คิดแบบผู้นำ “Pfizer”

วัคซีน
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์
พิชญ์พจี สายเชื้อ

วันนี้อยากมาเล่าเรื่อง lesson learnt ในกรณีการพัฒนาวัคซีนของ Pfizer ซึ่งนำมาจากบทความใน Harvard Business Review โดยการถ่ายทอดจาก CEO ของ Pfizer เองโดยตรงคือ “คุณ Albert Bourla” ซึ่งกรณีของ Pfizer ถือว่าประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาวัคซีน ด้วยวิธีการใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน (จากที่เคยใช้เชื้อตายมาเป็นการใช้เชื้อเป็น) และทำสำเร็จได้ในเวลาสั้นมากด้วย (จากหลายปีเป็น 8 เดือน)

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2020 “คุณ Albert” ประกาศท้าทายพนักงาน Pfizer ทุกคน รวมทั้ง partner คนสำคัญที่ร่วมพัฒนาวัคซีนว่าเราต้อง “to make the impossible possible” ด้วยการร่วมกันพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ การพัฒนาวัคซีนหมายความว่า Pfizer ต้องการพัฒนาวัคซีนให้ได้ภายในสิ้นปี 2020 (ปกติการพัฒนาวัคซีนใช้เวลาหลายปี) และในอีกประมาณ 8 เดือนต่อมา พวกเขาก็ทำสำเร็จ

ผลจากการทดสอบร่วมของเฟส 2 และ 3 แสดงผล efficacy rate ที่ 95% หมายความว่าวัคซีน 300 ล้านโดส พร้อมจะนำไปใช้ทั่วโลก ซึ่ง “คุณ Albert” ได้สรุป lesson learnt จากความสำเร็จดังกล่าวไว้ดังนี้

1.ความสำเร็จเกิดจากทำงานเป็นทีมทุกคนใน Pfizer และ BioNTech ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงฝ่ายผลิต ฝ่ายขนส่ง มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีน โดยการทำงานหนัก ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดประจำปี ไม่ได้พบครอบครัวเลย พวกเขาทำงานหนักมากกว่าที่เคยทำมาตลอด ถ้าไม่ได้ความทุ่มเทในการทำงานเป็นทีมของพวกเขา ความสำเร็จนี้จะไม่เกิดเลย

2.การมุ่งเน้นที่ความสำเร็จมากกว่ารายได้ หรือกำไร ความสำเร็จนี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้า Pfizer เน้นที่จะทำรายได้ หรือกำไรก่อนความต้องการในการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จ คุณ Albert เน้นว่าเราต้องมุ่งที่ purpose มากกว่าผลด้านการเงิน purpose ที่จะช่วยสังคมและมนุษยชาติต้องมาก่อนความสำเร็จทางการเงินของบริษัท และทุกคนต้องเห็นด้วยร่วมกันตรงจุดนี้หมายรวมถึงบอร์ดของบริษัทด้วย

3.การตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมาก ๆ หรือเกือบเป็นไปไม่ได้เลย ตอนแรกที่ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาวัคซีนให้ได้สิ้นปี 2020 เหล่านักวิทยาศาสตร์ในบริษัทคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่พวกเขาก็ต้องทำ และสุดท้ายพวกเขาทำสำเร็จใน 8 เดือน หรือเรื่องการขนส่งวัคซีนเป็นล้าน ๆ โดสในอุณหภูมิต่ำกว่า -70 องศาเซลเซียส พวกเขาก็คิดว่าทำไม่ได้ แต่ในที่สุดเขาก็ทำได้ นี่คือการแสดงให้เห็นว่า “การทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้ได้” (to make the impossible possible) ก็เกิดขึ้น

4.เมื่อคุณตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมาก คุณจำเป็นต้อง “คิดนอกกรอบ” ให้มากที่สุด ซึ่งในช่วงการพัฒนาวัคซีน ทีมงานมักเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาด้วยคำพูดที่ว่า ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และนี่คือสิ่งที่เคยทำ “คุณ Albert” ต้องกระตุ้นทีมงานว่า แล้วข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ที่ไม่เคยทำมาล่ะ มีมั้ย คิดสิ ! ต่อมาทีมงานเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม พยายามคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยทำมา และนำเสนอเป็นทางเลือกด้วยเสมอ

5.ความสำเร็จข้อ 5 เกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์ของ Pfizer ไม่ต้องมีความกังวลเรื่องการเงิน และการทำงานเเบบ bureaucracy โดยสิ่งสำคัญคือบอร์ดของบริษัทยอมรับได้ว่านี่คืองานที่มีความเสี่ยงสูง แต่นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่สำคัญมาก บอร์ดยอมให้เราใช้จ่ายเงินตามความต้องการ โดยไม่ต้องกังวลกับกำไร หรือบัดเจตค่าใช้จ่ายเลย นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่เราไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเลย ทำให้เราดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

6.สุดท้ายคือการประสานงานที่ดี และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ตัวอย่างเช่นการประสานงานกับ BioNTech เริ่มตั้งแต่เเรกที่เริ่มวิกฤตทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญากันเลย (สัญญาสรุปเสร็จคือสิ้นปี 2020) เราเริ่มทำงานร่วมกัน แชร์ข้อมูลความลับร่วมกัน ลงเงินร่วมกันตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 เพราะเรารู้ว่าเราต้องการทำอะไร มากกว่าจะสนใจเรื่องเอกสารสัญญาจริง ๆ

“คุณ Albert” สรุปส่งท้ายว่าตลอดระยะเวลาที่เขาทำงานที่ Pfizer มา เขาเห็นทีมงานของเขาได้ทำสิ่งที่ “มหัศจรรย์” ได้เสมอเมื่อได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสม ไม่มีใครรู้หรอกว่าจะทำอะไรได้มากแค่ไหนจนกว่าจะได้รับงานยาก ๆ นั่นมาลองทำจริง ๆ

การพัฒนาวัคซีนนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า “การทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้ได้” มีจริง ถ้าคราวหน้าเรามีงานอะไรยาก ๆ และทีมงานบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมคงต้องบอกให้ย้อนไปดูผลงานที่พวกเราทำในการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิดก่อน

“ถ้าทีมนี้ทำได้ พวกคุณก็ต้องทำได้”