คิดแบบคน “จีเคอี” นักเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริง

เพทาย พันธุ์มณี
เพทาย พันธุ์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเคอี จำกัด

หากเนื่องเพราะบริษัท จีเคอี จำกัด เป็นบริษัทในเครือปิโก (ไทยแลนด์) ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของปิโก กรุ๊ป ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก

โดยทีมงานของจีเคอีประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปีในธุรกิจกราฟิก, การสร้างอัตลักษณ์องค์กร, แอนิเมชั่น, สื่อจัดแสดง, มัลติมีเดีย, การออกแบบภายใน, การออกแบบนิทรรศการ, พิพิธภัณฑ์, การเล่าเรื่องราว, วิเคราะห์และออกแบบโครงการขนาดใหญ่, หุ่นจำลอง และสิ่งจัดแสดง

โดยจีเคอีนำเสนอบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่การทำวิจัย, การสร้างกรอบความคิด, การตีความ, ออกแบบ, ติดตั้ง และดูแล ภายหลังส่งมอบการบริการให้กับลูกค้า โดยมี 3 กระบวนการในการทำงาน ดังนี้

หนึ่ง งานวิจัยข้อมูลเชิงลึก (content research) ด้วยการทำวิจัยข้อมูลเชิงลึก และในมุมกว้าง เพื่อเข้าถึงแก่นของเนื้อหา และเข้าใจความสำคัญของแต่ละหัวข้อ โดยรวบรวมรายละเอียดปลีกย่อยที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับดึงเนื้อหาที่น่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าชม

สอง เขียนเค้าโครงเรื่อง (storyline) ด้วยการสร้างเค้าโครงเรื่องเพื่อเชื่อมโยงเนื้อหาแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน และพาผู้เข้าชมร่วมเดินทางไปพร้อม ๆ กัน

สาม สร้างประสบการณ์ (experience creation) ด้วยการผสมผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อสร้างประสบการณ์ และนำเสนอเรื่องราวที่สื่อสารข้อความตามที่ตั้งใจไว้

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ตลอดเวลาผ่านมากว่าหลายสิบปี บริษัท จีเคอี จำกัด จึงสร้างผลงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ และเล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า, มิวเซียมสยาม, หอฝิ่นอุทยานสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย, ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตย, พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, นิทรรศการศูนย์สารสนเทศ สำนักราชเลขาธิการ, พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, นิทรรศการคณะรัฐมนตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, นิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, นิทรรศการนายกรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญไทย, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อรูปธุรกิจของบริษัทเกี่ยวข้องกับพาณิชย์ศิลป์ชั้นสูง และเกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บริษัท จีเคอี จำกัด มีวิธีในการคัดเลือกคนอย่างไร ? และมองหาคนที่ “ใช่” เพื่อมาทำงานตรงนี้อย่างไร ?

ยิ่งเฉพาะในตลาดเล่าเรื่องเชิงประสบการณ์ (experiential storytelling) ที่มีการกล่าวขานกันว่า “GKE” คือ “นักเล่าเรื่องจากประสบการณ์ตัวจริงเสียงจริง”

ตรงนี้ จึงเป็นคำตอบที่ทำให้ “เพทาย พันธุ์มณี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเคอี จำกัด ค่อย ๆ เล่าเรื่องให้ฟังว่า…จีเคอีเป็นบริษัทลูกของปิโก (ไทยแลนด์) ที่ก่อตั้งมา 40 กว่าปีแล้ว และงานส่วนใหญ่ของเราเป็นภาคราชการประมาณ 60% ส่วนอีก 40% เป็นบริษัทต่าง ๆ

“ดังนั้น สตาฟอินเฮาส์ของเราจะมีประมาณ 12-16 คน ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะลักษณะการทำงานจะเป็นกรุ๊ปเฮด ด้วยการทำกระบวนการคิด และบริหารการจัดการเป็นหลัก ที่สำคัญ ลักษณะของงานจะแบ่งออกเป็น 5 พาร์ตหลัก ๆ

ได้แก่ งานโปรเจ็กต์แมเนจเมนต์ ซึ่งคนที่อยู่ในทีมนี้จะทำหน้าที่บริหารโครงการ และกลุ่มคนเหล่านี้จะมีทักษะทางด้านสถาปัตยกรรม, การออกแบบตกแต่งภายใน พูดง่าย ๆ ว่ามีทักษะในการบริหารโครงการ และทำโปรแกรมเกี่ยวกับการเขียนแบบ และออกแบบได้”

“ส่วนถัดมาจะเป็นพวกครีเอทีฟ พวกนี้มีหน้าที่ในการคิดหาไอเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะคิดคอนเซ็ปต์อะไรต่าง ๆ เพื่อแปลงสารเป็นกราฟิก, เพอร์สเปกทีฟ, แอนิเมชั่น กลุ่มคนพวกนี้ส่วนใหญ่ยังมีทักษะด้านสถาปัตยกรรม, การออกแบบภายใน, นิเทศศิลป์ และศิลปกรรมออกแบบกราฟิกในเรื่องต่าง ๆ

จากนั้นจะมีในส่วนของคอนเทนต์ ทีม ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะทำหน้าที่รีเสิร์ช วิจัย หาข้อมูล เก็บข้อมูล พูดง่าย ๆ คือลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้คนค้นหาเรื่องร่าวต่าง ๆ พร้อมกับสัมภาษณ์ ถ่ายวิดีโอ ก่อนจะส่งงานทั้งหมดให้ครีเอทีฟ”

“ถัดมาจะเป็นโอเปอเรชั่น หรือทีมโปรดักชั่น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีหน้าที่ผลิตงานตกแต่งภายใน, งานโมเดล, อุปกรณ์ประกอบทั้งหมด และสุดท้ายคือทีมซัพพอร์ต หรือแอดมิน ฉะนั้น เวลาทำงานเราจะทำงานกันเป็นคอร์ทีมทั้งหมด เพื่อพูดคุยในรายละเอียดทุกอย่าง เพราะหัวใจของการทำงานคือการเล่าเรื่อง

ดังนั้น ถ้าตรงไหนที่มีงานนอกเหนือจากในส่วนของที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ เราจะหาเอาต์ซอร์ซมาช่วยเพราะเรามีตะกร้าเอาต์ซอร์ซเรื่องต่าง ๆ เยอะมาก อยากได้ตรงไหน ใครเก่งเรื่องอะไร เราก็มาดูในตะกร้าเหล่านั้น”

ตรงนี้จึงเป็นคำตอบกลาย ๆ ว่าทำไมทีมของ “จีเคอี” จึงไม่จำเป็นต้องใหญ่เกินตัว และไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มทีมให้มากกว่านี้ ทั้งนั้นเพราะ “เพทาย” มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานที่ “ปิโก (ไทยแลนด์)” และ “จีเคอี”

เพราะทางหนึ่งเขาเองเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาก่อน ขณะเดียวกัน เขาเองมีประสบการณ์ตรงกับพนักงานรุ่นใหม่ที่เข้า ๆ ออก ๆ เป็นประจำ

“ตลอดเวลา 5 ปี ผมประสบปัญหากับการเข้าออกของน้อง ๆ กลุ่มหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เขามีศักยภาพ มีความคิดดี แต่สิ่งที่เขาไม่เหมือนคนรุ่นผมคือความอดทน และความทะเยอทะยานที่จะไปข้างหน้า

ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะพวกเขาอาจมีตัวอย่างจากโซเชียลมีเดียค่อนข้างเยอะที่บังเอิญไปเห็นคนที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ซึ่งพวกเขาก็อยากเป็นเช่นนั้น ถามว่าผมรับได้ไหม รับได้ และผมเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผมเข้าใจพวกเขาและผมก็รู้ด้วยว่าจะเลือกใช้พวกเขาอย่างไร”

ดังนั้น เมื่อถามต่อว่า…ธุรกิจนี้หาคนยากไหม ?

“เพทาย” จึงบอกว่า…ยาก เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจเฉพาะ จึงทำให้การรับรู้ในสังคมค่อนข้างน้อย ยกเว้นคนที่อยู่ในธุรกิจนี้จริง ๆ ซึ่งเหมือนกับผม หลังจากจบมา ผมก็ทำงานทางด้านสถาปนิกอยู่ประมาณ 10 ปี ก่อนจะมารู้ภายหลังว่ามีธุรกิจอย่างนี้ด้วยหรือ โคตรน่าสนใจเลย (หัวเราะ)

“เพียงแต่คนที่จะมาอยู่ตรงนี้ อันดับแรก เขาต้องรักในการทำงานที่หลากหลาย ที่สำคัญ ต้องชอบเล่าเรื่อง และชอบเดินทางไปดูงานเอ็กซ์โป, งานนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง

เพราะธุรกิจของเราหัวใจอยู่ที่การเล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องของเราต้องไม่เหมือนใคร ต้องไม่น่าเบื่อ และต้องเล่าให้ฟังอย่างน่าติดตาม ฉะนั้น น้อง ๆ ในกรุ๊ป เฮด หรือกรุ๊ป ทีมของจีเคอีจึงจบมาค่อนข้างหลากหลาย และบางคนก็มีประสบการณ์ในชีวิตผ่านมาค่อนข้างแตกต่างกัน แต่เราก็นำมาหลอมรวม จนกลายเป็นคนจีเคอีในวันนี้”

“ดังนั้น คนที่มาอยู่กับเรา ต้องชอบสำรวจสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และไม่ยึดติดกับงานรูทีน เพราะออฟฟิศผมไม่จำเป็นต้องตอกบัตร แต่เน้นการทำงานแบบโปรเจ็กต์ เบส คุณอยู่ข้างนอกทั้งอาทิตย์เลยก็ได้ แต่ถ้าคุณส่งงานมาได้ ก็จบ

สำคัญกว่านั้น คนของเราต้องมีความรักในการแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ และจะต้องเป็นคนพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ ยิ่งถ้ามีแคแร็กเตอร์ในการเล่าเรื่องด้วยยิ่งดี เพราะการเล่าเรื่องจะเกี่ยวข้องกับการจับประเด็น สังเกต อธิบาย และมองหาอะไรเด่น ๆ เพื่อมาเล่าให้คนอื่นฟังอย่างรู้เรื่องด้วย”

ถึงตรงนี้จึงถาม “เพทาย” ต่อว่า…แล้วแคเรียร์พาทของพวกเขาไปได้ไกลไหม ?

“ผมเชื่อว่าไปได้ไกล เพราะปัจจุบันธุรกิจประเภทเดียวกันมีอยู่ประมาณ 10 กว่าบริษัท ที่สำคัญ คนที่มีความชำนาญ มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญมีอยู่ค่อนข้างน้อย ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีการแย่งตัวกันค่อนข้างเยอะ

ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา สำคัญไปกว่านั้นคือเงินเดือนของคนที่อยู่ในธุรกิจนี้ค่อนข้างดี เริ่มตั้งแต่ 5 หลักกลาง ๆ ขึ้นไปจนถึง 6 หลัก ผมว่าอยู่ในระดับที่ดีเลยล่ะ แต่ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเขาด้วยว่าจะมีความเก่งกาจมากน้อยแค่ไหน และเขาอยู่บริษัทอะไร”

“สำหรับจีเคอีเราเป็นบริษัทลูกของปิโก (ไทยแลนด์) ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ ฉะนั้น ธุรกิจของเราจึงค่อนข้างหลากหลาย ขณะเดียวกัน เราก็มีหลายโปรเจ็กต์เบสที่จะทำให้พวกเขาเติบโตไปบริหารโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ในอนาคต เพราะตลาดตรงนี้ค่อนข้างกว้าง

และไม่เฉพาะแต่ต่างประเทศเท่านั้น หากในประเทศไทยเอง ขณะนี้หลายบริษัทเริ่มเกิดการตื่นตัว โดยเฉพาะองค์กรเก่าแก่ที่มีอายุหลายปีด้วยกัน เขาเริ่มอยากจะทำ visitor center เพื่อให้พนักงาน คู่ค้าหรือผู้ถือหุ้นเกิดความภูมิใจในเส้นทางประวัติศาสตร์การเติบโตของบริษัทเขา”

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้ผมออกไปโรดโชว์ตามสถาบันต่าง ๆ เพื่อไปบอกเล่าให้พวกเขาทราบว่า ตอนนี้มีธุรกิจประเภทนี้อยู่ และธุรกิจนี้ทำอะไร โอกาสในการเติบโตเป็นอย่างไร จนทำให้นิสิต-นักศึกษาเหล่านั้นอยากมาฝึกงาน และอยากมาสมัครงานกับเรามากขึ้น

ตอนนี้ผมเชื่อว่า จีเคอีเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น ที่สำคัญผมเป็นคนสัมภาษณ์พวกเขาเองทุกคน และทุก ๆ ตำแหน่ง และสิ่งที่ผมจะถามเขามีไม่กี่เรื่อง คือ ไลฟ์สไตล์คุณเป็นอย่างไร ทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อดูความสนใจ การใช้ชีวิตมุมมอง และบุคลิกของพวกเขาไปพร้อม ๆ กัน”

แต่กระนั้น เมื่อมหันตภัยไวรัสร้ายมาเยือนตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงขณะนี้บริษัท จีเคอี จำกัด มีการปรับตัวบนความเปลี่ยนแปลง และความท้าทายครั้งนี้อย่างไรบ้าง ?

“เพทาย” จึงตอบว่า ปัญหาของเราคงเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ คือ รายได้ไม่เติบโตเท่าที่ควร แต่ถึงกระนั้นในความโชคร้ายก็มีความโชคดีซ่อนอยู่ เพราะนอกจากงานเสริมที่เรามีให้ลูกทีมอยู่ก่อนแล้ว เรายังพบว่าในช่วงของโควิด-19 กลับมีหลายบริษัทต้องการรีโนเวตสำนักงานใหม่ หรือมีหลายบริษัทต้องการทำหนังสือประวัติออฟฟิศ หรือสูจิบัตรงานศิลปกรรม

“หรือแม้แต่บางบริษัทต้องการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ และเขาอยากให้เราออกแบบตกแต่งอินทีเรียร์ให้สวย ๆ เพื่อให้มีแคแร็กเตอร์ในแบบเฉพาะกับสินค้าของเขา หรือบางบริษัทต้องการอยากเล่าโปรดักต์ต่าง ๆ ที่เขามีว่ามีความเป็นมาอย่างไร

เขาก็มาหาเรา เราก็จะให้ความคิดให้คำปรึกษาจากสิ่งต่าง ๆ ที่เขามี เพื่อสร้าง storytelling และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เขาออกแบบฉลากผลิตภัณฑ์, ลอนช์โปรดักต์, สร้างช็อปอีเวนต์, สร้าง visit center พูดง่าย ๆ ว่าทุก ๆ อย่างที่เขามี เราสามารถเซอร์วิสให้ลูกค้าจนเกิดเป็นมัลติแพลตฟอร์มในการสร้างประสบการณ์ใหม่ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงมากกว่าเดิม”

“เพราะผมเชื่อว่าภาพยนตร์โฆษณา 1 ชิ้น ไม่สามารถเล่าได้ทุกอย่าง ไหนจะเวลาออกอากาศน้อย งบประมาณค่อนข้างแพง และไม่สามารถสร้างความจดจำในสินค้าอย่างตราตรึง แต่เมื่อเขามาหาเรา ผมสามารถออกแบบได้ในงบประมาณเท่า ๆ กับเขาเสียเงินค่าโฆษณาประมาณ 10-20 ล้านบาท แต่ได้อะไรมากกว่ามากมาย แถมเรายังสามารถพัฒนาในการสร้างมัลติแพลตฟอร์มในทุก ๆ ช่องทางได้มากกว่า ทั้งยังอยู่นานมากกว่า และลูกค้ายังจดจำสินค้าได้มากกว่าอีกด้วย เป็นใครจะไม่เอา”

ซึ่งฟังแล้วเห็นด้วยทุกประการ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “เพทาย” จึงมองไปในอนาคตข้างหน้าว่า…ต่อไปหลายบริษัทในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับ experience center มากขึ้น ซึ่งเหมือนกับในต่างประเทศก็จะมีศูนย์ต่าง ๆ เหล่านี้ในการบอกเล่าเส้นทางสายประวัติศาสตร์การเติบโตของบริษัทนับจากจุดเริ่มต้นมาจนถึงจุดที่ประสบความสำเร็จในวันนี้

วันที่จะเป็นจริงต่อจากนี้ไปในอนาคต