“ดิจิทัลเรียลิตี้” โควิดกระตุ้นธุรกิจสู่โลกเสมือนจริง

ดิจิทัลเรียลิตี้

ดีลอยท์เปิดเผยรายงานการคาดการณ์ด้านเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม (Technology, Media & Telecommunications (TMT) Predictions Report) โดยเน้นการนำเสนอผลกระทบจากเทรนด์ด้านเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคมที่อาจส่งผลต่อธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลก

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังกล่าวถึงเทรนด์ที่ถูกขับเคลื่อนโดยผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ส่งผลให้เกิดการเติบโตสูงขึ้นในสื่อวิดีโอ เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (virtual) และระบบคลาวด์ (cloud) รวมถึงในสื่อประเภทอื่น ๆ เช่น กีฬา ฯลฯ

“เอเรียน บูคายย์” ผู้นำในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ประจำดีลอยท์ โกลบอลกล่าวว่า ในขณะที่เทคโนโลยีบางประเภทมีการเติบโตเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับเป็นตัวกระตุ้นเร่งให้เทคโนโลยีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดคิดมาก่อน

ซึ่งส่งผลให้วิถีชีวิตและการทำงานของเราเปลี่ยนไป เทคโนโลยีระดับองค์กรและผู้บริโภคตั้งแต่ 5G ระบบคลาวด์ไปจนถึงเทคโนโลยีเสมือนจริงจะยังคงเปิดโอกาสมากมายให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจทั่วโลก

“จนทำให้เกิดภาพของการพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอมากขึ้น ทั้งนั้น เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เทรนด์การรักษาระยะไกล (telemedicine) เติบโตแบบก้าวกระโดด รวมถึงการพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอด้วย ฉะนั้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการลดอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบในการพบแพทย์ผ่านระบบเทคโนโลยี แต่ยังช่วยให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากการสื่อสารด้วยวิดีโอผ่านแอปพลิเคชั่นได้อีกด้วย แม้จะมีความกังวลในระยะแรกก็ตาม”

จากรายงานการคาดการณ์เทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคม สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้บริโภค (รวมถึงแพทย์) ที่ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางการพบแพทย์แบบเดิมเป็นการนัดพบเสมือนจริง ซึ่งรวมถึงการพบแพทย์ผ่านวิดีโอด้วย ผลเช่นนี้จึงทำให้ดีลอยท์คาดการณ์ว่า การพบแพทย์แบบเสมือนจริงผ่านทางวิดีโอจะเพิ่มขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกในปีนี้ จากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว แม้จะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

แต่นับเป็นก้าวสำคัญ ถึงแม้เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจะดูเล็กน้อย แต่เท่ากับการเข้าพบแพทย์ผ่านวิดีโอถึง 8.5 พันล้านครั้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 36 ประเทศที่เข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development-OECD) ในปี 2562

สำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกการพบแพทย์ผ่านทางวิดีโอ และรายรับของผู้นำตลาดก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่เพียงแต่ในกลุ่มตลาดประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ยังรวมไปถึงกลุ่มตลาดประเทศที่กำลังพัฒนาอีกด้วย

ผลเช่นนี้ จึงทำให้การศึกษาและองค์กรหันมาเลือกเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เพราะตลาดของเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงกำลังขยายตัว เนื่องจากเทคโนโลยีแสดงความสมจริงได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มบริษัทและองค์กรเพื่อการศึกษา ดีลอยท์คาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์เฮดเซต เทคโนโลยีเสมือนจริงดังกล่าวทั้ง augmented reality (AR) และ mixed reality (MR) หรือเรียกโดยรวมว่า XR หรือ digital reality จะพุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในปีนี้ มากกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิมในปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อ เพื่อใช้ประโยชน์โดยกลุ่มองค์กรและสถาบันการศึกษา

“เอเรียน บูคายย์” กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดเฮดเซตชนิดนี้จะได้รับแรงกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วในตลาดบางกลุ่ม เนื่องด้วยประเด็นความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ครูผู้สอนและนักเรียนนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนแบบเสมือนจริงแทนที่การเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบเดิม

ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้เองที่ช่วยเปิดโอกาสให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงจึงอาจยังมีส่วนแบ่งในท้องตลาดภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสิ้นสุดลง เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน เช่น มีต้นทุนต่ำกว่า ให้ความปลอดภัยสูงกว่า และเอื้อต่อการจดจำเนื้อหาการเรียนการสอนที่ดีกว่า

“นอกจากนั้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังขับเคลื่อนให้ระบบคลาวด์ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะจากการประเมินด้วยตัวชี้วัดตลาดระบบคลาวด์ในปี 2563 ขยายตัวเร็วขึ้นกว่าในปี 2562 จากรายงานการคาดการณ์เทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม การขยายตัวของระบบคลาวด์เป็นผลมาจากความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดระหว่างการปิดกั้นพื้นที่เมือง (lockdown) และระบบการทำงานนอกออฟฟิศ (work from anywhere)”

ดีลอยท์คาดการณ์ว่าปริมาณรายรับจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปี 2568 เนื่องจากบริษัทหลากหลายแห่งย้ายระบบฐานข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ เพื่อประหยัดงบประมาณ สร้างความคล่องตัวในการทำงาน และเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งย้ายระบบฐานข้อมูลไปยังระบบคลาวด์

ตลาดของระบบดังกล่าวจึงมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยเป็นมา อุตสาหกรรมบางประเภทที่สร้างและจัดการข้อมูลปริมาณมาก เช่น กลุ่มการธนาคาร และกลุ่มผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ที่แม้จะมีความลังเลในการใช้ระบบคลาวน์ก่อนหน้านี้ ก็เริ่มหันมาตระหนักถึงประโยชน์ที่ได้รับ ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ และผู้อื่นในระบบนิเวศทางธุรกิจจะมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ผู้ใช้ระบบคลาวด์ก็สามารถมองหาช่องทางที่ระบบคลาวค์จะเพิ่มมูลค่าได้ ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับระบบคลาวด์อาจกลายเป็นคำตอบหลักสำหรับโจทย์ธุรกิจทุกรูปแบบก็เป็นได้

ที่สำคัญ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เปิดตัวอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย intelligent edge มากขึ้นด้วย เพราะ intelligent edge เป็นเทคโนโลยีที่รวมการเชื่อมต่อไร้สายขั้นสูง หน่วยประมวลผล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอุปกรณ์ที่ใช้งาน และสร้างข้อมูลเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยี และการสื่อสารขนาดใหญ่หลายแห่ง

ดีลอยท์คาดการณ์ว่า ในปี 2021 ตลาด intelligent edge ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการขยายตัวของตลาดดังกล่าวเป็นผลมาจากบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมมีการขยายเครือข่าย 5G รวมถึงผู้ให้บริการระบบคลาวด์ขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งการริเริ่มของบริษัทผู้นำด้านโทรคมนาคมที่มีเงินทุนสูงอาจช่วยให้บริษัทที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมหลากหลายประสบความสำเร็จใน intelligent edge ง่ายยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น ในรายงานการคาดการณ์ด้านเทคโนโลยี สื่อและโทรคมนาคมยังกล่าวถึงประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ จุดเริ่มต้นของกระแส 8K : ยอดขายโทรทัศน์ที่มีความละเอียดคมชัด 8,000 พิกเซล โดยมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ด้วยอุปกรณ์และบริการเพื่อสร้างเนื้อหาที่มีความละเอียด 8K ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวจะสร้างผลกำไรอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องเทรนด์สุขภาพในยุค 5G : เนื่องจากมีความกังวลว่า 5G อาจส่งผลต่อสุขภาพ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเท่าไหร่นัก ดีลอยท์จึงคาดการณ์ว่า
ในปี 2021 แนวโน้มที่ว่ารังสีจากเครือข่าย 5G และโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย 5G จะส่งผลต่อสุขภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้น ไม่น่ามีความเป็นไปได้แต่หากจะมีการศึกษาใด ๆ เกี่ยวกับ 5G เพื่อจัดการกับความกังวลด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาดังกล่าวจำเป็นต้องมีประเด็นที่น่าสนใจ สอดคล้อง ครอบคลุม และจำเป็นต้องเริ่มในเวลานี้


สำหรับเรื่องการเร่งการพัฒนา RANs รุ่นใหม่ เครือข่ายการเข้าถึงวิทยุ (RANs) แบบเปิด และเสมือนจริงที่ช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNOs) สามารถลดต้นทุน และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ขายเมื่อมีการปรับใช้เครือข่าย 5G ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน