ขุดเจาะน้ำมันบุกมาเลย์ หอบ 3 พันคนร่วมทำงานปิโตรเลียม

แหล่งเอราวัณ

ต้องยอมรับว่าแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทยขณะนี้ซบเซาหนัก หลังไม่เปิดประมูลมา 14 ปี แถมราคาน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติยังร่วงหนัก ยืนระดับที่ไม่เกิน 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จึงทำให้ผู้รับเหมางานขุดเจาะสำรวจ-แรงงาน 3,000 คน ย้ายฐานปักหลักมาเลเซียแทน

ขณะที่แหล่งเอราวัณยังอยู่ระหว่างเจรจาระหว่างเจ้าของเดิม เชฟรอนฯกับ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ เจ้าของรายใหม่ เพื่อขอเข้าพื้นที่ก่อนสัมปทานหมดอายุสัญญาอย่างเป็นทางการ เม.ย. 2565

สำหรับข้อกังวลของพนักงานเชฟรอนฯประมาณ 5,000 คน จะตกงาน ล่าสุดเชฟรอนฯประกาศจ่ายชดเชยให้พนักงานถูกเลิกจ้างสูงกว่ากฎหมายแรงงาน และบางส่วนได้รับการจ้างงานต่อ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ไม่มีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่คาดว่าจะมีศักยภาพทั้งแหล่งบนบกและในทะเลอ่าวไทยมาราว 14 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2564

ล่าสุดพบว่ามีการเคลื่อนย้ายฐานสำนักงานหลักในเอเชียของกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พร้อมพนักงาน-แรงงานราว 3,000 คน ไปประเทศมาเลเซียทดแทนแล้ว

เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ ไม่มีการขุดเจาะสำรวจเพิ่มเติม เช่น

1) บริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ โอเวอร์ซีส์ เอส เอ

2) บริษัท เวทเธอร์ฟอร์ด เคเอสพี จำกัด

และ 3) บริษัท ฮัลลิเบอร์ตัน จำกัด

และคาดว่าหากเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของการพัฒนาเทคโนโลยี (Disruption) และการระบาดของโควิด-19 ภาพรวมของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เช่นกัน นอกจากนี้ อาจทำให้ต้องปิดหลุมผลิตชั่วคราว เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา

อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลงอย่างมาก ตามการรายงานของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ (5 เม.ย. 64) อยู่ที่ 61.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 64.86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสมีราคาอยู่ที่ 61.45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ซึ่งราคาน้ำมันตลาดโลกเคยมีราคาไม่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บริษัทพลังงานต่างชาติทั่วโลกหยุดการขุดเจาะสำรวจ และขั้นสูงสุดคือ ประกาศขายแหล่งปิโตรเลียมก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

“ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ คนเรียนจบจากสาขาวิศวกรปิโตรเลียมในไทย ยังต้องออกไปหางานทำในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ภาพสะท้อนเหล่านี้อาจจะเป็นตัวสัญญาณเตือนว่าในอนาคตอาชีพวิศวกรปิโตรเลียมอาจจะขาดแคลนได้ เพราะจำนวนนักศึกษา รวมถึงการเปิดสอนในสาขาดังกล่าวในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มเห็นตัวเลขที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีการเตรียมการเปลี่ยนเจ้าของในแหล่งเอราวัณ (G1/61) ในพื้นที่อ่าวไทย ถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่และมีความสำคัญกับประเทศเป็นอย่างมาก จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มาเป็นบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

พร้อมทั้งเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจากเดิมที่ใช้ระบบสัมปทาน มาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC (production sharing contract) หลังจากที่ประเมินศักยภาพของแหล่งเอราวัณยังสามารถรักษาระดับปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องให้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯเข้าสำรวจ และเตรียมความพร้อมก่อนที่จะหมดอายุ เพื่อรักษาระดับการผลิตตามที่สัญญาระบุ และเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลาย แต่จนถึงขณะนี้ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลเรื่องการรักษาระดับการผลิตอาจสุ่มเสี่ยงในแง่ของความมั่นคงทางพลังงาน โดยความคืบหน้าล่าสุดทั้ง 2 บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเจรจา”

ส่วนพนักงานของเชฟรอนฯอีกราว 5,000 คนนั้น ล่าสุดเชฟรอนฯชัดเจนว่าจะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) พนักงานที่จะทำงานต่อกับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ฯ ซึ่งเบื้องต้นการกำหนดอัตราผลตอบแทนจะน้อยกว่าบริษัท เชฟรอนฯเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าไม่ต้องตกงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาด และรอวัคซีนที่มีความเชื่อมั่นก่อนนั้น อาจทำให้หางานใหม่ได้ยากขึ้น

และ 2) พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยที่ “สูงกว่า” ที่กฎหมายแรงงานกำหนดเอาไว้ ทั้ง 2 วิธีนี้ทำให้พนักงานไม่มีการร้องขอเพิ่มเติม และเงินชดเชยการเลิกจ้างที่สูงมาก โดยพนักงานสามารถนำเงินไปลงทุนต่อหากไม่ทำงานด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว

“ในมุมการดูแลพนักงานต้องถือว่าเชฟรอนฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในภาวะที่กำลังเผชิญกันอยู่ในปัจจุบันบางบริษัทอาจจะเลิกจ้าง และจ่ายเงินทดแทนตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ก็ได้ แต่เขาจ่ายในระดับที่พนักงานไปสร้างอนาคตได้ เรื่องนี้ถือว่าเป็นมุมสะท้อนไปยังบริษัทในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในการดูแลพนักงาน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คนทำงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเริ่มเห็นภาพว่าจะขาดแคลนมาตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา วิศวกรปิโตรเลียมที่เรียนจบในช่วงดังกล่าว ต่างต้องไปทำงานในต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากค่าตอบแทนการทำงานสูงมากเมื่อเทียบกับการทำงานกับบริษัทพลังงานในประเทศ การขุดเจาะและสำรวจในประเทศเริ่มน้อยลง

นอกเหนือจากการไปทำงานในต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้จบการศึกษาสาขาวิศวกรปิโตรเลียมเปลี่ยนไปทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทดแทน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรเตรียมแผนตั้งรับหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว

แหล่งพลังงานที่เกิดการจ้างงานใน ปท.

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรายงานถึงศักยภาพการผลิตปิโตรเลียม ล่าสุด (30 มี.ค. 64) สำหรับแหล่งในทะเลรวม 17 แหล่ง แหล่งบนบกรวม 14 แห่ง มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 3,015.13 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 83,836 บาร์เรลต่อวัน

ตามด้วยน้ำมันดิบอยู่ที่ 105,570.74 บาร์เรลต่อวัน โดยมีจำนวนหลุมที่ยังเปิดการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,487 หลุม แต่เมื่อรวมหลุมผลิตทั้งหมดในทะเลอ่าวไทยอยู่ที่ 5,556 หลุม

โดยเมื่อจัดอันดับตามปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงสุดคือ แหล่งกลุ่มเอราวัณที่ 1,048.73 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามมาด้วยแหล่งบงกชที่ 574.87 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งบงกชใต้ที่ 432.56 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์ที่ 264.14 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งกลุ่มทานตะวัน เบญจมาศที่ 66.46 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำหรับแหล่งปิโตรเลียมบนบกที่มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติสูงสุดคือ แหล่งสินภูฮ่อมที่ 102.64 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งสิริกิติ์ และแหล่งอื่น ๆ ใน S1 ที่ 29.64 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน