ภารกิจ อว.สู้ภัยโควิด สร้างอาชีพ-ผลักสินค้าชุมชนยั่งยืน

ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล
ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

การสร้างคนเคยเป็นหน้าที่สำคัญของสถาบันการศึกษาทุกระดับ แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกถูกล้อมด้วยโควิด-19 นอกจากจะเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศแล้ว ยังตามมาด้วยปัญหาปากท้องของประชาชนในทุกระดับที่ต่างได้รับผลกระทบคือจำนวน “คนตกงาน” มากขึ้น ผลเช่นนี้ จึงทำให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ “อว.” ต้องเพิ่มบทบาทในการสร้างงานให้กับบัณฑิตจบใหม่ในแต่ละปี รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ลงลึกถึงระดับรากหญ้าด้วย

โดยประเด็นดังกล่าว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.ถึงบทบาทใหม่ ที่ต้องสอดประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหามากกว่าการต่างคนต่างทำงาน

สำหรับโจทย์หลักของ อว.ตอนนี้คือเมื่อผลิตบัณฑิตออกมาป้อนตลาดแล้ว ยังต้อง “สร้างงาน” ไว้รองรับท่ามกลางการเลิกจ้าง ตอนนี้มีคนตกงานไม่น้อยกว่า 3 แสนรายในปี 2563 ซึ่งผ่านมา “ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์” บอกว่า รัฐบาลมองเห็นปัญหาว่าการตกงานนอกจากจะทำให้ไม่มีรายได้ ยังทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาด้วย

ฉะนั้น ความจำเป็นในการแก้ปัญหาเบื้องต้นคือต้องทำให้ประชาชนมีงานทำ และมีเงินอยู่ในกระเป๋าพอที่จะตั้งรับกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทีมงานในกระทรวงเรียกภารกิจนี้ว่า “ช่วยประชาชนทำมาหากิน”

เมื่อโจทย์สำคัญคือต้องมีงาน และมีเงินในกระเป๋านั้น อว.จึงมองก่อนว่าศักยภาพของแต่ละสถานที่ หรือแต่ละชุมชนเป็นอย่างไร ทั้งนั้นเพื่อหา “จุดขาย” ก่อนจะจัดโครงการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวง อว.มีโครงการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ เพื่อพัฒนาชุมชนของตัวเองไปแล้วทั่วประเทศโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ ฉะนั้น จึงมีฐานข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าควรโฟกัสไปที่อะไร เช่น สินค้าทางเกษตร หรือสินค้าอื่น ๆ ที่จะนำมาเพิ่มมูลค่ามากกว่าขายเป็นกิโลกรัม

อว.เป็นกระทรวงแห่งการเรียนรู้ โดยมีภารกิจหลักคือการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนวัตกรรมรวมอยู่ด้วย ตรงนี้ถือเป็นการทำงานที่ท้าทาย แต่ทั้งทีมงาน และ “ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการ อว.มีความตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาเร่งด่วนให้กับสังคมไทย

“การช่วยประชาชนทำมาหากินที่ว่าคือไม่เพียงจะให้ความสำคัญกับอาชีพว่าจะสร้างรายได้มากน้อยแค่ไหน ยังมีสิ่งที่มองข้ามกันไปนั่นคือสินค้าที่จะขายคืออะไร และ mindset ก็สำคัญตรงที่ว่าผู้ขายจะเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อย่างไร”

“ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์” ขยายความว่าการช่วยคนทำมาหากิน จะต้องเกิดจากการตั้งคำถามว่าจะหาเงินเข้ากระเป๋าของประชาชนอย่างไร ซึ่งคำถามนี้สอดคล้องกับโครงการของภาครัฐในหลายโครงการ แต่ภาพรวมจะต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องของ BCG model หรือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมขับเคลื่อนไปพร้อมกันคือ

1) เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรแล้วนำไปเพิ่มมูลค่า

2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) หรือการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และ 3) เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) โดยในส่วนนี้ อว.ได้มีโครงการที่เริ่มลงมือทำไปแล้ว ด้วยงบประมาณของกระทรวง อว.

จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาความร่วมมือกับมูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ 4 หน่วยงานของกระทรวง อว. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), กรมวิทยาศาสตร์บริการ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายแห่ง โดยหน้าที่ของมูลนิธิ ณภาฯ จะเข้ามาช่วยในการสร้างแบรนด์ ทำตลาด และเสริมในสิ่งที่ อว.ยังขาดแคลนอยู่

ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะทำหน้าที่นำความรู้สู่ชุมชน ส่วนด้าน วว. และกรมวิทยาศาสตร์บริการจะนำงานวิจัยของหน่วยงานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างโครงการสกัดน้ำหอมจากดอกบัวแดงที่ดำเนินการมาแล้ว

ต่อมาพบว่าไม่สามารถผลิตได้ทั้งปี เนื่องจากดอกบัวแดงจะบานเพียงไม่กี่ฤดู จนทำให้ผลผลิตอาจขาดช่วง ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง อว.ในการคิดค้นวิจัยถึงความเป็นไปได้ที่จะผลิตดอกบัวแดงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะนอกจากจะผลิตเป็นน้ำหอมแล้ว ยังผลิตเป็นเครื่องสำอางได้อีกด้วย

ทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าวนี้ มูลนิธิณภาฯยังเตรียมขยายเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาในรูปของสารสกัดไปยังสินค้าอื่น ๆ ด้วย เพราะดอกไม้ในประเทศไม่ได้มีเพียงดอกบัวแดง, ดอกมะลิ และตะไคร้เท่านั้น ยังมีดอกไม้อีกหลายชนิดที่จะพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่าได้สูงสุด อย่างเช่นสารสกัดดอกบัวแดงที่มีราคาสูงถึง 1,000 บาทต่อหยดได้

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. (เอนก เหล่าธรรมทัศน์) มองว่าอยากให้มีการผลิตในปริมาณน้อย แต่ได้เงินมาก เราได้ลงพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ และดูแลชุมชนกันตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การวิจัย อย่างดอกบัวแดงมีความพิเศษคือจะบานในบางฤดูเท่านั้น

ฉะนั้น อว.ซึ่งมีหน่วยงานด้านการวิจัย และพัฒนาจะต้องมานั่งคิดวิเคราะห์ และดูว่าจะพิจารณาต่อกันอย่างไรที่จะทำให้ดอกบัวแดงสามารถบานได้หลายช่วงฤดู หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการสกัดก็ต้องดูให้สอดคล้องกับสารสกัด เพราะมีทั้งการสกัดเย็น สกัดร้อน”

“เพราะเดิมทีต้องเสียเงินให้กับต่างประเทศในเรื่องการบำรุงผิวพรรณ ทั้งน้ำหอม และสารสกัดต่าง ๆ นักวิชาการด้านนี้เคยให้ข้อมูลว่าเมืองไทยอากาศเหมาะกับพืชหลายอย่างที่จะนำมาทำสารสกัด และอื่น ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับกลิ่นซากุระที่สามารถใส่ได้กับทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่ขนม, สบู่อาบน้ำ และอื่น ๆ ความร่วมมือครั้งนี้จึงทำเพื่อออกมาเป็นสารสกัด เพื่อสร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน”

“ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์” ยังบอกอีกว่าทั้ง 4 หน่วยงานที่ร่วมกันพัฒนาสินค้าชุมชนครั้งนี้ จะร่วมกันทำการศึกษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการยึดโยงกับ BCG model เพื่อให้เกิดความร่วมมือ โดยจะมีกรอบระยะเวลาอยู่ที่ 3 ปี สาระสำคัญคือ ศึกษา วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทยตามมาตรฐานสากล เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้กับประเทศไทย โดยผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ที่เล็งเห็นศักยภาพของผู้นำชุมชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตร เช่น การทำปุ๋ยหมักจากกระถินป่า การพัฒนาทักษะด้านการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชน อย่างสมุนไพร รวมทั้งการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์

ตามแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนแต่ละประเภท เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วอแก้ว ที่รวมตัวกันจากทุกหมู่บ้านรวม 55 คน มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นไฮไลต์คือ ข้าวอินทรีย์ ผักเคลหรือผักคะน้าใบหยัก และผักเชียงดา และจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าสินค้าขายได้ลดลง เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูปเป็นของว่าง ส่วนผักเคลหรือผักคะน้าถูกนำมาพัฒนาในรูปแบบของว่างเช่นเดียวกัน เช่น เคลือบแห้ง และน้ำสกัดเคล ขณะที่ผักเชียงดานำมาพัฒนาเป็นชา เป็นต้น

ตามมาด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพอเพียง จากการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านน้ำจัน รวม 30 คน มีผลผลิตขึ้นชื่อคือ น้ำพริกลาบ ชาเชียงดา แต่เนื่องจากสินค้าเกษตรบางประเภทมีการปลูกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ขายได้น้อยลง จึงเป็นหน้าที่ของ อว.และเครือข่ายที่จะร่วมกันแก้ปัญหา

ทั้งหมดนี้คือการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ต่อไปไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์อะไรก็ตาม