สช.เอกซเรย์ โรงเรียนเอกชน ร่างกฎหมายใหม่คุม “กวดวิชาออนไลน์”

โรงเรียนกวดวิชา

เนื่องเพราะการสะสางโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่ผิดกฎหมายจากเดิมที่มีกว่า 16,000 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบลึกลงไปอีก ทำให้เหลือโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายในรอบ 2 ที่จำนวน 12,000 แห่ง จนกระทั่งล่าสุดเหลือเพียง 7,729 แห่งที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย

เท่ากับว่ามีโรงเรียนเถื่อนในระบบที่ถูกเพิกถอนแจ้งปิดกิจการ และอื่น ๆ สูงถึง 8,271 แห่ง นอกเหนือจากนี้ ยังมีปัญหาด้านอื่นที่เป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อรรถพล ตรึกตรอง” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ถึงแนวทางการแก้ปัญหาในสเต็ปต่อไปที่ค่อนข้างท้าทาย เช่น การส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบให้มีบทบาทในตลาดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาททางความคิดที่จะนำพาการศึกษาไทยให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 นี้ไปให้ได้

อรรถพล ตรึกตรอง
อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ

ใช้วิกฤตโควิดสะสาง ร.ร.เถื่อน

สาเหตุที่ทำให้โรงเรียนนอกระบบผิดกฎหมายและต้องเร่งแก้ไขนั้น “อรรถพล” ไล่เรียงว่าส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร หากเป็นอาคารเพื่อการศึกษาจะต้องระบุไว้ในใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร อาคารประเภทควบคุมการใช้ หรือ “ใบ อว.6”

อีกทั้งยังพบว่ามีการแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยอ้างว่ามีผู้เรียนไม่เกิน 7 คน เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี และบางรายแม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตแล้ว แต่ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนโดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ก็ถือว่าทำผิดกฎหมายเช่นกัน ทั้งนี้ “อรรถพล” ยังมองว่าควรใช้วิกฤตโควิด-19 ตรวจสอบเข้มโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้วเซตระบบใหม่

“ส่วนใหญ่ที่ลงพื้นที่สำรวจเชิงลึกแล้วพบว่าไม่มีใบอนุญาต เปิดสอนแบบวัดดวงกันไป นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเข้ามาที่ สช.กว่า 100 เคส อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในภาวะวิกฤตโควิด-19 นี้จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่ควรล้วงลึกถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง เพื่อแก้ไขให้ถูกเรื่องและถูกที่”

“ส่วนในแง่ของคุณภาพการเรียนการสอน สช.มีระบบประกันคุณภาพควบคุมไว้อยู่แล้ว เช่น การกำหนดให้แต่ละโรงเรียน ‘ต้องรายงาน’ ผลการดำเนินกิจการและงบการเงินของโรงเรียนภายในเดือน ก.พ.ของทุกปี หากไม่รายงาน จะถูกตั้งสมมติฐานว่าได้ยกเลิกกิจการไปแล้ว พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ”

หาเจ้าภาพกำกับ โรงเรียนติวสอบ

ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนนอกระบบไม่ได้มีเพียงกวดวิชาเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังมีกวดวิชาสอบเข้าทำงาน เช่น สอบเข้าทนายความ นายอำเภอ สอบเข้ารับราชการ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญคือโรงเรียนเหล่านี้ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล และไม่มีกฎหมายครอบคลุมธุรกิจนี้ เลขาธิการ สช.อธิบายในประเด็นนี้ว่า ในบางโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้น “ไม่เข้าข่าย” เป็นกวดวิชา ทำให้ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการกำกับดูแล

อีกทั้ง สช.นั้นรับผิดชอบกำกับดูแลโรงเรียนกวดวิชาให้ปฏิบัติตามขั้นตอนการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการหารือ ดังนั้น หลักสูตรที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาจึงไม่ได้กำกับดูแล และคาดว่าอาจจะต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจติวสอบเพิ่มเติม

“อรรถพล” ระบุเพิ่มเติมในประเด็นการหาเจ้าภาพเพื่อกำกับดูแลว่า สช.เตรียมจัดเวทีเพื่อหารือถึงโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลว่า หน่วยงานใดที่เหมาะสมที่จะเข้ามากำกับดูแล อีกทั้งจะต้องมีการดำเนินการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้อง คือ ภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย เป็นต้น

ที่สำคัญคือการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เตรียมยกร่างกฎหมายคุมออนไลน์

การเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 และสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้ สำหรับการเรียนการสอนด้วยออนไลน์ กฎหมายที่มีอยู่ยัง “เอื้อมไม่ถึง” เพราะพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน ที่ใช้กำกับดูแลอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ครอบคลุมการเรียนผ่านระบบออนไลน์ โดยโรงเรียนเหล่านี้การลงทะเบียนเป็นการภายใน ฉะนั้น สช.จึงมีแนวคิดที่จะ “ร่างกติกา” ใหม่ให้ครอบคลุม

“ต้องยกร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะ เพราะกวดวิชาออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงมีโรงเรียนเอกชนส่วนหนึ่งที่เบนเข็มไปทำเรียนออนไลน์ อีกทั้งโรงเรียนบางรายไม่ได้มีการขอจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา กฎหมายมันวิ่งตามการเรียนผ่านออนไลน์ไม่ทัน

หากสังเกตจะพบว่าโรงเรียนกวดวิชาที่เคยประกาศว่าไม่สอนผ่านระบบออนไลน์ ก็ยังต้องตัดสินใจปรับนโยบายใหม่ เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวบีบให้ต้องทำ” นายอรรถพลกล่าว

จัดระเบียบเรียนขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ “อรรถพล” ยังมีแนวคิดที่จะจัดระเบียบทั้งคุณภาพ มาตรฐาน สำหรับโรงเรียนนอกระบบที่มี 7 ประเภท กวดวิชาวิชาชีพ โดยเฉพาะด้านวิชาชีพโดยเฉพาะ มีตั้งแต่ถักเปียไปจนถึงสร้างเครื่องบิน การให้บริการในเรือสำราญ รวมถึงการสอนภาษาให้กับผู้ใหญ่ และประเภทศิลปะและกีฬา

นอกจากนี้ยังรวมไปจนถึงโรงเรียนที่สอนนาฏศิลป์ไทย ดนตรีไทย ดนตรีประยุกต์ โรงเรียนสอนกอล์ฟ โรงเรียนสอนแบดมินตัน และโรงเรียนสอนมวย เป็นต้น ซึ่งถือเป็นโรงเรียนกลุ่มใหญ่ และภาครัฐควรใช้จุดแข็งของโรงเรียนมาช่วยสร้างอาชีพ สร้างงานเพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

“ผมว่าแค่ 3 เดือน เห็นหน้าเห็นหลังเลย โรงเรียนเหล่านี้มีความเป็น professional และหางานให้กับประชาชนทั่วไปได้ เขาสามารถแยกแยะได้ว่า เดินเข้ามา 10 คน ควรจะสอนวิชาชีพอะไร อย่างอาชีพที่ใช้เวลาสั้น ๆ แค่เพนต์เล็บหากฝึกจนเก่งแล้วเป็นก็ทำมาหากินได้เลย และใช้เวลาเรียนแค่ไม่กี่วัน”

“อรรถพล” เล่าต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้ สช.ได้มีการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการถึงความเป็นไปได้ที่จะผลักดันโครงการ “คนละครึ่ง” มาใช้กับระบบการศึกษาเพื่อช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเรียนเพื่อสร้างอาชีพใหม่ รวมถึงอาชีพที่ 2 ให้กับผู้สนใจ เพื่อให้สอดรับกับปัญหาตกงานที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็นำเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) แต่กลับไม่มีความคืบหน้า

หนุนวิชาชีพปั้นคนป้อนตลาด

ทั้งนี้ “อรรถพล” ชี้ให้เห็นถึงความ “จำเป็น” ที่ สช.จะต้องคัดโรงเรียนเอกชนนอกระบบครั้งใหญ่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา สถาบันที่สามารถผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้มากที่สุด คือ โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ที่มีความเป็นมืออาชีพและเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวิชาชีพ

“หากจะเรียนนวดแผนโบราณก็ต้องไปเรียนที่วัดโพธิ์ หรือโรงเรียนหัตถศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนสอนทำอาหารต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง เพราะมีทั้งแบรนด์และมีความเป็นมืออาชีพ

หรือแม้แต่ตลาดต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ย้อนถามว่าหากจะต้องรอให้นักเรียนเรียนภาษาในระบบปกติจะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะเรียนจบและใช้ประโยชน์ได้ แต่ทุกวันนี้มีโรงเรียนสอนภาษานอกระบบที่เปิดสอนให้ผู้สนใจเกือบทุุกภาษาแล้ว ที่สำคัญ ผู้เรียนสามารถเลือกช่วงเวลาในการเรียนได้ด้วย”

“อรรถพล” แนะว่า หากภาครัฐต้องการสร้าง “กำลังแรงงาน” เข้าระบบให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ควรทุ่มให้ความสนับสนุนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ในขณะเดียวกัน โรงเรียนในระบบของภาครัฐก็ทำได้เช่นกัน เช่น การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษา ที่ต้องเรียนจบ ปวส.จึงจะสามารถออกหางานทำได้ ขณะที่โรงเรียนนอกระบบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้ามาเรียนเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพและเกิดรายได้

ตอนนี้ที่ห่วงคือ “ห่วงวิชาชีพ” กับศิลปะและกีฬา เนื่องจากสามารถช่วยพัฒนาประเทศที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในการสร้างอาชีพ สร้างงาน โดยเฉพาะพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ซึ่งสายวิชาชีพสามารถตอบสนองความต้องการได้

“ในแง่ของการเปลี่ยนอาชีพ วันนี้คุณอาจจะเป็นแอร์โฮสเตส แม้ว่าจะตกงาน แต่อย่างน้อยก็มีความสามารถด้านภาษาที่อาจจะไปทำงานด้านอื่น ๆ ได้ แต่อย่าลืมว่าบางครั้งใช้เวลาฝึกที่เท่ากัน แต่สำคัญอยู่ที่ ‘คนฝึก’ คือใคร อย่างเช่น ระหว่างเรียนทำอาหารเป็นศิษย์ป้าข้างบ้าน กับเป็นลูกศิษย์อาจารย์ยิ่งศักดิ์ ถามว่าจะเลือกเป็นลูกศิษย์ใครถึงจะได้คัดเลือกเข้าทำงาน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “อรรถพล” มองเห็นอีกคือ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมด้านอาชีพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ ด้านการกีฬา และด้านการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต เหตุผลคือโรงเรียนเหล่านี้สามารถอยู่ได้โดยไม่ล้มหายตายจาก สามารถช่วยบรรเทาอาการอาฟเตอร์ช็อกที่เกิดจากโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว

และที่สำคัญคือ กลุ่มคนทั้ง 3 ประเภทนี้ยังกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และเป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหากมองเห็นประโยชน์ของประเทศก็ควรเร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป