คิดแบบคน “ยูนิโคล่” พนักงานคือหัวใจแห่งการบริการ

โครงการอบรมที่ยูนิโคล่ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต 03
โครงการอบรมที่ยูนิโคล่ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

ยูนิโคล่” เป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายใหญ่ที่สุดในเครือบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น โดยมีอีก 7 แบรนด์อยู่ภายใต้กลุ่ม คือ GU, Theory, Helmut Lang, PLST (Plus T), Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam และ J Brand

ที่ผ่านมายูนิโคล่เดินหน้าเปิดร้านสาขาขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่บริเวณทำเลสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในฐานะแบรนด์ระดับโลก

โดยปัจจุบันยูนิโคล่มีร้านสาขากว่า 2,200 แห่ง ใน 25 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีร้าน Grameen-UNIQLO ธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถผลิตเสื้อผ้า และจำหน่ายกันเองในท้องถิ่น ซึ่งเปิดดำเนินงานมากกว่า 15 สาขาในกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกสาขาของยูนิโคล่เป็นมากกว่าร้านขายของ คือ การให้บริการที่ดี โดยมีพนักงานที่มีคุณภาพ เพราะยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกและสรรหา การมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพ และการให้โอกาสในการเติบโตด้วยหลักพื้นฐาน คือ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในทุกระดับ และยอมรับในความแตกต่างอันสอดคล้องกับพันธกิจ “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” ของยูนิโคล่

“จันทร์จิรา ตอชะกุล” ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยูนิโคล่มุ่งมั่นในการเป็นองค์กรชั้นนำสำหรับทุกคนด้วยการพัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตไปกับองค์กร พร้อมยังส่งเสริมโอกาสในการทำงานอย่างเท่าเทียมด้วยวัฒนธรรมการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์ เนื่องจากการให้บริการกับลูกค้าคือหัวใจของยูนิโคล่ และพนักงานคือส่วนสำคัญสำหรับการให้บริการ

นางสาวจันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) 03
จันทร์จิรา ตอชะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย)

“บริษัทจึงให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกและสรรหา การมีส่วนร่วมพัฒนาศักยภาพ และการให้โอกาสในการเติบโตด้วยหลักพื้นฐาน คือ การปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมทุกระดับ ทั้งยังยอมรับในความแตกต่าง ผลเช่นนี้ จึงทำให้ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับการบริหาร และการจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากระบบการสรรหาและคัดเลือกที่เป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม”

“นอกจากใช้วิธีเปิดรับสมัครและสอบสัมภาษณ์ทั่วไป บริษัทยังมีโครงการ UNIQLO Manager Candidate (UMC) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นการเปิดรับผู้กำลังมองหางานที่มีความท้าทาย สามารถแสดงศักยภาพผ่านการทำงานจริงในตำแหน่งผู้จัดการร้านฝึกหัด เพื่อให้มีโอกาสเติบโตไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้าน หรือทำงานตำแหน่งอื่น ๆ ประจำสาขาทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งพนักงานคนไทยของเราที่ผ่านโครงการนี้มีไปเป็นผู้จัดการร้านในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม และอังกฤษด้วย”

“โดยผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ UMC จะมีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงในร้านค้าของยูนิโคล่เป็นเวลา 6 เดือน เช่น การวางแผนและวิเคราะห์แผนการขาย, การบริหารจัดการสินค้า, การให้บริการลูกค้า และการบริหารทีมงาน”

“ทั้งนั้น เรามองหาคนที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรและมุ่งมั่นกับสิ่งนั้น เนื่องจากทักษะที่เป็น hard skills สามารถเพิ่มกันได้โดยผ่านการอบรมและการฝึกฝน แต่ความมุ่งมั่น หรือแพสชั่นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดจากตนเอง ซึ่งคนที่จะทำตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการร้านต้องเป็นคนมีใจรักบริการและมีความอดทน โดยหน้าที่ของพวกเขาครอบคลุมการรับผิดชอบการดำเนินงานทั้งหมดสำหรับร้านค้า รวมถึงดูแลบุคลากรคนอื่นในร้าน ดูแลเลย์เอาต์ การจัดการสินค้าและคลังสินค้า เป็นต้น”

“จันทร์จิรา” กล่าวต่อว่า ยูนิโคล่เป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจทั่วโลกจึงใส่ใจในความเท่าเทียมและความหลากหลายของพนักงาน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เพศ สัญชาติ จุดยืนทางสังคม รสนิยมทางเพศ หรืออายุ และปัจจุบันยูนิโคล่ในประเทศไทยมีผู้มาทำงานจากหลากหลายประเทศ และหลากหลายแผนกที่นอกเหนือจากคนไทย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย รวมถึงการให้โอกาสในการเติบโตในสายงานต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม โดยไม่ว่าพนักงานจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม

“นอกจากนั้น ยูนิโคล่ในต่างประเทศยังมีการจัดหางานให้กับผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ อย่างถาวร ภายใต้สถานะผู้ลี้ภัย ทั้งยังมีสิทธิตามกฎหมายในการทำงาน โดยในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยทั้งหมด 121 คน ทำงานที่ร้านยูนิโคล่ทั่วโลก

แบ่งเป็น 63 คนในญี่ปุ่น, 11 คนในเยอรมนี, 28 คนในฝรั่งเศส, 7 คนในอิตาลี, 6 คนในสหรัฐอเมริกา, 3 คนในเนเธอร์แลนด์, 2 คนในสวีเดน และอีก 1 คนในสหราชอาณาจักร ที่สำคัญบริษัทยังจัดการฝึกอบรมสำหรับผู้จัดการร้านและพนักงานคนอื่น ๆ ให้เข้าใจผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วย”

“ทั้งนี้ ยูนิโคล่ดำเนินโครงการที่เน้นความเท่าเทียมและความหลากหลายของพนักงานในด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2544 บริษัทมุ่งมั่นเชิงรุกที่จะจ้างงานคนพิการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถทำงานด้วยได้ โดยในระดับโลกบริษัทมีนโยบายใหม่จ้างงานคนพิการอย่างน้อยสาขาละ 1 คน เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ถูกหลงลืม

ทั้งนั้น เพื่อสนับสนุนให้สังคมเกิดความรู้สึกจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับประเทศไทยการจ้างงานผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกายก็เป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ร้านค้า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเอง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างกลมกลืน”

“โดยยูนิโคล่ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลัก คือ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิตจัดตั้งโครงการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการทำงานให้แก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาและร่างกาย เมื่อพวกเขามีทักษะพร้อมก็สามารถเข้ามาทำงานสาขาต่าง ๆ ของยูนิโคล่ได้ทันที โดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนคนปกติทั่วไป และปัจจุบันยูนิโคล่มีพนักงานผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกายจำนวน 23 คน และเราตั้งเป้าที่จะจ้างงานผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาและร่างกายให้ได้ถึง 1-2 คนสำหรับร้านขนาดมาตรฐาน และ 2 คนสำหรับร้านขนาดใหญ่”

“จันทร์จิรา” อธิบายเพิ่มเติมว่า ยูนิโคล่เคารพความหลากหลายทางด้านรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย และสะดวกสบายสำหรับพนักงานทุกคน

โดยประเทศญี่ปุ่นมีการเปิดตัวระบบการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งให้พนักงานที่มีคู่ซึ่งเป็นเพศเดียวกันมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบริษัทเหมือนเพศอื่น ๆ เช่น การลาพิเศษสำหรับงานแต่งงาน รวมถึงมีระบบทรัพยากรบุคคลที่หลากหลายที่จะช่วยให้พนักงานหญิงสามารถเลือกรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับช่วงชีวิตของพวกเขาได้ ยกตัวอย่าง การดูบุตรระหว่างการทำงานอย่างสมดุล

“โดยประเทศญี่ปุ่นกลุ่มฟาสต์รีเทลลิ่งดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรให้มีผู้บริหารหญิงเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถและขจัดอคติทางด้านเพศ โดยเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้หญิงเป็นผู้บริหารคิดเป็น 39.2% ของตำแหน่งบริหารทั้งหมดในเครือ นอกจากนั้น ยูนิโคล่ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้ยูนิโคล่เป็นองค์กรชั้นนำในระดับประเทศ ที่ทำให้พนักงานสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และมีความสุขไปกับการทำงานเพื่อการเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัท”

“ผลเช่นนี้ จึงทำให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาพนักงานให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการให้พนักงานจัดทำ IDP (individual development plan) โดยพนักงานจะต้องเขียนแผนพัฒนาตนเองว่ามีความสนใจอะไร และมีเป้าหมายการเติบโตอย่างไร เราเชื่อว่าการทำ IDP เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมกำหนดการวางแผนอนาคตของตนอีกด้วย รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสในการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเหมือนกับยูนิโคล่ ประเทศไทยที่มอบหมายให้พนักงานไปปฏิบัติงานอยู่ในเวียดนาม, ญี่ปุ่น, อังกฤษ และสเปน”

“ทั้งนั้น เพราะยูนิโคล่ตระหนักดีว่าคุณภาพชีวิตที่ดีมีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพของพนักงาน ซึ่งรวมถึงความพึงพอใจในการทำงาน เราจึงส่งเสริมการมีสถานที่ทำงานปลอดภัย และใส่ใจกับสุขภาพของพนักงาน เพื่อให้สามารถทำงานอย่างเต็มที่

รวมถึงการออกแบบพื้นที่ทำงานโดยให้ทุกคนสามารถร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีม การแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ระหว่างทีม หรือการทำงานข้ามสายงานเพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาผลสำเร็จของงานร่วมกันทั้งองค์กร”

นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง