ปลูก ปัน ป้อง “ป่าชายเลน” “CPF” ลงพื้นที่สงขลาช่วยชุมชน

“ความอุดมสมบูรณ์” หรือ “ความเสื่อมโทรมของป่า” ไม่เพียงทำลายสมดุลของโลก ยังเป็นตัวสะท้อนถึงวินัย ความเข้าใจ และความสามารถในการควบคุมดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติของพื้นที่นั้น ๆ หากพื้นที่ใดที่มีชุมชนเข้มแข็ง พื้นที่เหล่านั้นจะธำรงรักษาทรัพยากรเนิ่นนานกว่า และเมื่อพลังแห่งความร่วมมือแผ่ขยาย ก็จะมีหน่วยงานอื่น ๆ ยื่นมือเข้ามาเสริมพลังต่อไป

ดังจะเห็นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภาคประชาสังคมและชุมชน ในการเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าใหม่ อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนบนพื้นที่ยุทธศาสตร์ใน 5 จังหวัด ผ่านโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ใน จ.สงขลา

“จรัส อัศวชาญชัยสกุล” รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ป่าชายเลน จ.สงขลา กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2557 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟจิตอาสา ผู้แทนของหน่วยงานราชการ และชุมชน มี 5 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ สมุทรสาคร, ระยอง, ชุมพร, พังงา และสงขลา โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ยุทธศาสตร์รวม 2,245 ไร่ เริ่มดำเนินการปี 2557-2561

“นอกจากการฟื้นฟูป่าชายเลนยังมีการปล่อยพันธุ์ปลา 2,000 ตัว เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน ซึ่งพื้นที่ ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา นับเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความพร้อมทั้งความเข้มแข็งของชุมชน และความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 38 (สงขลา) ในด้านการอำนวยความสะดวกในพื้นที่ และการบำรุงรักษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยสงขลา ซึ่งเป็นสถานศึกษาในพื้นที่ที่จะเข้ามาช่วยในด้านองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาอาชีพของชุมชน”

“เมธา บุญประวิตร” ผู้อำนวยการสำนักธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา กล่าวว่าหากย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว รูปแบบการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนของคนในพื้นที่จะชัดเจนอย่างมาก โดยสมัยก่อนคนในชุมชนยึดอาชีพทำน้ำตาลโตนด จึงมีการใช้ไม้เสม็ด ซึ่งมีอยู่มากในป่าชายเลน เป็นเชื้อเพลิง โดยจะเลือกตัดต้นที่มีขนาดใหญ่ เหลือต้นที่มีขนาดเล็กไว้ให้เติบโตสำหรับใช้ในคราวต่อไป เป็นเหมือนการตัดแต่งป่าชายเลนไปโดยปริยาย

“แต่เมื่อวิถีชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป การทำน้ำตาลโตนดลดลง ป่าชายเลนจึงเหมือนถูกทิ้งให้รกร้าง บวกกับการเกิดขึ้นของเมืองขวางการขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติเกิดภาวะน้ำท่วมขัง พืชพันธุ์ท้องถิ่นบางชนิดหายไป จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันของชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นธรรมนูญขึ้นมาเพื่อเป็นเกณฑ์มาตรฐานอันพึงประสงค์ของคนในพื้นที่ เรียกว่าธรรมนูญสุขภาพ ประกอบไปด้วย 10 หมวด 60 ข้อ ครอบคลุมด้านสุขอนามัย ศีลธรรม มรดกทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งในแง่ของการอนุรักษ์ธรรมชาติก็ครอบคลุมในส่วนนี้ด้วย”

“เรามองว่าป่าชายเลน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในชุมชนคือความสุข ความมั่นคงทางอาหาร ที่มาของ อาหาร ยา และรายได้ การจัดตั้งธรรมนูญสุขภาพก็เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเตือน เป็นเครื่องมือหนุนเสริมการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบ ซึ่งเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ เช่น การไม่ทิ้งขยะ การลดการดื่มสุรา แต่ผลที่ได้คือความสุขที่เพิ่มขึ้น ธรรมชาติที่กลับคืนมา เห็นได้จากน้ำผึ้งป่าของ ต.ชะแล้ที่ได้รับการรับรองว่ามีความบริสุทธิ์เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย เพราะมาจากดอกของต้นเสม็ด จากป่าชายเลนที่มีความบริสุทธิ์มาก จนกลายเป็นสินค้าเด่นประจำชุมชนในที่สุด”

ทั้งนั้นเพราะหากธรรมชาติดำรงอยู่ได้ มนุษย์จะย่อมอยู่ได้เช่นกัน