เปลี่ยนขยะในทะเลเป็นเงิน สร้างแบรนด์อีโคอัลฟ์รักษ์ สวล.

ทะเลไทยมีความสวยงามติดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ขณะเดียวกัน ผลสำรวจโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2558 ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกที่มีขยะในทะเลมากที่สุด โดยปัญหาขยะในทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การประมง การเดินเรือ เป็นต้น

ทั้งปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ จึงร่วมกันจัดทำโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยไม่น้อยกว่า 10 ตันในปี 2560

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2017-2019 โดยปีที่ 1 เรามุ่งเน้นการให้ความรู้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งการติดต่อประสานงานพันธมิตรสำหรับการจัดการขยะ ทั้งการเก็บขยะ แยกขยะ และแปรรูปขยะ

“ปีที่ 2 เรามุ่งเน้นการแปรรูปขยะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิต ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปีที่ 3 เราพัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่นที่แปรรูปจากขยะในทะเล โดยมูลนิธิอีโคอัลฟ์จะเข้ามาช่วยในมิติการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ ด้วยการนำไปผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นวางขายได้ ซึ่งเรามีการคุยไว้เบื้องต้นว่าสินค้าที่ผลิตได้จากขยะในทะเลไทย อาจจะมีการต่อชื่อท้ายแบรนด์เดิมของอีโคอัลฟ์ (ECOALF) เป็นอีโคอัลฟ์ ไทยแลนด์”

“พีทีทีจีซีประยุกต์หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน โดยในกระบวนการผลิตของบริษัทเราใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อผลิตภัณฑ์หมดอายุกลายเป็นขยะ จะถูกนำไปแปรรูป และสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไป เราจึงอยากขยายหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้กับกิจกรรม CSR ในรูปแบบ after process”

“ด้วยการร่วมแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และสร้างคุณค่าของขยะให้เกิดมูลค่า และประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ข้อที่ 14 Life Below Water ที่ให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการและอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่ง การป้องกัน และลดมลพิษทางทะเล”

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการ ททท.กล่าวเสริมว่า ปัญหาขยะในทะเลส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้น เราจึงส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ อาทิ การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง การเก็บขยะชายหาด และขยะในทะเล เป็นต้น

“พื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บขยะภายใต้โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้แก่ ฝั่งทะเลตะวันออก (เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง) ฝั่งทะเลอ่าวไทย (เกาะเต่า และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี) และฝั่งทะเลอันดามัน (จังหวัดภูเก็ต) โดยเราเริ่มเก็บขยะพลาสติกในทะเลที่เกาะเสม็ดตั้งแต่เดือนกันยายน 2017 และภูเก็ตในเดือนพฤศจิกายน 2017 ทั้งยังตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยไม่น้อยกว่า 10 ตันในปีนี้”

สำหรับการจัดกิจกรรมเก็บขยะครั้งแรกที่เกาะเสม็ด มีกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะในทะเล และเก็บขยะบริเวณชายหาด พร้อมมอบถังขยะและถุงขยะให้กับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง และจ.ระยอง เพื่อส่งเสริมการทิ้งขยะและการแยกขยะพลาสติก โดยภายในวันนั้นมีนักดำน้ำ 100 คน จากเครือข่ายนักดำน้ำเกาะเสม็ด, นักเรียน ชาวบ้าน และผู้ประกอบการในชุมชน รวม 300 คน, พนักงานพีทีทีจีซี และพนักงาน ททท. รวม 70 คน และจิตอาสาที่สมัครทางเฟซบุ๊กของโครงการ เข้าร่วมเก็บขยะในพื้นที่

“ฮาเวียร์ โกเยนิเช่” ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ กล่าวเสริมว่า เราก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาในปี 2009 เพราะเห็นถึงปัญหาขยะในทะเลที่มีมากขึ้นทุกวัน เราจึงใช้คำนิยามที่ว่าโลกมีเพียงใบเดียว ไม่มีโลกใบที่สอง เป็นแนวทางสร้างความตระหนักให้คนในสังคมช่วยลดปัญหาขยะ

“เมื่อเราช่วยแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นเหตุไม่ได้ เราจึงมาช่วยสร้างมูลค่าให้กับขยะ นำมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์อีโคอัลฟ์ โดยมีการทำโครงการ Upcycling the Oceans ขึ้นครั้งแรกที่ประเทศสเปน ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเรือประมง ให้นำขยะพลาสติกจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาขายให้เรา ซึ่งทุก ๆ วันจะมีชาวประมงเอาขยะขึ้นมาให้เราประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อวัน”

“สำหรับขยะที่เก็บในพื้นที่เป้าหมายในประเทศไทย จะเป็นขยะประเภทพลาสติก ได้แก่ ขยะขวดพลาสติกใสหรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติกทึบ จากนั้นเราจะนำมารีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยที่มีคุณภาพเพื่อจะนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า และของใช้ที่มีรูปแบบตรงใจคนรุ่นใหม่”

ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมจัดการขยะอย่างเป็นระบบในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล รวมถึงพื้นที่ชายฝั่ง และหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง จะช่วยปกป้องรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลไทยให้อุดมสมบูรณ์และสวยงาม