หลังบ้านคณะราษฎร

หลังบ้านคณะราษฎร
คอลัมน์ Book Capital

สาโรจน์ มณีรัตน์

เพื่อให้เห็นภาพรวมของหนังสือเรื่อง “หลังบ้านคณะราษฎร” ที่มี “ชานันท์ ยอดหงษ์” เป็นผู้เขียน จึงขอนำความบางส่วนในคำนำผู้เขียนที่หยิบยกคำพูดของ “ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น” ที่กล่าวในงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2558 ดังความบางส่วนว่า…บางครั้งผู้หญิง และการกระทำของผู้หญิงถูกมองไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่พวกเธออยู่แนวหน้าด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใด สิ่งที่เป็นปัญหาคือผู้หญิงมักจะถูกมองไม่เห็น และไม่ได้ถูกบันทึกในตำนานประวัติศาสตร์เพียงพอ

ขณะที่ “ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์” ก็ได้กล่าวปาฐกถาถึงบทบาทของภรรยาคณะราษฎร ในงานครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของ “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์” เมื่อปี 2554 บอกว่า “…โดยทั่วไปหลังบ้านที่คนไทยจำได้มักออกไปในทางการแทรกแซงอำนาจที่เป็นทางการของสามี เพื่อแสวงหาประโยชน์ บางกรณีหลังบ้านใช้อำนาจอยู่หลังฉาก จนกลายเป็นผู้มีอำนาจนอกระบบที่ถูกติฉินนินทา หรือประณามทางสังคม ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำ และผลกระทบ หลังบ้านที่คนไทยจำได้และกล่าวขวัญถึง มักออกไปในทางร้ายและโกงมากกว่าจะเป็นแง่มุมที่ดีงาม”

ฟังแล้วเห็นด้วยทุกประการ

เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะเห็น “คนที่อยู่หลังบ้าน” มักเป็นเช่นนั้นจริง ๆ และก็เชื่อแน่ว่า หลังบ้านคณะราษฎรบางคนก็ประพฤติตัวเช่นนั้นด้วย หาไม่เช่นนั้นคงไม่มีฝ่ายตรงข้าม ออกมาโจมตีหลังบ้านของคณะราษฎร 2475 ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ทราบอยู่บ่อยครั้ง

แต่สำหรับหนังสือเรื่อง “หลังบ้านคณะราษฎร” คงไม่ได้มองประเด็นนี้เป็นเรื่องหลัก เพราะเนื้อหาจริง ๆ “ชานันท์” ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า…เรื่องของการปฏิวัติ จะเปิดเผย โปร่งใส ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ทำได้ แต่ต้องปกปิดความลับ และใช้พื้นที่ปิดส่วนบุคคลในการประชุมวางแผนที่บ้าน และบางครั้งหลังบ้าน ก็มีส่วนสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ดังนั้น หญิงคนรัก ภรรยา ครอบครัว การแต่งงาน และชีวิตทางเพศ จึงแยกไม่ออกไปจากการปฏิวัติ แต่ด้วยภาวะส่วนบุคคล และสำนึกในการแยกการเมืองภาครัฐออกจากพื้นที่ส่วนบุคคลกลับเป็นขั้วตรงข้าม จนทำให้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 ละเลยบทบาทครอบครัว การแต่งงาน ชีวิตทางเพศ กระทั่งทำให้บรรดาภรรยา หรือหญิงใกล้ชิดคณะราษฎร ไร้ตัวตน มองไม่เห็น และถูกผลักออกจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย”

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เนื้อหาของหนังสือ “หลังบ้านคณะราษฎร” จะถูกเริ่มต้นด้วยเรื่องการหาคู่ครองของคณะราษฎร, การแต่งงานของคณะราษฎร, การเมืองของภรรยาคณะราษฎร, ละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาคณะราษฎร ผู้เรืองอำนาจมากกว่าใคร, การเคลื่อนไหวทำลายคณะราษฎรของหญิงกลุ่มกษัตริย์นิยม และภรรยาคณะราษฎรหลังยุคคณะราษฎร

เพียงแต่ในที่นี้ ขออนุญาตหยิบยกบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม” ภรรยาของ “จอมพลแปลก พิบูลสงคราม” ที่ครั้งหนึ่ง “หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช” วิจารณ์โจมตีเธออย่างหนักในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ บอกว่า…สโมสรวัฒนธรรมหญิงของละเอียดสิ้นเปลืองเงิน และไร้ประโยชน์เป็นเพียงกลุ่มคุณหญิง คุณนายใช้ชีวิตหรูหรา มีเวลาว่าง ทำตัวไร้สาระไปวัน ๆ

“ชอบเล่นไพ่ แข่งแต่งตัว จับกลุ่มนินทาหมั่นไส้ริษยากัน เลียนแบบแฟชั่นแหม่ม จนไม่เหลือศักดิ์ศรีหญิงไทย เข้าครัวไม่เป็น งานสังคมสงเคราะห์ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์จริงจัง สมาชิกสโมสรก็คอยประจบประแจงสอพลอแทบเท้าละเอียด เพื่อให้สามีเจริญในหน้าที่การงาน”

“หรือใครอยากกำจัดใคร ก็สามารถเพ็ดทูลฟ้องละเอียดได้โดยตรง เพราะประชาธิปไตยของรัฐแปลกนั้น ละเอียดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด คอยชักใยสามีอยู่ข้างหลัง เธอเป็นช้างเท้าหน้าที่แทรกแซงควบคุมการบริหารของรัฐบาลสามี แปลกเองก็เชื่อฟังอย่างว่าง่าย ละเอียดไม่พอใจใคร ก็จะยุให้สามีเกลียด จนไม่สามารถเติบโตในวงการราชการได้”

นี่คือความบางส่วนที่น่าสนใจ ?

ดังนั้น ถ้าใครอยากอ่านฉบับเต็ม ๆ ลองไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านดู บางทีเราอาจจะมองเห็นอีกหลายมุมของกลุ่มหลังบ้านคณะราษฎร 2475

ที่ไม่ธรรมดาเลย ?