เทคนิคการเปลี่ยนแปลง

คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมไปทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ สัมภาษณ์ “คุณธรรมศักดิ์ จิตติมาพร” อดีตผู้บริหาร Uniliver, อดีต CEO กรีนสปอต, อดีต CEO โอสถสภา ซึ่งปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ FN Factory Outlet หรือที่คุ้นเคยกันดีในนาม Fly Now Outlet ในงานสัมมนาผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง

หัวข้อที่ทางเจ้าภาพกำหนดไว้คือ “การเปลี่ยนแปลงเพื่อความสำเร็จ (Transformation for Success)” หัวใจสำคัญของการเสวนาในวันนั้นคือทำอย่างไรให้พนักงานในองค์กรรู้สึกถึงความจำเป็นเร่งด่วน (sense of urgency)ในการเปลี่ยนแปลง และลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

ผมรู้จัก “คุณธรรมศักดิ์” ตั้งแต่สมัยที่ยังทำงานเป็น CEO อยู่กับบริษัท กรีนสปอต ท่านคือตัวจักรสำคัญในการสร้างความสำเร็จของไวตามิ้ลค์ทูโก สมัยก่อนใครดื่มไวตามิ้ลค์คงทราบดีว่า ถ้าจะซื้อกลับบ้านต้องมัดจำขวด

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อบริษัทกรีนสปอตต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศ จึงเริ่มต้นด้วยการส่งไวตามิ้ลค์ไปขายที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งต้องขนส่งโดยทางรถ ปรากฏว่าสินค้าลอตแรกไปถึงลูกค้าเพียงแค่ 50% เนื่องจากแตกเสียหายระหว่างทางขณะขนส่ง ส่วนขากลับรับขวดเปล่ากลับโรงงานก็แตกเสียหายอีก 30% รวมสะระตะขวดแตกไป 80% ดูท่าทางคงไปไม่รอด

ทางแก้มี 2 วิธี หนึ่งคือเปลี่ยนไปบรรจุในกล่อง UHT เหมือนน้ำผลไม้ทั่วไป ซึ่งต้องปรับขบวนการผลิตและมีผลทำให้รสชาติของนมเปลี่ยนไปไม่ค่อยถูกใจลูกค้าและแฟนคลับของไวตามิ้ลค์ อีกวิธีคือ หาทางบรรจุลงขวดที่ไม่ต้องคืน ซึ่งมีต้นทุนสูงขึ้น และต้องคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตขวด

ในที่สุดกรีนสปอตเลือกแนวทางที่ 2 มาเป็นกลยุทธ์หลักในการทำตลาด หลังจากทดลองแนวทางแรกแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร “คุณธรรมศักดิ์” ได้ไอเดียไวตามิ้ลค์ทูโกจากประสบการณ์สมัยที่เรียนอยู่ต่างประเทศ และไปสั่งอาหารในร้าน คนขายถามว่า for here or to go แปลว่า จะทานที่นี่หรือซื้อกลับบ้าน ไวตามิ้ลค์ทูโกจึงถือกำเนิดขึ้นและเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

“คุณธรรมศักดิ์” ผ่านร้อนผ่านหนาวเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงมามากมายในช่วงหนึ่งของการสนทนาผมมีโอกาสถามว่าหากองค์กรต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประสบความสำเร็จ ควรเริ่มต้นอย่างไร ท่านแนะนำ 6 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ใช้ได้จริง และประสบความสำเร็จด้วย ดังต่อไปนี้

1.มี mindset ที่ถูกต้อง หมายถึง อย่ารอให้สถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยน เราควรเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขณะที่ยังแข็งแรงอยู่ คิดหาทาง disrupt ธุรกิจที่ตัวเองทำ ไม่ต้องรอให้คู่แข่งมา disrupt เรา ศัตรูที่ดีที่สุดและควรค่าแก่การต่อสู้ด้วยคือตัวเราเองให้ทำงานเหมือนมีวิกฤตอยู่ตลอดเวลา เมื่อวิกฤตมาถึงจะได้ไม่ตกใจและรับมือกับมันได้

2.เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว หมายถึง อย่าเริ่มต้นด้วยการจ้างที่ปรึกษา ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก หากต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ให้เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัวที่พนักงานในองค์กรพอทำได้เองก่อน เช่น เดิมพนักงานขายของอยู่เฉพาะในร้าน รอให้ลูกค้าเข้ามาหา ก็เปลี่ยนเป็นเอาของออกไปตั้งขายนอกร้าน หรือให้ลูกค้าโทร.สั่ง แล้วพนักงานไปส่ง อย่านั่งรอแต่ในร้านเพียงอย่างเดียว เป็นต้น

3.อย่ารอให้พร้อมแล้วค่อยเริ่ม ยุคนี้สมัยนี้ความเร็วสำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบ อย่าลืมว่าจากนี้ไป ไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นปลาเร็วต่างหากที่กินปลาทุกชนิด ดังนั้น ให้ลงมือทำ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่พร้อม ไม่ต้องรอให้ระบบพร้อม ไม่ต้องรอให้พนักงานพร้อมไม่ต้องรอให้เครื่องไม้เครื่องมือพร้อม เพราะหากรอให้ทุกอย่างพร้อม เมื่อถั่วสุก งาก็คงไหม้ไปหมดแล้ว เอาเท่าที่มี ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ทดลองดูก่อน ถ้าเวิร์กค่อยมาทำให้พร้อมมากขึ้นภายหลัง แต่ถ้าไม่เวิร์กก็เลิกแล้วหาทางใหม่

4.ถ้าทดลองแล้วทำท่าจะดี ให้รีบกลับมาจัดเตรียมระบบภายในเพื่อรองรับการขยายตัว การเปลี่ยนแปลงจะประสบความสำเร็จได้ ต้องทำไปปรับไป
ไม่ใช่ทำทีละอย่าง ค่อย ๆ ขยับจากหนึ่งไปสองไปสาม แบบนี้ไม่เวิร์ก เช่น วางแผนก่อนยังไม่เริ่มต้นขาย หรือในทางกลับกัน ขายก่อนยังไม่ต้องวางแผน เป็นต้น ทั้ง 2 วิธี ไม่ดีทั้งคู่ ให้ทำควบคู่กันไป คือขายไปด้วยวางแผนไปด้วย ขายไปด้วยก็พัฒนาระบบและกระบวนการขนส่งไปด้วย ทำไปพร้อม ๆ กัน

5.ถ้าสำเร็จ ให้ขยายวง (roll out) ออกไป แต่ถ้าไม่สำเร็จ ให้รีบเลิก อย่าเสียดาย เพราะการหายไปของสิ่งหนึ่ง จะนำมาซึ่งสิ่งใหม่ที่อาจดีขึ้นกว่าเดิม ยุคนี้ต้อง fail fast-learn fast

6.หาโอกาสฉลองความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทาง แล้วรีบเดินต่ออย่าหยุดหรือเสียเวลาให้กับการฉลองนานเกินไป เหมือนทีมฟุตบอล ยิงประตูได้ก็แสดงความดีใจกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเล่นต่อ หากใช้เวลากับการดีใจนานเกินไป สุดท้ายจะแพ้

6 ขั้นตอนง่าย ๆ ที่ใช้ได้จริง ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้สัมฤทธิผล ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะผมขออนุญาตมาให้แล้ว