ภารกิจ 10 ปี “ดิอาจิโอฯ” บริหารความหลากหลายเพื่อยั่งยืน

รุ่งกานต์ รตนาภรณ์
รุ่งกานต์ รตนาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Diageo Moet Hennessy (Thailand)-DMHT ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เป็นการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างดิอาจิโอ และโมเอ็ท เฮนเนสซี่ (เครือหลุยส์วิตตอง โมเอ็ท เฮนเนสซี่-LVMH) โดยถือเป็นผู้นำในตลาดนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คุณภาพในประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มกลุ่มพรีเมี่ยม เดอลุกซ์ และซูเปอร์เดอลุกซ์

ทั้งนี้ ดิอาจิโอฯมีความเชื่อว่าวัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกคน (diversity and inclusion-D&I) จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงตั้งเป้าหมายในระดับโลกที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2573 ว่าองค์กรจะต้องมีสัดส่วนผู้นำหญิงให้ได้ 50% มีผู้นำที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติให้ได้ 45% และจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับคนจำนวน 1.7 ล้านคน

ขับเคลื่อนบริษัทสู่เป้าหมาย

ในการขับเคลื่อนนโยบายและกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลของดิอาจิโอฯในประเทศไทยมี “รุ่งกานต์ รตนาภรณ์” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2564 โดยเธอเล่าว่ามีประสบการณ์การทำงานด้านทรัพยากรบุคคลมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และได้เข้ามาร่วมงานกับดิอาจิโอฯโดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่

1.top talents หรือการแสวงหาบุคลากรที่มีศักยภาพหรือประสิทธิภาพอยู่ในระดับแถวหน้า

2.best leaders หรือการเสริมสร้างผู้นำที่ดีที่สุด

และ 3.great place to work หรือการสร้างสรรค์บริษัทให้เป็นองค์กรที่น่าทำงาน

“ความมุ่งมั่น คือ มีเป้าหมายในการพัฒนาด้านบุคลากรให้ตอบโจทย์การก้าวสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านความแตกต่างหลากหลาย ด้วยการวางกลยุทธ์และดำเนินงานภายใต้แนวคิด Connecting People to Purposes หรือเชื่อมโยงบุคคลกับวัตถุประสงค์ของบริษัทให้ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้ในการทำงานไม่จำกัดความคิด มอบอิสระในการออกแบบวิธีการทำงานและการแสดงออก”

“โดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายและกฎระเบียบตามมาตรฐานของดิอาจิโอฯ พร้อมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้ออำนวยต่อการไปถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“เพื่อให้พนักงานรู้สึกสบายใจและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบริษัทสู่เป้าหมาย มาทำงานอย่างมีความสุขและกลับบ้านด้วยความรู้สึกที่เปี่ยมล้น เติมเต็มความต้องการ ขณะเดียวกัน ก็ต่อยอดสู่เป้าหมายทางอาชีพของเขา”

เดินสู่ภารกิจ 10 ปี

“รุ่งกานต์” กล่าวว่า ปีนี้ดิอาจิโอฯตั้งเป้าหมาย 10 ปี ชื่อว่า “SOCIETY 2030 : SPIRIT OF PROGRESS” คือแผนงานการบริหารองค์กรที่เริ่มตั้งแต่ปี 2564-2573 โดยให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

1.การส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ (positive drinking)

2.การส่งเสริมความหลากหลาย (inclusion & diversity)

3.การเป็นผู้บุกเบิกด้านความยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต (grain to glass sustainability)

“ทั้งนี้ หัวใจความสำเร็จของธุรกิจต้องเริ่มจากคนในองค์กรก่อน เราจึงเห็นความจำเป็นในการสร้างโครงสร้างองค์กรที่มีความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมของทุกคน จึงตั้งเป้าหมายในระดับโลกที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2573 ว่าจะต้องมีสัดส่วนผู้นำหญิงให้ได้ 50% มีผู้นำที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติให้ได้ 45% และจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับคนจำนวน 1.7 ล้านค”

“สำหรับประเทศไทย ดิอาจิโอฯมุ่งมั่นผลักดันนโยบายที่เปิดกว้าง และสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยดิอาจิโอฯให้สิทธิพนักงานทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ใช้สิทธิลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ พร้อมรับเงินเดือนเต็ม”

“นอกจากนั้น ยังสนับสนุนความหลากหลายในทุกตำแหน่งงาน โดยปัจจุบันมีสัดส่วนของผู้บริหารหญิงอยู่ที่ 50% แล้ว ในลำดับถัดไปคือการเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งที่เตรียมก้าวขึ้นสู่ระดับบริหารให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้กับผู้หญิงในการก้าวสู่ตำแหน่งงานที่สังคมคุ้นเคยว่าผู้ชายมีบทบาทมากกว่า โดยริเริ่มออกแบบและดำเนินการโปรแกรม Female in Field Sales Incubation เพื่อปั้นผู้นำหญิงสู่การเป็นผู้จัดการเขต (district manager) ภายในปี 2568 ที่มีหน้าที่ในการบริหาร พัฒนา และรักษาฐานลูกค้า”

“บริษัทของเราในสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จการเป็นองค์กรที่มีความเสมอภาคทางเพศ โดยจากรายงานและการจัดอันดับของ Equileap ประจำปี 2562 ดิอาจิโอฯที่สหราชอาณาจักรครองตำแหน่งบริษัทอันดับหนึ่งด้านความเสมอภาคทางเพศถึง 2 ปีซ้อนจากการสำรวจและศึกษาบริษัทชั้นนำถึง 3,519 แห่ง ใน 23 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมพนักงานกว่า 98 ล้านคน”

“โดย Equileap ได้จัดอันดับบริษัทจากเกณฑ์มาตรฐานใน 19 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการจ้างพนักงานชาย-หญิง ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชาย-หญิง นโยบายการลาเพื่อครอบครัว รวมถึงโปรแกรมต่อต้านการละเมิดทางเพศในที่ทำงาน”

สร้างชีวิตที่สมดุล

“รุ่งกานต์” อธิบายต่อว่า ดิอาจิโอฯสนับสนุนสุขภาวะที่ดีของพนักงานเพื่อสร้างชีวิตที่สมดุล ภายใต้แนวคิด “Be Your Best Self ไปให้สุดในแบบคุณ” โดยสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้พนักงานได้เป็นตัวเอง ครอบคลุมทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว

เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความพร้อมและให้อิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่าน My Learning Hub และ Employee Assistant Program โดยบริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานตีความและออกแบบกิจกรรมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย SOCIETY 2030 : SPIRIT OF PROGRESSทั้ง 3 ด้านด้วยตนเอง

“โดยการรวมเอาพนักงานจากแผนกต่าง ๆ มาจัดตั้งเป็นทีม Future Force เพื่อเป็นตัวแทนของพนักงานจากทุกฟังก์ชั่นการทำงาน ซึ่งเปิดกว้างต่อความคิดของต่างรุ่น ไม่จำกัดตำแหน่งและความอาวุโส นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีแนวคิดริเริ่มในการสร้างสรรค์โปรแกรม Reverse Mentoring ที่ให้ผู้บริหารจับคู่กับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ (younger generation) เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ลดช่องว่างระหว่างวัยของแต่ละกลุ่ม และขยายวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น”

“ด้วย DIAGEO Flex Philosophy ซึ่งเป็นแนวทางในการบริหารงานของบริษัทที่เคารพในความหลากหลายอย่างแท้จริง จึงมอบอิสระในการมีความคิดสร้างสรรค์ให้แก่พนักงาน พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม รวมถึงเอื้ออำนวยและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของพนักงานอย่างแท้จริง ปรัชญาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนในการทำงาน”

“โดยดิอาจิโอฯให้อิสระพนักงานในการบริหารจัดการเวลาทำงานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน หรือเข้างานตามเวลาทำการ (office hours) เพียงสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ตามเวลาที่กำหนด ส่วนด้านสวัสดิการบริษัทวางแผนต่อยอดในอนาคตอันใกล้ให้พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของตนเองได้ สอดคล้องกับปรัชญาหลักของบริษัท Celebrating Life, Every Day, Everywhere”

“ทั้งนี้ วัฒนธรรมที่ยอมรับความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กรตอบโจทย์บริบทของสังคมยุคใหม่ที่สอดคล้องกับคนทำงานที่เป็นคนยุคเจน Y และ Z อย่างไรก็ตาม การมีฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้สำเร็จ โดย HR สมัยใหม่ต้องปรับตัว ล้างภาพที่คนส่วนใหญ่มองว่าคือผู้คุมกฎ หรือฝ่ายปกครอง เปลี่ยนมาช่วยสร้างพลัง (empower) ให้พนักงานทุกคน และสื่อสารอย่างเป็นกันเองมากขึ้น”

เสริมทักษะแห่งอนาคต

“รุ่งกานต์” กล่าวด้วยว่า ในด้านการพัฒนาทักษะบริษัทมุ่งเสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตที่จำเป็นให้แก่พนักงานตามความสนใจด้านอาชีพของแต่ละบุคคล ทั้งยังผลักดันทักษะที่มีความหลากหลายและการมีส่วนร่วมภายนอกองค์กรด้วย เช่น จัดการอบรมทักษะให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบริการจำนวน 15,000 คนผ่านโครงการ Learning for Life ภายในปี 2573 โดยครอบคลุมนักศึกษาผู้ประกอบอาชีพการท่องเที่ยวและการบริการ

“ในปี 2563 เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทจึงขยายการฝึกอบรมมาสู่บุคลากรในสายอาชีพการบริการที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการต้องออกจากงาน หรือหยุดงานชั่วคราว รวมถึงคนในชุมชน บุคคลที่มีความจำเป็น และกลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคม เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น”

“นอกจากนั้น เราสนับสนุนอุตสาหกรรมการบริการของไทยด้วยการจัดอบรมทักษะสำหรับบาร์เทนเดอร์ผ่าน Diageo Bar Academy ซึ่งรวมถึงการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบในสังคม และการรับมือสถานการณ์ที่ท้าทายขณะทำงานในสายอาชีพดังกล่าว”

นับว่าแนวทางการบริหารบุคคลของดิอาจิโอฯทั้งหมดนี้ สะท้อนออกมาได้สอดคล้องกับยุคสมัยเป็นอย่างดี