สคว.ยกระดับวิศวะสู่สากล

ยกระดับวิศวะ
คอลัมน์ CSR Talk

กล่าวกันว่า สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) นำโดย “รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรกได้นำคณะกรรมการสมาคมผนึกความร่วมมือกับสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) เพื่อทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อบัณฑิตวิศวกร การศึกษาและประเทศไทย เพื่อเน้นย้ำบทบาท สคว.เป็นองค์กรนิติบุคคลที่ดำเนินงานกิจกรรมตามแนวนโยบายของ สควท.วางแผนไว้ และกำกับดูแล

โดยมุ่งยกระดับและพัฒนาศักยภาพของวิศวกรรมศาสตร์และนักศึกษาไทยสู่ระดับสากล สามารถโอนหน่วยกิตและทำงานได้ทั่วโลก

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์” กล่าวว่า สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) ก่อตั้งในปี 2563 เป็นองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไรเพื่อประโยชน์ด้านวิชาการ การศึกษาและสังคมส่วนรวม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) โดยเชื่อมประสานระหว่างสถานศึกษากับรัฐบาลที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนบุคลากร และนโยบายให้เป็นจริง และประสบความสำเร็จ

ดังนั้น เพื่อให้การทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพระหว่างสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) จึงจัดตั้งสมาคมเป็นนิติบุคคล ทำให้เกิดประสิทธิภาพความคล่องตัวทั้งด้านงบประมาณ กฎหมาย และการทำงาน

ทั้งนี้ โดย สคว.จะดำเนินการเหมือนเป็นคณะกรรมการการจัดการของสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สควท.) ส่วน สควท.จะทำหน้าที่กำกับดูแลและวางนโยบาย มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาการศึกษาด้านวิศวกรรมของประเทศ โดยสมาคมจะดำเนินงานตามนโยบายที่ สควท.กำหนด หรือมอบหมาย ให้บรรลุความก้าวหน้าและความสำเร็จ

ขณะที่อีกบทบาทสำคัญของ สคว. คือ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ และสภานิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ทั้งในด้านการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม การสนับสนุนงบประมาณอย่างคล่องตัวขึ้น เสริมสร้างให้สภานิสิตนักศึกษา ซึ่งก่อตั้งมากว่า 30 ปี ดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ กรรมการฝ่ายวิจัยและวิชาการ สมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (สคว.) โดย “ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล” กล่าวถึงบทบาทของสมาคมคณบดีฯ ต่อการผลักดันให้เกิดกระบวนการพัฒนาวิศวกรรมศาสตร์ของไทยสู่ระดับสากล ที่ผ่านมาการกำกับทางวิชาการ กับการกำกับทางวิชาชีพวิศวกรรมศาสตร์มีการทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งเป็นระบบที่เกิดมานานและใช้กันอยู่ในประเทศไทย และต่อมามีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

เนื่องจากความต้องการของตลาดของวิศวกรปัจจุบัน และอนาคตเปลี่ยนไป มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งเทคโนโลยีและปัจจัยแวดล้อมก็พัฒนาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา หรือยุโรปมีการแยกการกำกับทางวิชาการออกจากการกำกับทางวิชาชีพ โดยผลักดันให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ในสหรัฐอเมริกามีระบบ ABET (accreditation board for engineering and technology) ในการรับรองหลักสูตรสากล ABET สำหรับนานาประเทศ หรือ TABEE

สำหรับประเทศไทย ซึ่งต่างก็เป็นเป้าหมายของ สคว. และ สควท. และในปัจจุบันหากมีนักศึกษาต่างประเทศเข้ามาศึกษาในประเทศไทย จบการศึกษาแล้วไม่สามารถโอนหน่วยกิตไปยังประเทศบ้านเกิดได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดในด้านของมาตรฐานและเกณฑ์ที่ทั่วโลกกำหนดไว้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันของหลักสูตร ทั้งวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรจากประเทศไทย และวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรในประเทศอื่น ๆ จะต้องมีความเท่าเทียมกันทั้งในเรื่องของทักษะและความสามารถ

สำหรับการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ (engineering education) “รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล” กรรมการสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางและเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนระบบออนไลน์แบบผสมผสาน หรือ hybrid

“ปัจจุบันนักศึกษาเริ่มปรับตัวได้แล้วกับการเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน เมื่อมุ่งมองไปในอนาคต เราอาจจะต้องมีการวิเคราะห์และวางแผนทบทวนพัฒนาการศึกษาของวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งลักษณะหลักสูตรมีทั้งวิชาการ การทดลองในแล็บและฝึกปฏิบัติ ในอนาคตการเรียนแบบในห้อง 2-3 ชม. อาจไม่เหมาะกับผู้เรียนเจเนอเรชั่นนี้แล้วก็เป็นได้”