ชู “นวัตกรรม” สู้น้ำท่วม อินทัช-สสน.ช่วยชุมชนบ้านวังยาว

ฝายเก็บกักน้ำกุดชีเฒ่า

ด้วยสภาพพื้นที่ของชุมชนบ้านวังยาว ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เป็นที่ราบลุ่มติดกับแม่น้ำชี ทำให้ทุก ๆ ปีมักประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนไม่น้อยกว่า 4 เดือน จนสร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะนาข้าวของชุมชน

ส่วนในฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมก็ประสบกับสภาวะภัยแล้ง เพราะแหล่งน้ำตื้นเขิน จัดเก็บน้ำได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับขาดการเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละแห่ง จึงทำให้เกษตรกรโดยรอบขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และการทำเกษตรกรรม

จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “อินทัช” ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.เข้ามาช่วยเหลือชุมชนในการบริหารจัดการน้ำ ผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561

เบื้องต้น “รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า อินทัชมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น ภายใต้แนวคิด “คนไทยแข็งแรงประเทศไทยแข็งแรง” ด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชน และชุมชนผ่านโครงการต่าง ๆ

รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

โดยจุดเริ่มต้นโครงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 พร้อมโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักเรียนในโรงเรียนด้อยโอกาสที่โรงเรียนบ้านหนองม่วง อ.โพนทอง, โรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ และชุมชนบ้านวังยาว อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด จนต้องซื้อน้ำดื่มเป็นประจำ ทั้งยังทำให้สิ้นเปลือง

“โครงการจึงสนับสนุนการจัดทำระบบผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบสำรองน้ำจากน้ำฝนให้กับโรงเรียน พร้อมสนับสนุนตู้กดน้ำหยอดเหรียญแก่ชุมชนบ้านวังยาว ให้สามารถมีน้ำบริโภคได้ในราคาประหยัด และเป็นรายได้เสริมแก่โรงเรียนในระยะยาว”

ซึ่งการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตนักเรียนในโรงเรียนด้อยโอกาส ถือเป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่สมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ยุติธรรม ในครั้งนั้นอินทัชร่วมกับสำนักงานรองนายกรัฐมนตรีดำเนินโครงการเป็นปีแรกเริ่มที่โรงเรียนใน จ.น่าน และ จ.เลย ในหลายโรงเรียนด้วยกัน

ชาวบ้านทำประมง

“ส่วนใหญ่สนับสนุนเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการศึกษา ด้วยการนำประสบการณ์ที่ได้จากทั้ง 2 จังหวัดมาขยายผลสู่ จ.ร้อยเอ็ด อย่างที่นี่เขาไม่มั่นใจเรื่องน้ำที่อยู่รอบตัว ทั้งไม่สะอาดต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี แต่พอแล้งก็ไม่มีน้ำเลย อินทัชจึงร่วมกับ สสน. โดยมีตัวอย่างการทำงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำมาแล้วหลายชุมชนทั่วประเทศ”

สำหรับการทำงานครั้งนี้ “อินทัช” ยึดแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง “เรียนรู้ ปฏิบัติ บริหาร วางแผน และพัฒนา” มาใช้โดยมีหลักการต่อไปนี้คือ

หนึ่ง นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาวางแผน พัฒนาและบริหารจัดการ มีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปฏิบัติ และกำหนดกฎกติการ่วมกัน ทำงานด้วยความโปร่งใส มีการติดตาม ประเมินผล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

สอง จัดทำข้อมูลด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาทิ การจัดทำข้อมูลชุมชน แผนที่ และแผนผังแหล่งน้ำ เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนา และบริหารแหล่งน้ำของตนเอง

สาม ปรับวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสังคม จนก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน

ชาวบ้านทำเกษตรทฤษฎีใหม่

“ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์พรรณชาติ” ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) อธิบายแผนดำเนินงานให้ฟังว่า สสน.ส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน

ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์พรรณชาติ
ณรงค์ศักดิ์ พิมพ์พรรณชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการน้ำชุมชน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)

โดยเริ่มแรกจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชนและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือระบุตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS), แผนที่ภูมิศาสตร์ (GIS), ร่วมกับการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ (QGIS) สำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลแหล่งน้ำเป็นฐานข้อมูลของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเรียนรู้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งผ่านแอปพลิเคชั่น เว็บไซต์ เพื่อวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้ในอนาคต

ชาวบ้านใช้เครื่อง GPS ค่าความละเอียดสูง เพื่อวัดระดับความสูงต่ำในพื้นที่

“ขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีการศึกษาดูงานร่วมกับเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน นำมาปรับใช้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่จากนั้นชาวบ้านมาร่วมกันลงมือทำ ด้วยการสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแกนดิน บริเวณคลองที่ชาวบ้านเรียกว่ากุดชีเฒ่า เพื่อกักเก็บสำรองน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังโดยสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 2 เมตร และจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 240,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังขุดลอกคลองไผ่ และสร้างอาคารบังคับน้ำ เสริมท่อลอดเชื่อมต่อคลองไผ่และกุดชีเฒ่า เพื่อเก็บ และผันน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับพื้นที่การเกษตร ระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตร”

อาคารบังคับน้ำเชื่อมต่อกุดชีเฒ่ากับคลองไผ่ 2

“ที่ไม่เพียงจะเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 3,800 ลูกบาศก์เมตร ยังมีการขุดลอกหนองก่ำ เพื่อกั้นแนวเขตเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ไร่ เป็น 6 ไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก และเก็บน้ำในฤดูแล้ง ทำให้มีปริมาตรน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 10,250 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงขุดลอกคลองส่งน้ำเดิม (คลอง อบต.) เป็นคลองดักเพื่อระบายน้ำหลาก และส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรในฤดูแล้ง โดยขุดเป็นระยะทางกว่า 1,500 เมตร และสำรองน้ำได้กว่า 14,000 ลูกบาศก์เมตร”

“การทำงานถือว่าเป็นไปตามระบบเป็นขั้นเป็นตอน เราไม่ได้ยกตัวอย่างสำเร็จรูปจากที่อื่นมาวางที่นี่ แต่ต้องถามชาวบ้านก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร จะแก้ได้อย่างไร มีองค์ความรู้พอหรือไม่ว่าแต่ละพื้นที่มีขนาดเท่าไหร่ เก็บน้ำได้เท่าไหร่ ใช้น้ำได้เท่าไหร่ ต้องการน้ำอีกเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องหาสมดุลน้ำให้ได้ แล้วลงมือทำ พร้อมกับบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อผ่านจุดนี้แล้ว ต้องมองไปถึงเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ในการพัฒนาแหล่งน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ”

“ณรงค์ศักดิ์” กล่าวเพิ่มเติมว่าการทำงานในพื้นที่ชุมชนบ้านวังยาวเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเวลาน้ำท่วมจะท่วมสูงและนาน ฉะนั้น ต้องวางแผนจัดการให้ดีแต่ว่าง่ายที่คน เพราะชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ถ้าแก้ปัญหาเรื่องคนได้ ทุกอย่างไม่มีอะไรยาก แต่ถ้าแก้คนไม่ได้ ต่อให้พื้นที่ง่าย ก็ทำได้ยาก ถ้าประสานงานไม่ดี ก็มีเรื่องของการเสียประโยชน์ได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภายหลังการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2562-2563 ที่ผ่านมาพบว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับคนใน 4 หมู่บ้าน กว่า 1,140 ราย 240 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,300 ไร่ ชุมชนสำรองน้ำในระบบได้มากกว่า 268,000 ลูกบาศก์เมตร

ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่นำไปใช้ได้ 188,491 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 70% จึงทำให้ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 60% และนับตั้งแต่ปี 2564-2565 ยังมีแผนขุดลอกแนวกั้นหนองก่ำ อาคารยกระดับน้ำเชื่อมต่อคลองดักน้ำหลาก และเก็บสำรองน้ำเพิ่มอีก พร้อมวางท่อระบายน้ำหลากลงแม่น้ำชีลัด รวมถึงวางระบบสูบน้ำบนผิวดินเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน

“ทองอินทร์ สารารัตน์” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ประธานบริหารจัดการน้ำชุมชนวังยาว-วังเจริญ กล่าวว่า ชุมชนมีพื้นที่ติดแม่น้ำชี ซึ่งเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชน มีภัยธรรมชาติอยู่ 2 เรื่อง คือ น้ำท่วม และน้ำแล้ง โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมก็ท่วมนานถึง 4 เดือน ส่วนหน้าแล้งก็แล้งจนไม่มีน้ำใช้ แม้ว่าจะอยู่ใกล้แม่น้ำชีก็ตามทำให้การเกษตรกรรมของชุมชนทำรายได้ไม่ค่อยดีนัก รายได้หลักส่วนใหญ่มักมาจากการทำนาปรังเพียงอย่างเดียว

ทองอินทร์ สารารัตน์
ทองอินทร์ สารารัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ประธานบริหารจัดการน้ำชุมชนวังยาว-วังเจริญ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ผมต้องเปิดใจคุยกับอินทัช และ สสน.ตรง ๆ จากนั้น จึงมีการระดมชาวบ้านมาเรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ กับ สสน.ร่วมกันสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ส่วนชาวบ้านก็ยกคันนาปลูกพืชผักเพิ่มขึ้น ประโยชน์ที่ได้หลังจากมีน้ำคือเมื่อก่อนผลผลิตข้าวนาปีมีรายได้ประมาณปีละ 9,600 บาท แต่ในปี 2562-2563 มีรายได้อยู่ที่ 12,000 บาทเพิ่มขึ้น 25%”

“ผักสวนครัวจากเดิมมีรายได้ปีละ 54,000 บาท ตอนนี้เฉลี่ยเป็น 126,000 บาทต่อปี และที่นี่ยังปลูกดอกดาวเรืองขาย ทำรายได้ปีละ 108,000 บาท ปีนี้รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 162,000 บาทต่อปี และการทำประมงพื้นบ้านเดิมได้ปีละ 72,000 บาท ตอนนี้เป็น 144,000 บาทต่อปี มี 7-8 รายทำปลาส้มขายได้ประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน ถึงอย่างนั้นผมมองว่าจะชวนชุมชนต่อยอดด้วยการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องรอศึกษาข้อมูลความรู้เพิ่มเติมว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว