หลักการ “ไร้กาลเวลา”

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ 
[email protected]

ในการปรับตัวให้เข้ากับอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงและการทรานส์ฟอร์ม องค์กรจำเป็นต้องปรับอัตราเร่งในการพัฒนา และยกระดับขีดความสามารถ ทบทวนกระบวนการพัฒนาทาเลนต์ ผู้นำและผู้สืบทอด (successors) ในระดับต่าง ๆ รวมทั้งสร้างความสอดประสานระหว่างกระบวนการพัฒนาผู้นำกับกลยุทธ์ และเป้าหมายของธุรกิจ แทนที่จะพัฒนาไปโดยอิงตามสมรรถนะ (competencies) แต่เพียงลำพังตามรูปแบบเดิม ๆ

การปฏิรูปและการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในทุกมิติ ได้ทำให้เกิดช่องว่างที่ห่างกว้างขึ้นอย่างมหาศาลในการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรให้ทันกับความเร็ว และความจำเป็นในการสนองตอบหรือนำหน้าความต้องการในตลาด การพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของคนในองค์กรจำเป็นต้องอาศัยวิสัยทัศน์ในระยะยาว ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคน ความอดทน ความมุ่งมั่น และความพยายามอย่างต่อเนื่อง

เครื่องมือหรือ framework ที่มีประสิทธิภาพและพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลจริงกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อไม่ต้องมาลองผิดลองถูก รวมทั้งความสามารถในการออกแบบกระบวนการพัฒนาในรูปแบบของ “learning in the flow of works” ที่ทำให้ผู้บริหารหรือพนักงานสามารถบูรณาการการเรียนรู้เข้าไปกับการทำงานจริง เพื่อให้สามารถสร้างผลลัพธ์หรือผลงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่องค์กรหรือหน่วยธุรกิจกำลังให้ความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน พร้อม ๆ ไปกับการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ (accountability) กับการเรียนรู้ของตนเอง หรือสามารถ “สเกล” การพัฒนาไปสู่คนจำนวนมากขึ้นในองค์กร ด้วยเวลาและงบประมาณที่ลดลง และสามารถเก็บข้อมูลเพื่อนำมาติดตามและวัดผลได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันคงต้องยอมรับว่าพวกเราหลายคนต่างตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและงานที่ทำที่จะต้องทั้ง “deliver results” และในขณะเดียวกันต้องพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของตัวเอง หรือพูดง่าย ๆ คือต้อง “เก่งขึ้น” ด้วย

ในโลกแห่ง “สปีด” ที่ทำให้การทำดีเท่าเดิม คือความล้าหลัง

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการพัฒนาทาเลนต์ ผู้นำ และผู้บริหารรุ่นใหม่ในองค์กร (talent, successors & leadership pipeline) นั้น จากประสบการณ์ที่แพคริมได้มีส่วนร่วมในการเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาผู้นำให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1 ล้านคนในช่วงเวลา 29 ปีที่ผ่านมา ดิฉันอยากแบ่งปันข้อคิดและข้อสังเกต 3 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้

1.ช้าคือเร็ว เร็วคือช้า

“ดร.สตีเฟน โควีย์” กูรูด้านลีดเดอร์ชิป ผู้ก่อตั้ง FranklinCovey และอาจารย์ที่ดิฉันเคารพรักที่สุด เคยกล่าวไว้ว่าในเรื่องของคนนั้นบางครั้ง “Fast is slow., Slow is fast.” เพราะในการสร้างคน หรือการพัฒนาผู้นำนั้นไม่มีเส้นทางลัด อย่าลืมว่าคนคือสิ่งมีชีวิตการจะจัดการกับคนนั้น เราไม่สามารถเอาไมนด์เซตที่เราใช้กับเครื่องจักรหรือวัตถุมาใช้ได้

การจะเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดหรือพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความอดทน ต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนว่าสามารถพัฒนาได้ด้วยไมนด์เซตของชาวสวน (gardener’s mindset) ที่เชื่อว่าการพัฒนาคือกระบวนการที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหากเราหมั่นรดน้ำ พรวนดินใส่ปุ๋ย เขาก็จะเติบโต งอกงามได้ แม้การเติบโตจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เราอาจจะมองไม่เห็นโมเมนต์ในขณะที่เขากำลังเติบโต แต่เรารู้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราจะพบว่าเขามีการเจริญเติบโต งอกงามขึ้นอย่างแน่นอน

2.เน้นการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง (Build Complementary Teams) มากกว่าการพัฒนาคนเก่งเพียงไม่กี่คน

แน่นอนว่าการพัฒนาผู้ที่จะกุมชะตากรรมขององค์กรในปัจจุบัน และต่อไปในอนาคตเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคนี้การมองในมิติของการสร้างผู้นำเพียงไม่กี่คนให้เก่งอาจยังไม่เพียงพอ เช่น หากพวกเขาไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม หรือสามารถจุดประกายสติ ปัญญา ความสามารถของบุคคลอื่นในองค์กรได้ เพราะโจทย์และเงื่อนไขของธุรกิจในวันนี้มีความยุ่งยาก ซับซ้อนมากเสียจนทำให้ความพยายามสร้างผู้นำที่สมบูรณ์แบบไว้ในคนคนเดียว น่าจะเป็นเรื่องยาก

ความสามารถในการสร้างทีมผู้บริหารที่สามารถประสานความแตกต่าง เสริมจุดอ่อนจุดแข็ง มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน รู้เท่าทันตนเอง ถ่อมตน เปิดรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และช่วยเหลือกันและกันให้สามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างรวดเร็วคือขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญขององค์กรในวันนี้

3.หลักการของความเป็นผู้นำนั้นไร้กาลเวลาและเป็นสากล (Timeless & Universal)

สุดท้ายนี้ดิฉันอยากฝากเป็นข้อคิดว่าแม้ในยุคดิจิทัล เรายังเชื่อว่าคนคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดขององค์กร และเรายังจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีความสามารถในการนำและปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ในองค์กร

ปัจจุบันเราจะได้ยินทฤษฎีหรือแนวคิดใหม่ ๆ มากมายเกี่ยวกับการพัฒนาผู้นำ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเป็นคล้ายแฟชั่นที่มาให้ฮือฮากันเพียงไม่นานแล้วก็ไป แต่แท้จริงแล้วหลักการในเรื่องของผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลาและเป็นสากล (timeless & universal)

การจะเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิผลจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิธีการในการเข้าถึงตัวตนของบุคคลอื่นได้ในทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และวิญญาณ (body, mind, heart & spirit) ซึ่งเป็นขีดความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ไม่เคยเปลี่ยน แล้วเราจะพบว่ายังมีโอกาสมหาศาลในการยกระดับและปลดปล่อยศักยภาพในการสร้างผลลัพธ์ของคน

หากผู้อ่าน “ประชาชาติธุรกิจ” ท่านใดสนใจอยากรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร framework หรือโซลูชั่นด้านการพัฒนาผู้นำ ทีมงาน วัฒนธรรมองค์กร การขาย การสื่อสาร การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการทรานส์ฟอร์มองค์กร ฯลฯ จาก “แพคริม” FranklinCovey สามารถคลิกเข้าชมได้ที่ www.pacrimgroup.com หรือติดต่อคุณเบ็ญจวรรณ์ งามระลึก โทร.08-3495-6915 อีเมล์ : [email protected]