แผนยั่งยืน “ไทยออยล์” มุ่งช่วยชุมชน-รักษาอันดับ DJSI

โรงกลั่นไทยออยล์

นิยามความยั่งยืนของ “กลุ่มไทยออยล์” คือการเติบโตอย่างยั่งยืน และคงอยู่ในระยะยาว โดยมีการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ ถึงแม้ตั้งแต่ปี 2563 และปีนี้นับเป็นปีที่มีความท้าทายในการดำเนินกิจการ เพราะผลกระทบที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทยังคงเดินหน้าภารกิจด้านสังคม พร้อมกับดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อพยุงธุรกิจให้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งยังมุ่งหน้ารักษาการเป็นสมาชิกของ DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) โดยที่ผ่านมาไทยออยล์เป็นสมาชิกของ DJSI ต่อเนื่อง 8 ปีติดต่อกัน และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซ (Industry Leader) เป็นปีที่ 6

นอกจากนั้น ปีนี้ยังเป็นปีที่สำคัญของไทยออยล์ เพราะกำลังจะก้าวสู่การครบรอบ 60 ปี ในเดือนสิงหาคมที่จะถึง อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืนมุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจด้วยสมดุล 3 ด้าน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ, การสร้างคุณค่าสู่สังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาล และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กร 100 ปีในที่สุด

ทิศทางในการช่วยสังคม

“วิโรจน์ มีนะพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กร และกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทประกาศนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันกับบริษัทในกลุ่มไทยออยล์ พร้อมกับส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ จัดทำ
โครงการเพื่อสังคมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน

วิโรจน์ มีนะพันธ์
วิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กร และกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

“โดยกิจการเพื่อสังคมของกลุ่มไทยออยล์ แบ่งกลุ่มแบบเชิงพื้นที่ คือ ชุมชนรอบโรงกลั่นน้ำมัน และพื้นที่ทั่วประเทศ โดยที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งในด้านชุมชนรอบโรงกลั่นน้ำมัน เรามุ่งเน้นเรื่องของความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ เพราะธุรกิจของเราดำเนินงานอยู่กับการผลิตภัณฑ์ที่มีความไวไฟ ดังนั้น เราจึงดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป รวมถึงการส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม ศาสนา ประเพณี ของท้องถิ่นไปด้วย”

“ส่วนพื้นที่ระดับประเทศ เราพยายามใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรมที่สั่งสมมานาน โดยองค์กรจะครบ 60 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านพลังงาน และต่อยอดไปสู่การพัฒนาสังคมที่อยู่ห่างไกลกับสาธารณูปโภค จึงทำให้เราเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นแบบที่สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนมาตลอด โดยที่ไม่ถูกปฏิเสธจากพวกเขา”

“นอกจากนั้น ยังมีการให้อาชีพนักศึกษาจบใหม่ผ่าน 2 กิจกรรม คือ ให้น้อง ๆ มีงานสอนหนังสือในโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของกลุ่มไทยออยล์ และทำงานในโครงการ Smart Farming ที่เป็นงานภาคเกษตร โดยน้อง ๆ จะได้ศึกษาเรียนรู้งานภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และช่วยสำรวจว่าไทยออยล์สามารถช่วยอะไรเกษตรกรได้บ้าง จากนั้นน้อง ๆ จะวางแผนต่อยอดช่วยเหลืออุตสาหกรรมกลุ่มนี้”

ผลกระทบจากโควิด-19

“วิโรจน์” อธิบายต่อว่า กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-corporate social responsibility) ในปีนี้ค่อนข้างมีอุปสรรคเพราะเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไทยออยล์ต้องระมัดระวังเรื่องการแพร่ระบาด จึงไม่อาจจัดกิจกรรมที่ทำให้มีการรวมตัวของคนจำนวนมากได้

ทางองค์กรได้ดำเนินงานให้ความช่วยเหลือไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด และป้องกันคนในชุมชนไม่ให้เสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัสด้วยการให้อุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ที่ขาดแคลนมากในช่วงการระบาดรอบแรก นอกจากนั้นยังให้ความรู้กับชุมชนในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง

และรู้สึกเป็นห่วงคนไทย เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อการหารายได้ดำรงชีพ จึงทำการมอบถุงยังชีพ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นในการลดค่าใช้จ่าย ที่ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จำนวน 1 หมื่นชุด และทำอาหารไปแจกคนให้ชุมชน

“สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ถือเป็นด่านหน้าในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 และมีโอกาสสัมผัสเชื้อสูง เราเล็งเห็นว่าพวกเขาต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จึงมอบชุด personal protective equipment (PPE) หรือเครื่องแต่งกายพิเศษที่ใส่ปกปิดร่างกาย เพื่อป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค จำนวน 2 หมื่นชุด ทั้งยังมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างขาดแคลน จำนวน 10 เครื่อง และหน้ากากอนามัย N95”

จับมือพันธมิตรพยุงเศรษฐกิจ

“วิโรจน์” อธิบายว่า การช่วยเหลือสังคมในเชิงเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project-CFP) ที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งยังเป็นโครงการภาคเอกชนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งของประเทศ

“เพราะใช้เม็ดเงินลงทุนสูงถึงกว่า 150,000 ล้านบาท และคาดว่าจะก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ประมาณ 18,000 ล้านบาท และการจ้างงาน ประมาณ 22,000 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 คน ในช่วงก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562-2566 ซึ่งมีการจ้างแรงงานไปแล้วประมาณ 12,000 อัตรา”

“ทั้งนี้ โครงการพลังงานสะอาดจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (heavy crude) มากขึ้น 40-50% โดยสามารถเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นดีเซล และน้ำมันอากาศยานที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและได้เบนซิน-ดีเซลที่มีมาตรฐานยูโร 5 นอกจากนั้นยังมีโครงการที่เราร่วมกับ ปตท. 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Restart Thailand เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย ประเภทกลุ่มองค์กร บริษัท หรือหน่วยงาน ให้สามารถกระจายรายได้สู่แรงงานภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวได้ต่อไป”

“และโครงการ Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ เพราะภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ เราจึงเข้าไปช่วยซื้อที่พัก เพื่อให้พนักงานและคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพลังงานสะอาดใช้ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการช่วยเรื่องดีมานด์ที่หายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย 3 เดือนที่ผ่านมา เราใช้บริการโรงแรมภายใต้โครงการนี้ไปเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาทแล้ว”

มุ่งรักษาอันดับ DJSI

“วิโรจน์” กล่าวว่า ในปีนี้ DJSI อาจมีเกณฑ์ที่ท้าทายผู้เข้าร่วมประเมินมากกว่าปีก่อน ๆ เพราะมีเรื่องการระบาดโควิด-19 มาเกี่ยวข้อง ดังนั้น องค์กรต่าง ๆ ต้องมีแนวทางและมาตรการเพื่อแสดงออกถึงความยั่งยืนในช่วงเวลาที่ท้าทายนี้

“ไทยออยล์ได้รับผลกระทบด้านธุรกิจ เพราะการเดินทางรอบโลกถูกจำกัด และบางประเทศปิดประเทศ ทำให้การดำเนินงานของสายการบินต้องหยุดชะงัก เช่น จำนวนเที่ยวบินลดลง และไม่สามารถเดินทางไปบางประเทศได้ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่เราเคยขายให้สายการบินอย่างน้ำมันเครื่องบิน มีดีมานด์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เราจึงออกมาตรการดูแลเรื่องนี้ทันทีเพื่อพยุงธุรกิจ และตอบสนองการประเมินด้านความยั่งยืนที่ดีจาก DJSI ด้วย”

สิ่งที่ทำคือการเป็นโรงกลั่นที่มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวรองรับสถานการณ์การตลาดที่มีความผันผวนได้รวดเร็ว เช่น ปกติเราเคยผลิตน้ำมันสำหรับเครื่องบิน 20% แต่ช่วงโควิด-19 เราลดเหลือ 5-10% และนำน้ำมันดิบไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและเบนซิน ที่ยังมีความต้องการสูงแทน และมีมาตรการดูแลค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม เน้นการประหยัดพลังงาน ทำให้สามารถผ่านความท้าทายสูงในช่วงโควิด-19 มาได้

“เพราะเราเชื่อว่าองค์กรที่จะมีความยั่งยืนต้องตอบสนองความต้องการตลาดได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ เรามั่นใจว่าการประเมินรอบใหม่ปี 2564 ที่จะถึงนี้ ด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่เราทำ จะช่วยให้เรายังได้รับการจัดอันดับ และเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซในการเป็นสมาชิกของ DJSI”

จึงนับเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการช่วยเหลือคนไทยและสังคมไทย