มองมุมคิด “นฤมล” สร้างอาชีพ 3 กลุ่มเปราะบางยั่งยืน

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สถานประกอบการปิดกิจการทั้งถาวร และชั่วคราว จำนวนคนตกงานเพิ่มขึ้น ลำพังแค่คนปกติยังหางานอย่างยากลำบากแล้ว หากเป็น
กลุ่มคนเปราะบาง 3 กลุ่มจะเป็นอย่างไร

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ถึงแนวคิดในการช่วยเหลืออย่างเข้าถึง และเป็นระบบมากขึ้น เพราะความเดือดร้อนของคนเราไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในเรื่องของกลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่ม

เบื้องต้น “นฤมล” บอกว่า กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มคนพิการ มีจำนวนราว 2.5 ล้านคน 2) กลุ่มผู้สูงอายุ 11.35 ล้านคน และ 3) กลุ่มผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อยู่ “นอกระบบ”

โดยเฉพาะในกลุ่มคนพิการ ที่ขณะนี้มีความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับกระทรวงแรงงาน อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้ “เข้าถึง” โอกาสต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้น

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มมีทักษะการทำงานที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปประกอบอาชีพ และสร้างรายได้เพื่อใช้ในการดำรงชีพได้ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาอีกในอนาคต ด้วยการจ้างคนทำงาน

แต่มีข้อจำกัดที่หลายคนไม่รู้ คือ ตำแหน่งงานที่ต้องการแรงงานคนพิการนั้นอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก สวนทางกับถิ่นที่พักอาศัยที่อยู่ห่างไกลจากเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่กลายเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการแบกรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว”

เมื่อพิจารณาตามมาตรา 38 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างงานคนพิการ เข้าทำงานมากกว่า 60% ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วัน ในปีภาษีใด มีสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น สมาคมคนพิการต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยฝึกอาชีพ ดูแลและรณรงค์ให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มนี้มากขึ้น

นอกจากนี้หากต้องใช้งบประมาณจากกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ที่ยังพอมีงบประมาณอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทที่มาจาก 1) ผู้ประกันตนมาตรา 39 ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน ต้องสำรวจว่าต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

2) กลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่น้อยกว่า 700 บริษัท และบริษัทใหญ่อื่น ๆ ในแต่ละภาคธุุรกิจ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในโครงการด้านการคืนกำไรให้สังคม (CSR) ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“เราไม่ได้ช่วยแค่คนพิการ แต่เรายังช่วยคนที่ดูแลคนพิการด้วย และควรลงไปช่วยกันแบบทั้งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เขามีอาชีพ มีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนอย่างการเข้าถึงทุนทางการเงิน ที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐผลักดันมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้รับโอกาสจากประชาชนที่ได้เลือกพรรคให้เข้ามาทำงาน เริ่มที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำของคนจนกับคนรวย โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงการได้รับการศึกษา ทั้งคนที่อยู่ในระบบและนอกระบบ”

ทั้งนี้ เมื่อมาดูตัวเลขการจ้างงานคนพิการยังค่อนข้างน้อย โดยจากตัวเลขการจ้างงานในสถานประกอบการในปี 2564 พบว่า จากจำนวนสถานประกอบการทั่วประเทศที่ 13,298 แห่ง ควรจะต้องมีการจ้างงานคนพิการตามเป้าหมายที่ 79,744 คน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก มีสถานประกอบการที่ปิดชั่วคราวและปิดกิจการถาวรมากมาย

นอกจากนั้นยังพบว่าตัวเลขการจ้างงานคนพิการลดลงอย่างมากเหลือเพียงหลักร้อยคนเท่านั้น ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับปี 2563 จากสถานประกอบการที่มีกว่า 14,907 แห่ง มีการจ้างแรงงานคนพิการอยู่ที่ 67,882 คน จากเป้าหมายที่ต้องจ้างงานคนพิการที่ 86,729 คน

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อน และสนับสนุนแนวคิดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานที่ว่า ทำไมกระทรวงแรงงานต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และที่สำคัญ ต้องใช้แนวทางการสร้างอาชีพ มากกว่าการ “บริจาค” ที่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบชั่วคราว และไม่ “ยั่งยืน”

สำหรับประเด็นผู้มีรายได้น้อย “นฤมล” บอกว่า ตัวเองก็อยู่ในฐานะที่ “เคยจน” มาก่อน จึงเข้าใจถึงแก่นแท้ปัญหาเหล่านี้ดีว่ามาจากหลายเหตุผล เช่น การ “เข้าไม่ถึง” แหล่งเงิน บางครั้งสำหรับผู้มีรายได้น้อยนั้น เงินแค่ 50,000 บาท เพื่อลงทุนขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ค่อนข้างยากแล้ว และการเป็น “หนี้นอกระบบ” แค่ปัญหาใน 2 เรื่องนี้ ก็ต้องแก้ไขกันตั้งแต่เชิงโครงสร้างแล้ว

จะต้องมีการแก้ปัญหากันด้วยการกำหนดออกมาเป็น “นโยบาย” ให้มีความชัดเจน คือ การสร้างองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ รวมไปจนถึงการให้ทุนเพื่อเริ่มต้นการทำอาชีพของคนทั้ง 3 กลุ่ม หรือการสร้าง “platform” เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ได้มากขึ้น

กุญแจสำคัญที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเปราะบาง ภายใต้แนวคิดของ “นฤมล” จึงอยู่ที่ทักษะอาชีพ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องบูรณาการร่วมกัน จากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงาน

“ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นว่า การแก้ไขนั้นต่างคนต่างทำ พลังจึงมีน้อย แต่ถ้าทุกหน่วยงานร่วมกันนำจุดแข็งที่มีมาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพียงแต่ต้องเข้าใจปัญหา ใช้เครื่องมือ และกลไกต่าง ๆ ที่มีแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด โดยที่เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมากด้วยซ้ำ แต่แก้ปัญหาได้จริง”

“นฤมล” ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้เตรียมขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพราะดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อนำไปสร้างเครื่องมือ สร้างอาชีพ ตามที่กลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มถนัด หรือพัฒนาอาชีพจากจุดแข็งที่ตัวเองมี


พร้อมทั้งนำแนวทางการแก้ไขปัญหาระดับครัวเรือนมาปรับใช้ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับรายบุคคล ซึ่งจะนำแนวทางการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน