บริบท “พลังงานสะอาด” ระดมสมองช่วยโลกปลอดภัยยั่งยืน

เสวนาอากาศสะอาด

ภาคจราจรและการขนส่งถือเป็นหนึ่งในผู้ร้ายที่สร้างมลพิษทางอากาศสูงสุด เพราะรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือรถที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงก่อให้เกิดมลพิษ รวมถึงฝุ่นละอองและควันในอากาศปริมาณมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาด้วยการเร่งขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในให้เร็วขึ้น

จากมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 กำหนดทิศทาง และคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเทียบเท่ากับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน พร้อมวางเป้าหมายใช้ยานยนต์ทุกประเภทเป็นอีวีสูงถึง 1.05 ล้านคัน ทั้งยังตั้งเป้าผลิตภายในประเทศ 100% ภายในปี 2578 อีกทั้งยังเร่งบูรณาการทุกภาคส่วนออกมาตรการกระตุ้นการใช้ระยะเร่งด่วน 1-5 ปี เพื่อก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society)

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ techsauce ผู้นำเสนอคอนเทนต์เพื่อวงการเทคโนโลยีในโลกธุรกิจร่วมกับบริษัท โรเบิร์ต บ๊อช หรือบ๊อช ประเทศไทย จัดกิจกรรม Roundtable Talk : How to Make Clean Public Transport Possible ? วงเสวนาออนไลน์ว่าด้วยเรื่อง “การนำพาอากาศสะอาดสู่ภาคการขนส่งไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชนหลายแห่งร่วมหารือถึงการแก้ปัญหามลพิษ บทบาทขององค์กร และการส่งเสริมใช้พลังงานสะอาดและรถอีวี

เปลี่ยนด้วยเทคโนโลยีใหม่

“พันศักดิ์ ถิรมงคล” ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวในเบื้องต้นถึงแหล่งที่มาของมลพิษว่ามาจากหลายแห่งไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม, การจราจร, การเผาในที่โล่ง หรือแม้แต่มลพิษจากการข้ามพรมแดน ซึ่งความหนาแน่นจะขึ้นอยู่กับสถานที่ เวลา เพราะแต่ละแห่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน อย่างเช่น มลพิษข้ามพรมแดนมักเกิดในช่วงหน้าแล้งประมาณเดือน มิ.ย. และมักจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านแถบทางใต้ที่เผาวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรจนลอยมาตามทิศทางลม

“จากแหล่งที่มาของมลพิษที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ประชาชนจะใกล้ชิดกับมลพิษที่เกิดจากการจราจรขนส่งมากที่สุด เพราะถ้าเป็นมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะอยู่นอกตัวเมือง ไม่ได้กระจายตัวเหมือนรถยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากต่อสุขภาพของคน ฉะนั้น จึงต้องผลักดันให้มีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ยิ่งนำมาใช้เร็วเท่าไหร่ก็จะแก้ปัญหามลพิษได้เร็วขึ้น”

“แต่คงไม่เร็วมากนัก เพราะเมื่อเราเปลี่ยนเทคโนโลยีแล้วกว่าเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่าคงต้องใช้เวลาหลายปี ยกตัวอย่างที่เคยศึกษาเรื่องมาตรฐานไอเสียยูโรของรถยนต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับของสารพิษตอนที่เราเปลี่ยนจากยูโร 3 มาเป็นยูโร 4 กว่าจะเห็นผลว่ามลพิษทางอากาศลดลงอย่างน้อยก็ 5 ปีแล้ว ผมถึงบอกว่าคงต้องใช้เวลา”

กฎหมายตัวแปรสำคัญ

“นฤมล นวลปลอด” Head of Strategy, Marketing and Sales, BOSCH Mobility Solutions SEA กล่าวว่า ภาพการเป็น sustainable mobility นับเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะผู้ผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ หรือแม้แต่ผู้ใช้รถใช้ถนน ไปจนถึงความท้าทายของผู้นำแต่ละประเทศ

เพราะปัจจุบันรถยนต์อีวีเริ่มเข้ามามีบทบาทในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงมีการผลักดันนโยบายให้มีการใช้มากขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์อีวีในแต่ละภูมิภาคจะช้าเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายของสภาพเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพลังงานแต่ละประเทศ

“สำหรับประเทศไทยภาครัฐมีนโยบายเพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้อีวีแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง และความชัดเจนในมาตรฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงมาตรฐานโรดแมปบูรณาการ ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้นจะทำให้ผู้ผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วน รวมถึงผู้ใช้ยานยนต์ ประชาชน สามารถเตรียมตัว และวิเคราะห์ว่าความพร้อมของตนเองมีมากน้อยแค่ไหนที่จะใช้อีวี อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่อีวีแต่รวมถึงเทคโนโลยสมัยใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย”

“นฤมล” กล่าวต่อว่า สำหรับบ๊อชตั้งแต่ปี 2561 ได้ลงทุนศึกษาพัฒนาระบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเงินทุนประมาณ 5 พันล้านยูโรทั่วโลก พร้อมจัดทำโครงการที่ใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้ามาแล้วกว่า 90 โครงการ โดยรวมแล้วปัจจุบันมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ระบบส่งกำลังไฟฟ้าของบ๊อชอยู่บนถนนทั่วโลกประมาณ 2.5 ล้านคัน

ไม่เฉพาะในส่วนเครื่องยนต์ ระบบเบรกที่ใช้ในรถยนต์ปัจจุบันก็มีส่วนทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่นกัน ยกตัวอย่าง กรมสิ่งแวดล้อม เยอรมนี มีการศึกษาพบว่าการเบรกและยางล้อของรถยนต์มีส่วนทำให้เกิดฝุ่นประมาณ 32%

“จากตรงนี้จึงมีการนำเทคโนโลยี regenerative breaking system เข้ามาพัฒนา โดยเทคโนโลยีตัวนี้จะใช้งานในยานยนต์ที่เป็นไฮบริดและอีวี ทำให้ระบบเบรกเป็นระบบชาร์จไฟ ทั้งยังช่วยลดค่าการเกิดฝุ่นได้ถึง 95% นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่มาเป็นตัวช่วยในการลดมลพิษด้วยการนำ AI และ IOT เข้ามาผนวกจนทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมอย่างกล่องตรวจสอบสภาพมลพิษเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์ และใช้ระบายรถในที่ที่มีมลพิษสูง”

ยกเว้นภาษี 3-5 ปี

ขณะที่ “จักรกฤช ตั้งใจตรง” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวเสริมว่า ในการขับเคลื่อนให้ประชาชนหันมาใช้อีวีนั้น ผมมองว่าไม่สามารถทำได้ทันที เพราะเมืองไทยมีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือมีผู้ประกอบการเทียร์ 2-3 ผู้ที่คอยซัพพลายชิ้นส่วนยานยนต์ให้บริษัทใหญ่ ๆ

“ถ้าเราพลิกกระโดดไปใช้เลย คนเทียร์ 2-3 จะแย่หมด เพราะเปลี่ยนไม่ทัน ผมเชื่อในการพัฒนาทีละขั้นมากกว่า โดยในสเต็ปแรกมองว่าเป็นเรื่องของภาษีที่คนบอกว่าแพง การเก็บภาษีมีหลายส่วน แต่สำหรับกรมการขนส่งทางบกเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ คือ เก็บอัตราภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปริมาตรความจุของกระบอกสูบเครื่องยนต์ (CC) ถ้าปล่อยน้อยภาษีก็ถูก ปล่อยมากภาษีก็แพง เพราะรถยนต์มีส่วนทำลายท้องถนนและสิ่งแวดล้อมมาก”

“ดังนั้น หากจะทำให้คนเปลี่ยนมาใช้อีวีเลยคือต้องยกเว้นภาษีประจำปีใน 3-5 ปีแรกให้กับรถอีวีทุกแบบที่จดทะเบียนในช่วงก่อนปี 2573 มาตรการนี้ต่างประเทศใช้แล้ว ตอนนี้ภาคขนส่งมีการทบทวนรายละเอียดต่าง ๆ ของมาตรการที่จะขับเคลื่อน ทั้งในส่วนรถยนต์และขนส่งสาธารณะ เพียงแต่ตอนนี้อาจต้องรอผู้บริหารสรุป และคาดว่าจะมีรายงานออกมาชัดเจนภายใน 1-2 ปีนี้ แต่เบื้องต้น”

“สิ่งที่ภาคขนส่งเร่งดำเนินการจัดการเรื่องมลพิษทางอากาศอยู่ตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก ก่อนรถจดทะเบียน กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรม จะมีการกำหนดมาตรฐานและตรวจสอบระดับมลพิษในเครื่องยนต์แต่ละประเภท รวมทั้งมีการตรวจสภาพรถด้วย”

“หลังจากมีการจดทะเบียน ทางกรมการขนส่งทางบกจะคอยตรวจวัดค่าควันดำจากยานพาหนะ โดยเฉพาะรถที่ใช้ในการบรรทุกสินค้า และจะมีการดำเนินคดีสำหรับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานกำหนดไว้ประมาณไม่เกิน 45% ทุกคัน ซึ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ถึงปัจจุบันมีการตรวจรถบรรทุกไปแล้ว 175,000 คัน โดนสั่งห้ามใช้แล้ว 1,470 คัน เป็นการตรวจจากสถานที่ตรวจสภาพรถและพบเห็นบนท้องถนน ก็พยายามตรวจต่อเนื่อง รวมถึงประชาชนเมื่อพบเห็นสามารถแจ้งกรมการขนส่งฯเข้ามาได้”

ปี 2050 มุ่งสู่พลังงานสะอาด

สำหรับ “วฤต รัตนชื่น” ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ กฟผ.เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อสภาพอากาศของไทย เพราะว่าภาคการผลิตไฟฟ้าถือว่าเป็นภาคที่มีการปล่อยมลพิษหรือคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ตามด้วยภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง

ดังนั้น หากอนาคตมีการใช้รถยนต์อีวีมากขึ้น รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ ระบบรางกลายเป็นไฟฟ้าหมด ภาคการผลิตไฟฟ้าจะยิ่งถูกมองว่าปล่อยมลพิษสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น ถ้าจะลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะต้องมีการนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามา ซึ่งทาง กฟผ.กำลังมองถึงการดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1.เพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยจะเพิ่มแหล่งผลิตไฟฟ้าบริเวณอ่างเก็บน้ำ

2.สร้างอีโคซิสเต็ม (ecosystem) เชิงเทคนิคที่ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่น พร้อมตั้งศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียนที่ผันผวน ปรับแหล่งผลิตไฟฟ้าให้พร้อมรับกับความผันผวนจากแดด ลม ฝน รวมทั้งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) และในอนาคตจะมีการศึกษาเรื่องการรียูส (reuse) แบตเตอรี่เก่าของรถยนต์มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า

และ 3.สร้างอีโคซิสเต็มเชิงการบริหารจัดการ โดยจะสร้างกลไกให้กับบริษัทจากต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ซื้อไฟจากเราไปใช้

อย่างไรก็ตาม เรื่องสภาพอากาศกำลังเป็นภัยคุกคาม วันนี้ประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง เช่น สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ประกาศชัดว่า ปี 2050 จะเป็น carbon neutral คือ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ก็จัดการเท่านั้น ขณะเดียวกัน ภาพที่เห็นตอนนี้คือบริษัทข้ามชาติทั้งที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้วและกำลังจะเข้ามา กำลังวิ่งหาพลังงานสะอาด

โดยส่วนใหญ่วางเป้าหมายว่าจะต้องใช้พลังงานสะอาดกี่เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นนโยบายตามบริษัทแม่ แสดงว่าทั่วโลกตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น