ภาคเอกชนกรีธาทัพ ระดมใจ “อุ้มชาติ” สู้มหันตภัยโควิด

โรงพยาบาลสนาม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ถือว่าหนักกว่ารอบที่ผ่านมาหลายเท่า เนื่องจากต้นตอของการระบาดมาจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงหลายแห่ง ซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยง แออัด ขณะเดียวกัน ผลตรวจเบื้องต้นของผู้ติดเชื้อรอบนี้พบว่าเป็นสายพันธุ์อังกฤษกว่า 98%

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานเพิ่มเติมว่าความน่ากลัวของสายพันธุ์นี้คือระบาดได้รวดเร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า หากติดเชื้อจะแสดงอาการป่วยน้อยมากจนถึงไม่แสดงอาการเลย จึงทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากถึงวันละ 2 พันกว่าคน

กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานหนักมากขึ้น ทั้งยังเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาเตียง และอุปกรณ์ป้องกันมีไม่เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาคเอกชนหลายแห่งต่างมาผนึกกำลังกันอีกครั้ง หลังจากสู้รบกันมาตั้งแต่ระลอกแรกในปี 2563 เพื่อช่วยพาประเทศฝ่าวิกฤต ซึ่งนอกจากจะต้องปรับแผนธุรกิจของบริษัท ยังจะต้องปรับแผนการทำงานขององค์กรด้วย เพื่อนำศักยภาพทั้งหมดที่มีมาช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง

เครือ ซี.พี.รวมพลังสู้โควิด

ขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. เตรียมงบ 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลหลายแห่ง ครอบคลุมอาหารเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยทุกบริษัทในเครือต่างมาช่วยผนึกกำลัง โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่น ๆ

“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินธุรกิจอยู่บนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลา 100 ปี จึงตระหนักดีว่านี่คืออีกสถานการณ์ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์จะต้องเข้ามาช่วยเหลือ จึงร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโควิด พร้อมกันนี้จะจัดส่งอาหารครบ 3 มื้อ ให้กับโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมถึงฮอสพิเทลอีก 4 แห่งในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

“หากรัฐบาลเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานจะถือว่าเป็นการลดภาระภาครัฐ โดยเอกชนออกค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดหาวัคซีนสำหรับพนักงาน ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องคนไทยจะก้าวผ่านวิกฤตโควิดได้อย่างปลอดภัย”

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเดินหน้าโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจร่วมต้านภัยโควิด-19” แก่โรงพยาบาลสนาม เพื่อเป็นกำลังเสริมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครที่เสียสละให้เข้าถึงอาหารคุณภาพปลอดภัยอย่างเพียงพอ โดยล่าสุดร่วมกับบริษัท ซีพีอินเตอร์เทรด จำกัด ในเครือ ซี.พี. นำผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน 2,800 แพ็ก และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและขนม ส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว

ขณะที่ซีพี ออลล์ ได้สานต่อโครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อตั้งเมื่อปี 2563 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับแพทย์ พยาบาล พี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ โดยนำเงิน 82 ล้านบาท จากโครงการลดวันละถุง…คุณทำได้ จัดซื้อชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment หรือ PPE) พร้อมด้วยแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมอบให้กับ 77 โรงพยาบาลใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

“ธานินทร์ บูรณมานิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่นอีเลฟเว่น และเซเว่นดีลิเวอรี่ กล่าวว่า โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ดำเนินเข้าสู่เฟส 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ซีพี ออลล์ ยังคงเดินหน้าโครงการด้วยการส่งมอบครุภัณฑ์ทางการแพทย์, หน้ากากอนามัย, แอลกอฮอล์ทำความสะอาด, เครื่องวัดอุณหภูมิ, น้ำดื่ม อาหาร เบเกอรี่ ฯลฯ รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับโรงพยาบาล, หน่วยงานราชการ, วัด, ภาคประชาสังคม และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรวมเป็นเงินกว่า 57 ล้านบาท

“ล่าสุดมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลสนามใน 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น เป็นต้น”

“พร้อมประสานความร่วมมือผ่านทางมหาเถรสมาคมเพื่อถวายเครื่องวัดอุณหภูมิและแอลกอฮอล์ทำความสะอาดให้กับวัดในกรุงเทพมหานครจำนวน 8 แห่ง เพื่อนำไปส่งต่อให้กับวัดในเครือข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัดต่อไป และทยอยส่งมอบเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ”

เอสซีจีมอบเตียงสนามกระดาษ

ขณะที่ “เอสซีจี” สนับสนุนการทำงานของบุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ที่โควิดระบาดรอบแรกในปี 2563 เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ได้แก่ แคปซูลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ, ห้องตรวจเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ สำหรับล่าสุด เอสซีจีนำเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี (SCGP Paper Field Hospital Bed) ที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล 100% ส่งมอบให้กับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง

ที่สำคัญ เตียงสนามกระดาษออกแบบตามหลักการยศาสตร์ เพื่อรองรับการใช้งานของสรีระของคนเอเชีย น้ำหนักเบา ประหยัดพื้นที่ขนส่ง ทั้งยังประกอบง่ายภายใน 8 นาที โดยไม่ต้องใช้กาว แถมยังใช้ได้นาน 3 เดือน หากไม่โดนน้ำ และรับน้ำหนักได้ถึง 100 กิโลกรัมในแนวราบ ทั้งนี้ มีการส่งมอบให้แก่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามกว่า 4,000 ชุด และมีกำหนดจะส่งมอบต่อเนื่องอีก 8,000 ชุด

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า แม้เอสซีจีจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเหมือนอย่างธุรกิจท่องเที่ยว และสายการบิน ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเหตุการณ์มีความไม่แน่นอนสูง และเตรียมแผนการรองรับได้ทันท่วงที โดยเฉพาะในช่วงที่พยายามประคองธุรกิจ ลดต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย เตียงสนามกระดาษจึงน่าจะตอบโจทย์ที่สุด

โลตัสหนุนอาหาร รพ.สนาม

สำหรับโลตัส ขณะนี้มีความร่วมมือกับเอสซีจี ด้วยการเชิญชวนลูกค้า และประชาชนนำกล่องและลังกระดาษที่ไม่ใช้แล้วมาบริจาคที่จุดรับกล่องกระดาษในโลตัส ไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อนำกล่องที่ได้รับบริจาคไปรีไซเคิลเป็นเตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี และที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 9-19 เม.ย. ก็ได้มอบน้ำดื่ม อาหารแห้ง และอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เจลแอลกอฮอล์ให้กับหน่วยงานและชุมชนเกือบ 200 แห่ง

“สมพงษ์ รุ่งนิรัตติศัย” ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า โลตัสตั้งพันธกิจเอาไว้ 3 ข้อ คือ

หนึ่ง ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า และเพื่อนพนักงาน

สอง มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ จำหน่ายในราคายุติธรรม

สาม สนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด

“ไวรัสระลอกล่าสุดมีความรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ทำให้ในหลายจังหวัดมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วย โลตัสจึงบริจาคอาหาร และของใช้ที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม 13 แห่ง”

ได้แก่ โรงพยาบาลสนามจังหวัดภูเก็ต, โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ ศูนย์ประชุมนานาชาติ 700 ปี, โรงพยาบาลสนามจอมทอง และโรงพยาบาลสนามอำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่, โรงพยาบาลสนามขอนแก่น, โรงพยาบาลสนามค่ายธนะรัชต์, โรงพยาบาลสนามโคราช, โรงพยาบาลสนามพิษณุโลก, โรงพยาบาลสนามอุบลราชธานี, โรงพยาบาลสนามระยอง, โรงพยาบาลสนามอุดรธานี, โรงพยาบาลสนามสมุทรปราการ และโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยพะเยา

“ทั้งนี้ โลตัสยังจะเดินหน้าขยายการสนับสนุนเพิ่มเติมในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นในอนาคต เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงน้ำดื่ม อาหารแห้งของใช้ และอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็นต่อไป นอกเหนือจากโรงพยาบาลสนามแล้ว โลตัสยังบริจาคน้ำดื่ม และของใช้ต่าง ๆ ให้กับโรงพยาบาลอีก 33 แห่ง และศูนย์คัดกรองและด่านตรวจ 138 แห่ง รวมถึงชุมชนใกล้เคียงสาขาด้วย”

“นอกเหนือจากการบริจาคสิ่งของยังมีการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย และเกษตรกรด้วยการรับซื้อสินค้ามาจำหน่ายในสาขา และการให้ทุนประกอบอาชีพกับกลุ่มเปราะบาง อาทิ แม่เลี้ยงเดี่ยว พร้อม ๆ กันนั้นยังนำรายได้จากการจำหน่ายถุงคืนชีพ หรือถุงพลาสติกแบบใช้ซ้ำมามอบให้อีก ทุนละ 30,000 บาท โดยผู้รับทุนสามารถใช้เงินจำนวนนี้จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงวัตถุดิบในการเริ่มต้นอาชีพค้าขายเพื่อสร้างรายได้เสริม”

ไทวัสดุมอบเจลแอลกอฮอล์

บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง และสินค้าตกแต่งบ้าน ภายใต้แบรนด์ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอนด์ วีฟิกซ์ และออโต้วัน ได้จัดโครงการ “พลังเจล พลังใจ” เพื่อทำการรวบรวมยอดแอลกอฮอล์ผ่านกิจกรรมทางการขายช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ของไทวัสดุ รวมจำนวน 3 ล้านมิลลิลิตร ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

“สุทธิสาร จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า โครงการพลังเจล พลังใจ จากไทวัสดุ เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ได้ดำเนินการรวบรวมยอดบริจาคแอลกอฮอล์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ ผ่านทางยอดซื้อของลูกค้าที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม

“ทุกใบเสร็จที่มียอดซื้อ 5,000 บาทขึ้นไป ไทวัสดุร่วมบริจาคแอลกอฮอล์จำนวน 100 มล. รวมไปถึงการลดราคาสินค้าประเภทแอลกอฮอล์เจลลง 50% เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อแอลกอฮอล์ และนำมาร่วมบริจาคได้ที่กล่องรับบริจาคของไทวัสดุทั้ง 57 สาขาทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมออนไลน์ โดยให้ผู้สนใจร่วมบริจาคแอลกอฮอล์ผ่านการกดไลก์กดแชร์บนโซเชียลมีเดีย”

“ตอนนี้ดำเนินการส่งมอบแอลกอฮอล์ไปแล้วทั้งหมด 3 ล้านมิลลิลิตร ให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนหนึ่งจะนำไปกระจายต่อให้แก่โรงพยาบาล และสถานีอนามัย ในพื้นที่ตั้งสาขาของไทวัสดุ หรือพื้นที่ใกล้เคียง”

AIS ใช้ 5G หนุนสาธารณสุข

กล่าวกันว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 “เอไอเอส” ยังคงเดินหน้าใช้ 5G ช่วยเหลือภาคสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ปี 2563 ผ่าน 4 แกนหลัก ได้แก่

หนึ่ง ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G, 4G, Free WiFi ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียงทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ และช่วยให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ

สอง ร่วมแพลตฟอร์ม “Me-More” ในการทำระบบแพทย์ทางไกล ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์

สาม AI อัจฉริยะ โดยร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย คือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำ AI CT Scan ปอด เข้ามาให้บริการ


สี่ แอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ช่วย อสม.ในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของโควิด ปัจจุบันมี อสม.มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งานอยู่