การเงินสีเขียว “HSBC” ตั้งเป้าลดโลกร้อนยั่งยืน

Planet

ขณะที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งเศรษฐกิจ และสุขภาพของคนทั่วโลก จนหลายคนอาจลืมไปว่ายังมีอีกสถานการณ์ที่เป็นปัญหาฉุกเฉินในทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หรือสภาวะโลกร้อน

ถึงแม้ว่า 196 ประเทศจะลงนามใน “ข้อตกลงปารีส” เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส แต่ภายในเวลาเพียง 5 ปี (2559-2563) อุณหภูมิโลกกลับร้อนขึ้นเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตลอดศตวรรษที่ 19 หลายเท่า

ผลกระทบของสภาพอากาศร้อนทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกเริ่มละลาย ทั้งยังหนุนน้ำทะเลให้สูง และร้อนขึ้น จนเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกสี และสัตว์ทะเลเกยตื้น ที่สำคัญ ยังเป็นต้นเหตุของภัยแล้งไฟป่า น้ำท่วม รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นที่รุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น โดยล่าสุด World Economic Forum เปิดเผยการวิเคราะห์ไว้ใน “The Global Risks Report ปี 2564” ว่า 5-10 ปีนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความล้มเหลวในการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงมาก

ดังนั้น ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) องค์กรภาคการเงินและการธนาคาร จึงต้องการเพิ่มบทบาทที่สำคัญในการช่วยโลกลดสภาวะโลกร้อน โดยส่งเสริมธุรกิจของลูกค้าองค์กรของธนาคารให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon economy)

“เคลวิน แทน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า เดือนตุลาคม 2563 ผ่านมา HSBC ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เคลวิน แทน
เคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1) ที่เกิดจากส่วนของการปฏิบัติงานภายในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของบริษัทรวมถึงสาขาต่าง ๆ ทั่วโลกให้เป็นศูนย์ (zero net) ภายในปี 2573

และ 2) จากส่วนของธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการเงินให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อช่วยสนับสนุน และพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“จากผลการสำรวจความคิดเห็นของ HSBC Navigator ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของบริษัท 4,131 แห่ง จาก 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่า โควิด-19 ทำให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วเอเชียต้องปรับตัวเพื่อความยืดหยุ่นทางธุรกิจอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยเน้นความจำเป็นเร่งด่วนของการปฏิรูปสู่ระบบดิจิทัล (digitisation) รวมถึงผลักดันให้ภาคธุรกิจทบทวนวิธีการเพิ่มความโปร่งใส (transparency) และความสามารถด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ให้กับห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)”

“ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังให้ความสำคัญกับวาระด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยร้อยละ 92 ของบริษัทที่ร่วมตอบคำถามเปิดเผยว่า ได้รับแรงกดดันจากบรรดาลูกค้าให้บริษัทหันมาใส่ใจผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อสภาวะแวดล้อมมากยิ่งขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ HSBC ประเทศไทย จึงเปิดให้บริการเงินฝากสีเขียว หรือ green deposit ซึ่งถือเป็นธนาคารแรกในประเทศไทยที่ให้บริการนี้ โดยเงินฝากสีเขียวเป็นผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยการนำเงินสดคงเหลือมาฝากกับ HSBC เพื่อเราจะนำไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เป็นโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดภาวะโลกร้อน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โครงการสร้างอาคารสีเขียว โครงการการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของ green deposit อยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับตลาด แต่อาจไม่ได้สูงกว่าเงินฝากทั่วไปของ HSBC เพราะวัตถุประสงค์ของเงินฝากสีเขียว คือ ช่วยให้บริษัทที่มีเงินทุนเหลืออยู่ และยังไม่มีโครงการลงทุนใหม่ ๆ ได้เข้ามาลงทุนด้าน ESG (สิ่งแวดล้อม-environmental, สังคม-social และธรรมาภิบาล-governance)

“เคลวิน แทน” อธิบายต่อว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในไทย 2 ราย ร่วมโครงการ green deposit คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก และบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) หรือ CPALL ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยได้เปิดบัญชีเงินฝากสีเขียวแล้วในสกุลเงินบาท

“ปัจจุบันมีหลายบริษัทในไทยที่แสดงความสนใจนำเงินมาฝากในเงินฝากสีเขียว แต่ HSBC ต้องพิจารณาถึงความต้องการใช้เงินจากฝั่งลูกค้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (green loan) ของเราควบคู่กันว่ามีความต้องการสอดคล้องกันหรือไม่ ก่อนจะเปิดรับเงินฝากสีเขียวอีกครั้ง”

“นอกจากประเทศไทย HSBC ยังมีผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสีเขียวในประเทศอินเดีย, อังกฤษ, สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน โดยหลักการพิจารณาเปิดตัวผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสีเขียวในประเทศใด ๆ จะพิจารณาจากความต้องการเงินลงทุนของธุรกิจสีเขียวที่ผ่านมาตรฐานของ HSBC ก่อน จากนั้นจึงประสานกับลูกค้าภาคเอกชนที่มีเงินสดในมือค่อนข้างมาก สามารถลงทุนในระยะยาว และต้องเป็นภาคเอกชนที่มีนโยบายส่งเสริมด้าน ESG ที่ยั่งยืน”

“กฤษฎา แพทย์เจริญ” ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ความท้าทายด้านการเงินสีเขียว (green financing) ของอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารในประเทศไทย อยู่ที่เฟรมเวิร์กการทำงาน ซึ่งตอนนี้ยังมีไม่ชัด ทำให้การลงมือปฏิบัติเกิดความสับสนระหว่างแนวทางสีเขียว (green) ความยั่งยืน (sustainability) และธรรมาภิบาล (governance)

กฤษฎา แพทย์เจริญ
กฤษฎา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

“ดังนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) จึงพยายามพูดคุยกับภาคธุรกิจการเงิน และการธนาคารในไทย เพื่อจัดทำเฟรมเวิร์ก green financing ให้ชัด โดยตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน โดยทาง HSBC ได้แบ่งปันแนวทาง ประสบการณ์ และกลยุทธ์ด้าน green financing ที่เราใช้ในระดับโลกให้ทาง BOT ได้เป็นข้อมูล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศไทยตามความเหมาะสม”

“ปัจจุบันหัวข้อหลักที่นักลงทุนเกือบทุกรายจะสอบถามก่อนการตัดสินใจลงทุน คือ แต่ละบริษัทมี ESG และนโยบายสีเขียว (green policy) หรือไม่ เพราะมีความเชื่อว่าการมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่ส่งผลดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจด้วย”

“ดังนั้น ธนาคารเอชเอสบีซีในทั่วทุกภูมิภาคจึงร่วมประกาศเจตนารมณ์และตั้งเป้าหมายเดียวกันในการช่วยสนับสนุนจัดหาเงินทุน และส่งเสริมการลงทุนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจ ที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส โดยเราจัดสรรเงินและการลงทุนจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับลูกค้าในทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า”

“โจนาธาน เต” ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า HSBC ได้รับรางวัล Euromoney Awards for Excellence 2020 ในฐานะธนาคารดีที่สุดของโลกด้านการเงินที่ยั่งยืนประจำปี 2563 เพราะบริษัทมีความโดดเด่นด้านความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการลงทุน ที่จะสามารถนำมาซึ่งโลกที่มีความยั่งยืนและยืดหยุ่นที่แท้จริงได้ในระยะยาว

โจนาธาน เต
โจนาธาน เต ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

“นอกจากการเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์แล้ว HSBC ยังมีความมุ่งมั่นในการประเมินผลงาน net zero ที่ชัดเจน และวัดผลได้โดยใช้เครื่องมือของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement Capital Transition Assessment-PACTA) ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือวิเคราะห์สถานการณ์สภาพอากาศแบบโอเพ่นซอร์ซสำหรับภาคการเงินที่พัฒนาขึ้นจากข้อมูลของธนาคารชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ช่วยให้สามารถวัดความสอดคล้องของพอร์ตการลงทุนและสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ”

“รวมถึงการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม ในการระดมระบบการเงินตามมาตรฐานที่สอดคล้องกันทั่วโลกเกี่ยวกับการวัดการปล่อยมลพิษทางการเงิน และการพัฒนาตลาดชดเชยคาร์บอนชดเชย โดย HSBC ยังมีการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างสม่ำเสมอ และโปร่งใส ซึ่งเราจะสนับสนุนให้ลูกค้าทำเช่นกัน เพื่อร่วมสร้างอีโคซิสเต็มธุรกิจสีเขียว และลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

นับเป็นความมุ่งมั่นของธนาคาร HSBC ที่ต้องการสนับสนุนองค์กร และภาคธุรกิจต่าง ๆ ให้มุ่งเน้น และให้ความสำคัญต่อกลยุทธ์ด้านการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง