ยกระดับสตรีด้อยโอกาส อีกหนึ่งภารกิจหลัก “สถานทูตอเมริกา”

young women workshop

ยกระดับสตรีด้อยโอกาส อีกหนึ่งภารกิจหลัก “สถานทูตอเมริกา” และเป็นกิจกรรมที่แสดงออกถึงการเฉลิมฉลองเดือนแห่งประวัติศาสตร์สตรี (Women’s History Month)

นับตั้งแต่ปี 2530 “สหรัฐอเมริกา” ถือให้ “เดือนมีนาคม” ของทุกปีเป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์สตรี (Women’s History Month) เพื่อเฉลิมฉลองการมีส่วนร่วมในสังคมของสตรีในสหรัฐอเมริกา แสดงการยอมรับความสำเร็จของผู้หญิง และการให้ความนับถือพวกเธอ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างที่หลากหลาย (diversity) ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือความคิดเห็นทางการเมือง

หลายปีที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศต่าง ๆ ได้นำธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวไปปฏิบัติเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยที่ “สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย” (U.S. Embassy in Thailand) ได้จัดหลายกิจกรรมที่แสดงออกถึงการให้คุณค่าผู้หญิง และพัฒนาศักยภาพผู้หญิงไทย

‘อเมริกา’ เสริมพลังเด็กไทยด้วย soft skills ฉลองเดือนประวัติศาสตร์สตรี

โดยหนึ่งในหลายกิจกรรมในเดือนมีนาคม 2564 คือ “เวิร์กช็อปเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้แก่สตรีวัยเยาว์ จากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดอรุณราชวราราม” เพื่อช่วยเหลือเยาวชนด้อยโอกาสที่อาจเสี่ยงจากการเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

“ไมเคิล ฮีธ” อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิงไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มาหลายปี โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาส

เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเพศไม่ใช่ข้อจำกัดในการได้รับโอกาสด้านการศึกษาและหน้าที่การงาน ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม และควรได้รับการส่งเสริมให้มีตำแหน่งระดับสูงในแวดวงธุรกิจทัดเทียมผู้ชาย รวมถึงมีโอกาสได้ศึกษา และทำงานด้าน STEM (การเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เป็นต้น

ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต หน่วยงานสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (ซ้าย) ฮาร์ตันโต คุณาวัน ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดอรุณราชวราราม (Community Learning Center-CLC, Wat Arun) (ขวา)

กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเวิร์กช็อปเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้แก่เยาวชนเพศหญิง ในช่วงอายุประมาณ 17-22 ปี ที่มาจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดอรุณราชวราราม จำนวนเกือบ 20 คน

โดยเยาวชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาด้านพยายาบาล และมีถิ่นฐานมาจากต่างจังหวัด นอกจากนั้นยังมีบุคลากรของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ประมาณ 10 คน มาร่วมช่วยงานเพื่อสังคมครั้งนี้ด้วย

“จากอดีตถึงวันนี้ มีผู้หญิงหลายคนทั่วโลกต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความสำเร็จ จนกลายเป็นที่รู้จักในสังคม ซึ่งความสำเร็จมักจะเริ่มจากการมีความเชื่อ จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนเชื่อว่าสักวันจะประสบความสำเร็จ ความสำเร็จไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนดังหรือเป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่หมายถึงประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ที่มีคุณค่าต่อตัวเองและสังคม เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน และสามารถสร้างความแตกต่างได้เสมอ”

นอกจากกิจกรรมเพื่อสตรีในไทย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ยังทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การขจัดปัญหาขยะพลาสติกใน จ.ภูเก็ต การร่วมทำโครงการที่เกี่ยวกับการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

“ลิเดีย บาร์ราซา” ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า เวิร์กช็อปครั้งนี้มีเวลา 1 วัน เริ่มจากกิจกรรม Round-Robin ที่เป็นการพูดคุยให้กำลังใจกับเยาวชนหญิง ต่อจากนั้นจะแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเข้าฐานเรียนรู้และฝึกทักษะต่าง ๆ ประกอบด้วย

ลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา
ลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมและการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา

1.พลาสติกมีค่า-การรีไซเคิลพลาสติก โดยความร่วมมือจาก Precious Plastic Bangkok หน่วยงานรีไซเคิลพลาสติกที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเนเธอร์แลนด์

2.การพัฒนาทักษะการสัมภาษณ์งานและการนำเสนอ โดยความร่วมมือจากมูลนิธิสติ (SATI Foundation)

3.การสำรวจตัวตนผ่านงานศิลปะ โดย Creative Migration องค์กรระหว่างประเทศด้านศิลปะที่นำโดยผู้หญิง

“หน่วยงานของเราทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่น ๆ ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและองค์กรไทยทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกาและความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับไทย ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการศึกษา เช่น การให้ทุนการศึกษา การสอนภาษาอังกฤษ การอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย และเราเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนคู่ควรได้รับโอกาส เราจึงตั้งใจจัดกิจกรรมในเดือนแห่งประวัติศาสตร์สตรี เพื่อสตรีไทยมาหลายปี”

“ฮาร์ตันโต คุณาวัน” ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวัดอรุณราชวราราม (Community Learning Center-CLC, Wat Arun) กล่าวเสริมว่า CLC ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยและปกป้องเด็กและเยาวชนเพศหญิง ที่มีถิ่นฐานจากชนบท หรือเป็นกำพร้า ครอบครัวแตกแยก และเด็กยากจน ซึ่งมีความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ การถูกทำร้าย และยาเสพติด

“วิธีป้องกันการค้ามนุษย์ทางหนึ่งคือ การให้การศึกษา และงานที่มั่นคง ดังนั้น เยาวชนในศูนย์ของเราจึงได้รับการศึกษาในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่มหาวิทยาลัยสยาม พร้อมทั้งหางานให้ทำ 100% นอกจากการให้โอกาสด้านการศึกษาและงาน เรายังมุ่งเน้นการสร้างคุณธรรมและวินัยให้กับเยาวชน และส่งเสริมให้ทำสมาธิ และปฏิบัติธรรมทุกวันทั้งเช้าและเย็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั้น เราได้ช่วยเหลือเยาวชนหญิงไปแล้วกว่า 300 คน”

การดำเนินงานของ CLC ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในด้านทุน แต่ละปีเราสามารถรับเด็กได้ 15-20 คน เพราะความตั้งใจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและ CLC คือการดูแลทุกคนแบบระยะยาวและยั่งยืน จึงไม่สามารถรับคนจำนวนที่มากไปกว่านี้ได้ ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนฟรี ให้ค่าใช้จ่ายส่วนตัว มีหอพักให้อยู่ และไม่ต้องใช้ทุน ทั้งนี้ เยาวชนที่จะมาอยู่ในศูนย์ของเรา มี 2 รูปแบบ คือ กระทรวงศึกษาธิการที่คัดเลือกมาจากเครือโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ที่จบม.6 และด้อยโอกาส และการสมัครตรงกับศูนย์

นับว่าการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยผ่านการให้โอกาสการเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการขับเคลื่อนการให้ความนับถือต่อผู้หญิง และแรงบันดาลใจให้พวกเขาทำสิ่งดี ๆ จนกลายเป็นบุคคลที่มีคุณภาพในสังคม