สัญญาณบวกปี’65 “ไอที-วิศวะรุ่ง” คนรุ่นใหม่อยากไปทำงานต่างประเทศ

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์
พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด

ท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเป็นปกติ ทั้งยังส่งผลกระทบกับตลาดแรงงาน

ด้วยเหตุนี้ “จ๊อบส์ ดีบี” (JobsDB) บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มหางาน และเป็นส่วนหนึ่งของ SEEK Group องค์กรด้านการสรรหาบุคลากรออนไลน์ระดับสากลจากประเทศออสเตรเลีย จึงทำการวิเคราะห์ข้อมูล และประเมินแนวโน้มทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมฉายภาพทิศทางตลาดแรงงานครึ่งปีหลัง 2564 จนพบกลุ่มสายงาน และกลุ่มธุรกิจส่งสัญญาณเชิงบวก

ครึ่งหลังปี’64 จ้างงานเพิ่มขึ้น

“พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์” ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฐานข้อมูลของจ๊อบส์ ดีบี ด้านการลงประกาศรับสมัครงานของบริษัทต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เผยให้เห็นว่าการประกาศรับสมัครงานทั้งตลาดในไทยช่วงที่โควิด-19 ระบาดรอบแรก (มกราคม 2563) เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนหน้า (2562) พบว่า จำนวนการประกาศรับสมัครงานของทั้งตลาดล่วงลงไป 36% แต่หลังจากผ่านช่วงนั้นมา 2-3 เดือน สถานการณ์กลับดีขึ้น และการประกาศรับสมัครงานก็ขยับเพิ่มขึ้น

กระทั่งมีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 (ช่วงเดือนธันวาคม 2563) จำนวนประกาศรับสมัครงานกลับร่วงลงอีกครั้ง และลดลงมากกว่าตอนที่มีการระบาดระลอกแรก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2563 จำนวนการประกาศรับสมัครงานของทั้งตลาดหายไป 46%

ทั้งนี้ จำนวนประกาศรับสมัครงานช่วงที่มีการระบาดระลอก 3 (ช่วงเมษายน 2564) ค่อนข้างที่จะสวนทางกับจำนวนเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น เพราะจำนวนการประกาศรับสมัครงานหายไปน้อยลง เพียง 18%

“อาจเป็นไปได้ว่าผู้ประกอบการมีประสบการณ์ด้านการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 มาแล้วถึง 2 ระลอก จึงไม่ตกใจมากในการรับมือ และพร้อมที่จะเดินหน้าทำงานใหม่ ๆ เพื่อหารายได้เข้าบริษัท อีกผลหนึ่งคือรัฐบาลไม่ได้สั่งล็อกดาวน์เหมือนการระบาดในระลอกแรก ทั้งนี้ เมื่อนำข้อมูลของจ๊อบส์ ดีบีเทียบเคียงกับข้อมูลคนว่างงานของสำนักงานประกันสังคม ปรากฏว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมระบุว่าไตรมาสแรกของปี 2564 มีจำนวนคนว่างงานน้อยกว่าไตรมาสแรกของปี 2563”

“เรามองว่าสถานการณ์การจ้างงานในครึ่งหลังของปี 2564 ไม่เลวร้ายลง และทุกอย่างน่าจะดีขึ้น ถึงแม้การจ้างงานฟื้นตัวค่อนข้างช้าแต่เศรษฐกิจเริ่มเดิน และจะทำให้ปริมาณการจ้างงานเริ่มเป็นบวก 5% นับตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป เพราะตอนนี้ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนแล้ว

ดังนั้น ถ้าได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรเพิ่มขึ้น จะเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดแรงงาน เพราะคนจะมีความมั่นใจในการไปทำงานนอกบ้าน และในหลายประเทศเริ่มฉีดได้มากขึ้น จะส่งผลต่อธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวฟื้นตัว และอาจเป็นไปได้ว่าต้นปี 2565 การจ้างงานจะกลับมาเป็นปริมาณเทียบเท่าก่อนโควิด-19 ระบาด”

สายไอที-วิศวะเนื้อหอม

“พรลัดดา” บอกด้วยว่า ความต้องการในการจ้างงานสวนทางกับการผลิตบุคลากรสู่ตลาดแรงงานของภาคการศึกษา โดย 5 คณะที่นักศึกษาจบออกมามากที่สุดในปี 2563 ได้แก่

อันดับ 1 บริหารธุรกิจ

อันดับ 2 มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, ศิลปศาสตร์, นิเทศศาสตร์

อันดับ 3 คุรุศาสตร์

อันดับ 4 วิศวกร

และอันดับ 5 ไอที

ในขณะที่ 5 สายงานที่ลงประกาศงานมากที่สุดในไตรมาส 1 ปี 2564 ได้แก่

อันดับ 1 สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ

อันดับ 2 สายงานไอที

อันดับ 3 สายงานวิศวกรรม

อันดับ 4 สายงานการตลาด และประชาสัมพันธ์

อันดับ 5 สายงานบัญชี

“แรงงานสายงานไอที, วิศวะ ซึ่งเป็นแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะธุรกิจที่บริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ต่างเป็นที่ต้องการเทียบเท่ากับสายธุรกิจ แต่การผลิตแรงงานจากภาคการศึกษาไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่า มีสายงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่น นักพัฒนาเอไอ, ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญ business transformation รวมถึง growth officer”

ในด้านมุมมองกลุ่มธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่มีสัดส่วนจำนวนประกาศงานสูงสุด ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจไอที คิดเป็น 12.9% 2) กลุ่มธุรกิจการผลิต คิดเป็น 8.1% 3) กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง คิดเป็น 6.6%

และในส่วนของธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจประกันภัย คิดเป็น 42.9% 2) กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 41.9% 3) กลุ่มธุรกิจการผลิตคิดเป็น 37.7%

นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการแข่งขันในการหางานของคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง 20% ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 และมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 100 ใบสมัคร โดยการแข่งขันมีการกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มคนทำงานที่เงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท

แรงงานไทยอยากทำงาน ตปท.

จ๊อบส์ ดีบี ร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และเดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก ด้วยการ “ถอดรหัสลับจับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ฉบับที่ 1 จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ

โดยในประเทศไทยมีคนตอบแบบสอบถามทั้งหมด 2,800 คน ภายใต้หัวข้อ “Where-ประเทศที่คนอยากทำงาน และการทำงานแบบเวอร์ชวล” เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปในแต่ละปีของแรงงานทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19

“พรลัดดา” อธิบายจากผลสำรวจบอกว่า คนไทยกว่า 50% ยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่ง 3 อันดับของประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่

1) ออสเตรเลีย

2) ญี่ปุ่น

3) สิงคโปร์

ในขณะเดียวกันกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานให้กับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ

สำหรับ 5 อันดับ แรงงานต่างชาติที่สนใจอยากมาทำงานให้กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่

1) สิงคโปร์

2) มาเลเซีย

3) จีน

4) อินโดนีเซีย

5) รัสเซีย

ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน โดยขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2557 และ 2018 ตามลำดับ 2561

“สายงานอันดับสูงสุดที่คนไทยมีโอกาสทำในต่างประเทศคือ งาน social care (งานดูแลผู้อื่น เช่น ผู้สูงอายุ, เด็ก, ผู้ป่วย) อันดับต่อมาคือ งานที่เกี่ยวข้องกับมีเดีย, ไอที, ดิจิทัล และวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง คนกลุ่มนี้พร้อมออกไปต่างประเทศเมื่อมีโอกาส”

ทั้งนี้ แรงงานประเทศเพื่อนบ้านก็พร้อมเข้าแข่งขันกับแรงงานไทย และเปลี่ยนจากแรงงานทั่วไปเป็นแรงงานเฉพาะทางทักษะสูง โดยแรงงานต่างชาติทักษะสูงที่เข้ามาในไทยมาทำงานด้านข้อมูลและไอที (เช่น โปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล),

ด้านที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรมและงานบริการอื่น ๆ ที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ), ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค (เช่น วิศวกร, นักวิทยาศาสตร์) และด้านการบริหารและการบริการ (เช่น กิจกรรมนำเที่ยว)

ดังนั้น ทั้งภาคธุรกิจ และคนทำงานต้องปรับตัว เพราะการที่คนไทยทักษะสูงย้ายออกไปทำงานต่างประเทศจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต นายจ้างอยากดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้ทำงานในประเทศไทย แต่ต้องหันมามองสวัสดิการ ความก้าวหน้าในสายงาน มีงานที่ท้าทายให้พวกเขาทำเพื่อดึงดูดให้เขาค้นหา และอยากเรียนรู้ ส่วนแรงงานในไทยก็ต้องพร้อมรีสกิลตัวเอง พัฒนาทักษะของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะสู้กับคนเก่ง ๆ ที่มาจากต่างประเทศได้

เรียนออนไลน์ยกระดับความรู้

“พรลัดดา” กล่าวว่า ทักษะแรงงานไทยกว่า 70% เป็นกลุ่มทักษะปานกลางถึงต่ำ และแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา และตั้งแต่มีโควิด-19 เกิดขึ้น สิ่งที่เราเห็นชัดเจนเรื่องทักษะที่บริษัทต้องการในคนคือ เรื่อง mindset (กระบวนการทางความคิด, ทัศนคติ, กำลังใจ) เพราะเป็นเครื่องมือที่จะสู้กับสถานการณ์ที่ยากลำบาก

“นอกจากนั้น จะต้องมี outward mindset หรือทักษะที่สามารถทำงานกับใครโดยไม่มีปัญหา พัฒนาศักยภาพตัวเองให้ดีขึ้นไปในทุกมิติ ทั้งเชิงธุรกิจ การงาน และการใช้ชีวิต และหาคลังความรู้อย่างไม่จำกัด ที่สำคัญคือต้องมีทักษะภาษาอังกฤษ เพราะคนที่มีทักษะด้านนี้จะทำงานติดต่อกับต่างประเทศได้ทันที บริษัทไม่ต้องมาเสียเวลาให้ไปเรียนเพิ่ม และทักษะสุดท้ายคือการปรับตัวและมีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่หลากหลายได้”

“ปัจจุบันเรามีหลักสูตรออนไลน์ในแคมเปญยกระดับความรู้ ก้าวสู่งานที่ใช่ ที่ทำร่วมกับแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์สัญชาติอังกฤษชื่อว่า ฟิวเจอร์เลิร์น (FutureLearn) รวมกว่า 80 คอร์ส ให้คนไทยได้ใช้จำนวน 15,000 สิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีมูลค่าคอร์สละ 1,700 บาท รวมกว่า 25,000,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เข้าเรียนจะได้รับมอบประกาศนียบัตรรับรอง จาก FutureLearn หลังจบคอร์สการเรียนอีกด้วย โดยหมดเขตลงทะเบียนเรียนสิ้นเดือน พ.ค. 2564”

ทั้งนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มทักษะสำคัญ ประกอบด้วย

1) ทักษะความรู้ที่กำลังได้รับความนิยม (emerging skills) ซึ่งคือทักษะต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะมาเป็นตัวแปรสำคัญในตลาดงาน เช่น ฟินเทคและอีคอมเมิร์ซ (Fintech & e-Commerce), การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) การตลาดดิจิทัล (digital marketing) ตลอดไปจนถึงแมชีนเลิร์นนิ่ง (machine learning) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI)

2) ทักษะขั้นพื้นฐานเพื่อพัฒนาตนเอง (transferable skills) สำหรับการพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับก้าวต่อไปในชีวิตการทำงาน เช่น เทคนิคการเตรียมตัวเพื่อคว้างานที่ใช่ (job search success) ทักษะทางด้านภาษา (language) และทักษะความเป็นผู้นำและการบริหาร (leadership and management skills)

“การอัพสกิลและรีสกิล หรือการพัฒนาและปรับทักษะ กำลังเป็นสิ่งที่สำคัญในปัจจุบัน จากปรากฏการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สถานการณ์โควิด-19 ความต้องการแรงงาน ฯลฯ ซึ่งคอร์สเรียนเหล่านี้จะมาเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมให้เหล่าพนักงานภายในองค์กรได้พัฒนาตนเอง”

นับว่าเริ่มเห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานไทยผ่านจำนวนความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดจากช่วงเดือนเมษายน 2563 และเดือนธันวาคม 2563 จากการระบาดในระลอกที่ 2 และคาดการณ์ว่าจำนวนประกาศงานทั้งประเทศจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งประมาณกลางปี 2564 และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนวิกฤตโควิด-19 ในต้นปี 2565

หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง