เซ็น “สัญญาจ้าง” แล้วไม่ไปทำงาน

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ 
http://tamrongsakk.blogspot.com

กรณีตามหัวข้อข้างบนนี้ คงจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า ถ้าเซ็นสัญญาจ้างแล้วเราไม่สามารถไปทำงานกับบริษัทที่เราเซ็นสัญญาจ้างได้จะมีผลอย่างไร ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัด ๆ อย่างนี้นะครับ

“ฉลอง” ไปสมัครงานกับบริษัท ก. และในที่สุดบริษัท ก. ตกลงรับ “ฉลอง” เข้าทำงาน เขาจึงเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัท ก. ไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะต้องไปเริ่มงานในวันที่ 1 เดือนหน้า

ซึ่งในสัญญาจ้างงานนี้ระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า ถ้า “ฉลอง” ไม่มาเริ่มงานตามสัญญาบริษัทจะปรับค่าเสียหายจากฉลอง 2 เท่าของเงินเดือน (สมมุติว่าบริษัท ก.ตกลงให้เงินเดือนฉลองเดือนละ 30,000 บาท ถ้า “ฉลอง” ไม่มาเริ่มงานตามสัญญา บริษัท ก. จะปรับค่าเสียหายจากฉลอง 60,000 บาท)

ต่อมา “ฉลอง” เกิดได้งานที่บริษัท ข.อีกแห่งหนึ่ง และบริษัท ข. ก็จ่ายเงินเดือนให้ดีกว่าบริษัท ก. “ฉลอง” ก็เลยอยากไปทำงานบริษัท ข. มากกว่าบริษัท ก.

นี่ถึงได้เป็นปัญหาว่า ถ้า “ฉลอง” ไม่ไปทำงานที่บริษัท ก. ตามสัญญาจ้างบริษัทจะเรียกร้องให้ “ฉลอง” จ่ายค่าเสียหายตามสัญญาได้ไหม ?

แล้วถ้า “ฉลอง” ไม่ยอมจ่ายล่ะ บริษัทจะทำยังไง ?

แหม…พอได้ยินเรื่องทำนองนี้แล้วคิดถึงเพลง “ก็เคยสัญญา” ของ “พี่ป้อม-อัสนี” ขึ้นมาทันทีเลยนะครับ เพราะถ้าสัญญาอะไรไว้แล้วไม่มาตามนัดนี่เป็นใครก็คงจะมีเคืองกันบ้างแหละ

ผมมีข้อคิดอย่างนี้ครับ

1.ถ้า “ฉลอง” จะไม่ไปทำงานกับบริษัท ก. ก็ควรเข้าไปพบผู้บริหาร หรือ HR ของบริษัท ก. และบอกเขาไปว่าเราไม่สะดวกจะไปทำงานกับบริษัท ก. จริง ๆ เนื่องจากได้งานใหม่ที่มีโอกาสในการเรียนรู้งาน และมีความก้าวหน้า

ซึ่งในอนาคตก็ไม่แน่ว่า “ฉลอง” อาจจะนำความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่ได้กลับมาร่วมงานกับบริษัท ก. อีกก็เป็นไปได้ และต้องขอบคุณบริษัท ก. ที่ให้โอกาสฉลองได้เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ พูดง่าย ๆ คือ ไปบอกกับเขาอย่างตรงไปตรงมาให้เขาได้เข้าใจดีกว่าหายไปเฉย ๆ แล้วไม่มาเริ่มงานตามสัญญา

2.หาก “ฉลอง” อธิบายเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงแล้ว บริษัท ก. ยังคงยืนยันที่จะให้ “ฉลอง” จ่ายค่าเสียหายให้สองเท่า (คือ 60,000 บาท) ตามสัญญาให้ได้ บริษัท ก. ก็คงจะต้องไปฟ้องศาลแรงงานเอาเองแล้วไปพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นว่าการที่ “ฉลอง” ไม่มาเริ่มงานตามสัญญาจ้างนี้ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายอย่างไร เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศาลแล้วละครับ

แน่นอนว่าบริษัท ก. จะต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไปให้ศาลดูคงไม่ใช่ไปศาลครั้งสองครั้งแล้วจบ ก็อยู่ที่ว่าบริษัท ก. จะยอมเสียเวลาหรือเปล่า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง คำถามมีอยู่ว่าตกลงบริษัท ก. ตั้งกิจการขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจของตัวเอง หรือตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้สมัครงานกันแน่ละครับ สู้เอาเวลาที่จะต้องไปขึ้นศาลไปทำธุรกิจของตัวเองจะดีกว่าหรือไม่

3.ถ้า “ฉลอง” จะใช้วิธี “ศรีธนญชัย” ก็สามารถจะทำได้นั่นคือ “ฉลอง” ไปเริ่มงานที่บริษัท ก. แล้วทำงานไปสัก 2-3 วัน “ฉลอง” ก็ยื่นใบลาออกจากบริษัท ก. ซึ่งตามระเบียบอาจจะระบุว่า พนักงานที่จะลาออกต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วัน “ฉลอง” ก็ทำตามนั้น (โดยขอผัดผ่อนบริษัท B ไปสัก 1 เดือน

ซึ่งโดยทั่วไปถ้า “ฉลอง” มีคุณสมบัติที่บริษัท B อยากได้จริง ๆ ส่วนใหญ่รอได้อยู่แล้วครับ) หากทำแบบนี้บริษัท ก. ก็จะฟ้องร้องค่าเสียหายกับ “ฉลอง” ไม่ได้ แต่ก็อีกแหละครับว่าทำไมไม่พูดกันตรงไปตรงมาตั้งแต่แรกจะได้ไม่ต้องมาลับ-ลวง-พรางกันแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่เลย แถมจะทำให้เสียความรู้สึกกันมากกว่าด้วยซ้ำไป

4.“ฉลอง” ทำให้บริษัท ก. เกิดความรู้สึกแย่ไปกว่านั้นได้อีก คือ “ฉลอง” ก็มาทำงานกับบริษัท ก. สัก 2-3 วัน แล้วยื่นใบลาออกวันนี้โดยมีผลวันพรุ่งนี้ โดยไม่ต้องทำตามระเบียบของบริษัท เพราะการที่ลูกจ้างยื่นใบลาออกนั้นในทางกฎหมายแรงงานถือว่าลูกจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายจ้าง หากลูกจ้างระบุวันที่มีผลไว้วันไหนในใบลาออก เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็จะมีผลให้ลูกจ้างพ้นสภาพได้ทันทีโดยไม่ต้องให้นายจ้างอนุมัติแต่อย่างใด

ซึ่งหาก “ฉลอง” ทำแบบนี้ก็แน่นอนว่าบริษัท ก. ยิ่งจะไม่พอใจมากขึ้น และยังสามารถไปฟ้องศาลแรงงานว่าการที่ “ฉลอง” ไม่ยื่นใบลาออกตามกฎระเบียบของบริษัทนั้น ทำให้บริษัทเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง คิดเป็นมูลค่าตัวเงินเท่าไหร่เพื่อให้ศาลท่านพิจารณา ซึ่งกรณีนี้ก็จะคล้ายกับการไปฟ้องให้ศาลแรงงานตัดสินตามข้อ 1 ซึ่งอยู่ที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไป

จากที่ผมแชร์มานี้ท่านคงจะพอมีไอเดียแล้วนะครับว่า หากท่านที่ตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ ท่านควรจะปฏิบัติแบบไหนถึงจะเหมาะสม และในทำนองเดียวกันหากท่านเป็นคนที่ทำงานด้าน HR หรือเป็นฝ่ายบริหารของบริษัท ก. ท่านควรจะตัดสินใจอย่างไรถึงจะเหมาะสมเช่นกัน

สำหรับความเห็นส่วนตัวของผมนั้น การตัดสินใจรับคนเข้าทำงานกับการตัดสินใจแต่งงานนั้นผมว่ามันมีอะไรบางอย่างที่คล้าย ๆ กัน คือ เมื่อเราตัดสินใจแต่งงานหรือตัดสินใจรับคนเข้าทำงานก็หมายความว่าเราอยากจะใช้ชีวิตร่วมกันระยะยาว และหวังจะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกันจริงไหมครับ

แต่ถ้าแม้ว่าจะตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกันแล้ว แจกการ์ดแล้ว แต่มาพบความจริงว่าอีกฝ่ายไม่ได้รัก และอยากจะใช้ชีวิตร่วมกับเราอย่างจริงจัง ก็สู้เจ็บแต่จบดีกว่ายืดเยื้อแล้วเรื้อรัง

การรับคนเข้าทำงานก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อผู้สมัครเขาไม่อยากมาทำงานกับเราแล้ว ต่อให้บริษัทไปบีบบังคับถึงกับต้องให้เขาทำสัญญาใช้ค่าเสียหาย แล้วจะบังคับเอาตามสัญญา ทั้ง ๆ ที่เห็นอนาคตอยู่แล้วว่าไปกันไม่ได้ ก็สู้เอาเวลาไปหาผู้สมัครงานคนใหม่ที่เขาอยากจะมาทำงานกับเราไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งเรามีโอกาสจะได้คนใหม่ที่อาจจะดีกว่าคนที่ปฏิเสธเราในครั้งนี้ก็ได้นะครับ

ฝากไว้ให้เป็นข้อคิดสำหรับทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครงานที่จะเซ็นสัญญาจ้าง และบริษัทที่คิดจะทำสัญญาประเภทนี้เอาไว้ด้วยว่าจะควรหรือไม่ และจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

แต่ถ้าบริษัทไหนยังเห็นสมควรจะทำสัญญาจ้างทำนองนี้อีกต่อไป ก็เอาตามที่สบายใจเลยนะครับ