สร้างสังคมมั่นคง แบ่งปันยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ
ธนาคารกสิกรไทย

ประเทศไทยเผชิญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไม่เท่าเทียมมาเป็นเวลานาน เห็นได้จากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชากร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้มีการแบ่งปันอย่างทั่วถึง วิกฤตโควิด-19 ยังเป็นอีกปัจจัยที่เข้ามาทวีความรุนแรงของปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตมากกว่ากลุ่มอื่นในสังคม

ผลเช่นนี้ จึงทำให้หลายภาคส่วนในสังคม เช่น องค์กรสาธารณกุศล ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิ หรือสมาคม จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อาทิ การตั้งกองทุนเพื่อการวิจัยวัคซีนต้านโรคโควิด-19 หรือการมอบทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น มีหลายปัญหาที่องค์กรสาธารณกุศลไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเกิดจากอุปสรรคหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการองค์กรสาธารณกุศลที่ยัง
ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ สภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานทำให้ผลตอบแทนจากเงินฝาก และการลงทุนลดลง

นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ยังส่งผลต่อเนื่องให้จำนวนเงินจากผู้บริจาคลดลงอีกด้วย

ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาที่องค์กรสาธารณกุศลเผชิญอยู่มีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจมิติของปัญหาอย่างครอบคลุมคือ การแบ่งประเภท หรือ segmentation ซึ่งมี 3 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) การแบ่งประเภทผู้บริจาค การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริจาค อายุ เพศ และแรงจูงใจ เช่น กลุ่มวัยรุ่น มีความสนใจในประเด็นสังคมใด กลุ่มคนที่เริ่มทำงาน มีมุมมองต่อการบริจาคอย่างไร หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ต้องการเห็นผลกระทบเชิงบวกในด้านใดเป็นต้น

ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะทำให้เราสามารถจัดการระบบบริหารจัดการในการรับบริจาคได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างความผูกพันกับผู้บริจาค ด้วยการทำให้เห็นว่าเงินบริจาคนำไปพัฒนาหรือช่วยเหลือสังคมอย่างไร

2) การแบ่งประเภทองค์กรสาธารณกุศล KBank Private Banking ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรสาธารณกุศลหลายองค์กร และพบว่ามีหลายองค์กรที่มีความก้าวหน้า มีการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ แต่บางส่วนก็ยังต้องพบกับข้อจำกัดจากการบริหารสินทรัพย์ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย ในขณะที่มีหลายองค์กรที่มีพันธกิจทางสังคมที่โดดเด่น แต่ต้องการความช่วยเหลือทั้งด้านบุคลากร และการระดมทุน

ดังนั้น การแบ่งประเภทองค์กรสาธารณกุศลจะทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงปัญหาในการบริหารจัดการองค์กรที่แตกต่างกันไป ตามขนาด ประเภท และวัตถุประสงค์ และนำองค์ความรู้ในระดับสากลจาก Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจของ KBank Private Banking มาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อทำให้องค์กรมีความคล่องตัว เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

3) การแบ่งประเภทผู้รับบริจาค การศึกษาถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้รับบริจาคจะช่วยนำความช่วยเหลือไปมอบให้อย่างตรงตามความต้องการ เช่น หากเราต้องการบริจาคเงินแก่ผู้พิการ เราต้องเข้าใจว่าผู้พิการผู้นั้นมีรายได้ที่เลี้ยงชีพเพียงพอมากน้อยแค่ไหน ความช่วยเหลือที่เขาต้องการจริง ๆ คืออะไร เป็นระยะสั้นหรือระยะยาว

เมื่อเรามีความเข้าใจตรงนี้ เราจึงจะสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด เพราะการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรสาธารณกุศลอย่างเป็นรูปธรรมต้องอาศัยการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ KBank Private Banking ในฐานะผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ สามารถนำเอาความรู้ ความเชี่ยวชาญ

รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุน การระดมทุน และการวางโครงสร้างองค์กร จากพันธมิตรทางธุรกิจระดับสากลอย่าง Lombard Odier มาถ่ายทอดให้แก่องค์กรสาธารณกุศลในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการความเสี่ยงและการเงินอย่างเหมาะสม

แต่การส่งเสริมวัฒนธรรมการแบ่งปันที่ยั่งยืนต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ทั้งในเชิงนโยบายภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งสามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจของตนมาร่วมสร้างสังคมที่เข้มแข็งได้เช่นเดียวกัน