ความยั่งยืน ในวิกฤตโควิด-19

คอลัมน์ CSR Talk
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด แต่การขับเคลื่อนความยั่งยืนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเป็นปีสำคัญสำหรับการหารือเรื่องความยั่งยืนในระดับโลก ซึ่งจะมีการประชุมสำคัญเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เช่น การประชุม Leaders’ Summit ประจำปีแบบออนไลน์ของ UN Global Compact ในเดือนมิถุนายน

การประชุม UN World Food Systems Summit ในเดือนกันยายนที่นครนิวยอร์ก และการประชุม COP26 ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายนที่สกอตแลนด์ เป็นต้น

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ในฐานะเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวและพัฒนาการความยั่งยืนในระดับโลกมาเผยแพร่แก่องค์กรสมาชิกและผู้สนใจในประเทศไทยแล้ว ยังเตรียมการจัดประชุมประจำปี

ด้านผู้นำความยั่งยืนของสมาคม หรือ GCNT Forum 2021 ในเดือนสิงหาคม พร้อมทั้งประกาศจับมือ 67 องค์กรสมาชิกร่วมมือกับทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วย 5 แผนยุทธศาสตร์ของสมาคมในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างความตระหนักรู้และความโปร่งใส (awareness and transparency) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ การวัดผลการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และความโปร่งใส อาทิ ร่วมมือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสามารถรายงานข้อมูลตัวชี้วัด 2 ตัวที่สำคัญ ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสิทธิมนุษยชน ในการจัดทำรายงานแบบ one report ได้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ รวมถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลให้รายงานข้อมูลด้านอื่นด้วย อาทิ การกำจัดขยะ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืน (market engagement) ร่วมกับองค์กรสมาชิกและพันธมิตร สร้างเนื้อหาที่สร้างความตระหนักถึงแนวทางการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมผ่านเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก

โดยยึดตามหลักของ UN Global Compact และส่งเสริมการเรียนรู้แบบ action learning อาทิ การแบ่งปันประสบการณ์การทำงานตาม SDGs 17 ข้อให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ และผู้สนใจผ่านทางรายการ SDGs Talk เผยแพร่ทาง social media การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างผู้นำยุคใหม่ในทุกระดับ (leadership) ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงผู้นำรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณผลประโยชน์ขององค์กร โดยร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสาธิตกระบวนการออกแบบหมุนเวียน หรือ “circular design” ให้ทั้งภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ

อนาคตจะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา เพื่อขยายผลไปยังคนรุ่นใหม่ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การยกย่องบุคคลที่ทำงานด้านความยั่งยืน (empowerment & recognition) เพื่อเป็นตัวอย่างในการสร้างแรงจูงใจ และเพิ่มพลังให้ผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนความยั่งยืน เปิดโอกาสให้ผู้ทำงานด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรนำเสนอทางออกในการแก้ไขประเด็นสังคมด้านต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมที่มีผลเป็นรูปธรรม

และนำเสนอผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อยกย่องผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในงาน “SDGs Pioneer” ระดับโลก

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การใช้เทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม (technology and innovation) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ อาทิ เรื่องของการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) การจัดการขยะ และการนำกลับมาใช้ใหม่ (waste and recycle) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมเป็นศูนย์ (carbon neutral)

โดยสมาคมจะร่วมขับเคลื่อนด้านกฎระเบียบและแรงจูงใจร่วมกับภาครัฐ รวมทั้งสื่อสารให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภคเพื่อลดการใช้ทรัพยากร

ทั้งนี้ “นายศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการสมาคมครั้งนี้ว่า ในวิกฤตนั้นมีโอกาสอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมหรืออุตสาหกรรมใหม่

โดยในช่วงโควิด-19 อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เติบโต คือ เทคโนโลยี ดิจิทัลอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ และธุรกิจสุขภาพ แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้แม้เป็นช่วงที่แย่ที่สุด และหลายธุรกิจยังเติบโตได้ดีกว่าเดิม

พร้อมย้ำถึงเรื่องที่ใหญ่กว่าโควิด-19 และยังจะอยู่ต่อไปเมื่อโควิด-19 ผ่านไปแล้ว เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำ การละเมิดสิทธิมนุษยชนความยากจน การทุจริต ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของสมาคมที่ต้องผนึกกำลังภาคเอกชน ใช้วิสัยทัศน์มองไปข้างหน้า และร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว


โดย “นายศุภชัย” กล่าวทิ้งท้ายว่า…วิกฤตโควิด-19 ได้สอนบทเรียนให้กับภาคธุรกิจหลายประการ ทำให้ได้เรียนรู้การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส และมีวิสัยทัศน์ กล้าลงทุน ซึ่งความพยายามที่จะเสาะหาโอกาสและ pain points ต่าง ๆ จะส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น พวกเราในฐานะผู้ประกอบการก็ควรจะมองเห็นปัญหาได้ก่อน รู้ก่อน และแก้ปัญหาก่อน