังเลี้ยงหมูด้วย ส่วนพืชที่ปลูก ได้แก่ ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก มะละกอ ข่า มะเขือเปราะ รวมถึงผักออร์แกนิก เช่น เรดโอ๊ก กรีนโอ๊ก คอส ร็อกเกต คะน้าฮ่องกง คะน้าทานยอด กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักบุ้งจีน อะโวคาโด้ มะเขือเทศซอลาริโน่ รวมถึงผลไม้อย่างเมลอนที่นำพันธุ์จากญี่ปุ่นมาปลูกหลายสายพันธุ์”

“การดูแลก็จะใช้น้ำทะเลสำหรับรดน้ำผัก และเมลอน เพื่อทำความหวาน และช่วยเร่งการเจริญเติบโต แทนปุ๋ยเคมี เพราะว่าองค์ประกอบหลักของน้ำทะเลมีโซเดียมคลอไรด์ 23% แมกนีเซียมคลอไรด์ 4.5% ช่วยทำให้ใบเขียว เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ทำให้การสังเคราะห์แสงดีขึ้น”

“ทวีศักดิ์” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการเลี้ยงสัตว์นำมาทำปุ๋ยเพื่อใช้ในการเพาะปลูก เช่น ใบไม้ใช้ทำปุ๋ยหมักและเป็นวัสดุสำหรับการปลูกพืชแทนขุยมะพร้าว และดินส่วนกิ่งไม้ กิ่งไม้สด นำมาย่อยกับเครื่องย่อยเพื่อทำปุ๋ยหมัก กิ่งไม้แห้งนำมาเผาถ่าน เพื่อนำถ่านมาใช้ในโรงแรมและกลั่นทำเป็นน้ำส้มควันไม้ เพื่อใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช

“ส่วนเศษอาหาร และเศษผลไม้นำมาทำน้ำหมักซึ่งน้ำหมักเศษอาหารจะมีแคลเซียม โบรอนสูง ช่วยในการขยายตัวของพืช เช่น น้ำหมักจากปลาทะเล น้ำหมักยอดผัก น้ำหมักเปลือกผลไม้ น้ำหมักกากกาแฟ น้ำหมักปลีกล้วย น้ำหมักมูลสัตว์ น้ำหมักเปลือกไข่ ข้าวสวยที่เหลือทิ้ง นำมาขยายเชื้อไซโคเดอร์มา (เชื้อราดี) เพื่อกำจัดเชื้อรา เป็นต้น”

“เราเริ่มทดลองปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ขึ้นเมื่อช่วงโควิดระบาดระลอกแรกในปี 2563 และเพิ่งออกผลผลิตสมบูรณ์เมื่อไม่กี่เดือนผ่านมา ตอนนี้อยู่ในขั้นทดลองยังคงส่งตรงสู่ห้องครัวโรงแรม หากทำแล้วได้ผลลัพธ์ดี อนาคตอาจจะมีการขยายฟาร์ม มีการส่งออกสู่ภายนอกด้วย”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว