มนุษย์ AI เนื้อหอม แห่จองตัวนักศึกษา การันตีมีงานทำ

ขยล ตันติชาติวัฒน์
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY

กลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ทั้งยังแทรกตัวอยู่ในการใช้ชีวิตของผู้คน หรือที่เรียกว่า disruption มาเร็วจนทุกคนไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น เมื่อดิจิทัลกลายเป็นที่ต้องการของตลาดงาน แต่จำนวนผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “artificial intelligence AI” กลับขาดแคลน เนื่องจาก AI เป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินผล พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์เชิงลึก

ฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบกับมนุษย์แล้ว “AI” ก็คือ “มันสมอง” ของกระบวนการในการทำงานนั่นเอง โดยเฉพาะกับงานที่เกี่ยวข้องกับงานไอทีทั้งระบบ เพราะดั่งที่ทราบกัน บุคลากรในสายงานไอทีค่อนข้างขาดแคลนคนทำงานในส่วนนี้

“ขยล ตันติชาติวัฒน์” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY ระบุว่าต้องยอมรับว่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ขณะนี้ ถูกแย่งตัวกันวุ่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สตาร์ตอัตราเงินเดือนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสายงานอันดับ 1 ที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุด

“เดิมทีผู้ประกอบการในไทยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาก่อน แต่ไม่ได้มีการคิดค้นที่จะสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเอง ทำให้ภาพของตลาดงานด้าน AI ขาดแคลนอย่างหนัก ที่สำคัญคนไทยที่มีความเชี่ยวชาญ ต่างถูกองค์กรใหญ่จองตัวไปร่วมทำงานแล้วแทบทั้งสิ้น”

“สำหรับบริษัท สกาย ไอซีทีก็เช่นกันภายหลังจากที่บริษัทเริ่มธุรกิจด้านดิจิทัล โดยเริ่มต้นรับงานภาครัฐเท่านั้นคือระบบกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยพ่วงด้วยระบบประเมินผลเพื่อคัดกรองตามคำสั่งเบื้องต้น เครื่องสแกนอุณหภูมิร่างกายให้กับสนามบินต่าง ๆ จนกระทั่งเตรียมที่จะขยายตลาดมาสู่ภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้เห็นการขาดแคลนบุคลากรทางด้าน AI ได้อย่างชัดเจน”

ผลตรงนี้ จึงทำให้ “ขยล” มีแนวคิดที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนรู้ และพัฒนาด้าน AI อย่างมืออาชีพ หรือเมื่อจบการศึกษาแล้วก็สามารถเข้าทำงานกับบริษัท สกาย ไอซีทีได้ทันที อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของบุคลากรทางด้าน AI ในปัจจุบันคือผู้ที่เข้ามาดูแลข้อมูล พร้อมกับประเมินผลได้เพราะในปัจจุบันเกิด platform ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในระบบการขนส่ง รวมถึงการใช้ social media เช่น ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก

“สกาย ไอซีทีได้รวมทีมด้าน data science และเริ่ม recruit คนที่พอจะทำงานทางด้าน AI ได้ เพราะปัจจุบันบุคลากรด้าน AI ไม่ได้มาจากด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ แต่หาคนที่มีความเทียบเคียงเท่านั้น แต่เราสามารถนำคนที่คัดเลือกเข้ามาฝึกและอบรมได้ เพราะเราเล็งเห็นว่าต้องสร้างคนให้มีความรู้ก่อน จึงเกิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนเป็นรายแรก และตอนนี้อยู่ในระหว่างการขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ด้วย”

“ขยล” อธิบายต่อว่าในเมื่อยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI โดยเฉพาะ เราจึงเชิญตัวแทนคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 40 คน เข้ารับการอบรมกันตั้งแต่คำว่า AI ในปัจจุบันนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ? การพัฒนาด้าน AI ในตลาดโลกเป็นอย่างไร ? และการอบรมด้าน AI มีระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน โดยคณาจารย์ทั้ง 40 คนจะเป็นเสมือน “ตัวกลาง” เพื่อเชื่อมโยงความรู้ด้าน AI ไปยังบุคลากรอื่น ๆ ต่อไปได้อีก 120 คน และ 400 คน ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ส่วนการขยายความร่วมมือไปยังสถาบันการศึกษาต่าง ๆ นั้น “ขยล” บอกว่าตอนนี้เตรียมหารือร่วมกับอีก 6 มหาวิทยาลัยเป้าหมายคือ

1) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

3) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

4) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล.

และ 5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. เพื่อร่วมกันเตรียมความพร้อม สร้างความเชี่ยวชาญด้าน AI ก่อนจะลงสู่ตลาดงาน โดยเพิ่มความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ จาก big data หรือที่เรียกว่า “data analytics” อีกทางหนึ่งด้วย

“การพัฒนา AI ขึ้นมาใช้นั้น อาจส่งผลให้มีการจ้างงานบางประเภทลดลง แต่ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยคุ้มค่า เนื่องจากการทำงานของ AI เช่น ระบบกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยของหมู่บ้าน จากเดิมที่เคยใช้พนักงานเฝ้าเวรยาม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ แต่เมื่อมาใช้กล้องวงจรปิด บวกกับ AI มาช่วยจับภาพ และวิเคราห์ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น AI ก็จะแสดงภาพทั้งหมด จนทำให้เจ้าหน้าที่ไปยังที่เกิดเหตุเพื่อลดความสูญเสียได้”

“ตอนนี้เราเริ่ม roadshow ไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่่อชี้ให้เห็นถึงทิศทางของธุรกิจนี้ว่ามีการขยายตัวอย่างมาก ที่สำคัญ เรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม”

ดังนั้น เมื่อย้อนถามถึงการตัดสินใจในการเข้ามาของตลาดนี้คืออะไร ?

“ขยล” จึงบอกว่าดิจิทัลมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ไม่ใช่แค่เพียงระบบรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเตรียมเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” อย่างเต็มรูปแบบ แค่เพียงขั้นตอนการออกแบบบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุ จะเห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานที่หลากหลายตามการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด และยิ่งถ้ามีการใส่สมอง AI ให้กับกล้องได้ด้วย ก็ยิ่งจะสามารถวิเคราะห์และประเมินผลว่าผู้สูงวัยมีไลฟ์สไตล์เป็นอย่างไรด้วย

“ยกตัวอย่าง ถ้ากิจกรรมในแต่ละวันที่กล้องวงจรปิดเคยจับได้ แต่เมื่อพฤติกรรมของผู้สูงวัยหายไป ระบบจะประเมินผลว่าพบความผิดปกติ พร้อมกับส่งสัญญาณไปยังคนอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบว่าผู้สูงอายุคนดังกล่าวไปไหนไม่สบาย หรือปลอดภัยหรือไม่ทันที ทั้งนั้นเพราะ AI มีเทคโนโลยีบางตัวที่สามารถประมวลผลได้ภายใน 5 นาที สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

“รวมถึงตลาดที่มีความน่าสนใจที่อาจกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของสกายไอซีทีคือโครงการ smart city ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาสร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต มีความปลอดภัย และลดการใช้พลังงาน เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้ชีวิตในอนาคต”

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย