‘ดีแทค’ วิเคราะห์ 3 ปัจจัยส่งผลต่อการดําเนินธุรกิจยั่งยืนในโลกหลังโควิด

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค

‘ดีแทค’ วิเคราะห์ 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดําเนินธุรกิจยั่งยืนในโลกหลังโควิด และเผยกรอบการทํางานบนหลักการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ประจําปี 2564-2566 บนเวที dtac Responsible Business Virtual Forum 2021

วันที่ 27 พ.ค. 2564 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค (dtac) จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสมือนจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ dtac Responsible Business Virtual Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ “พลิกวิกฤตเศรษฐกิจ สู่แนวคิดใหม่เพื่อองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืน” (Rethinking Business Resilience in Post-Pandemic Economy)

โดยในช่วงแรกมี “ชารัด เมห์โรทรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค มาวิเคราะห์เทรนด์ระดับโลกที่จะส่งผลต่อการดําเนินงานของธุรกิจ ประเมินความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน และกําหนดกรอบการทํางานบนหลักการดําเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ประจําปี 2564-2566 เพื่อเป็นแนวทางการทํางานเชิงรุกในประเด็นความเสี่ยงต่อการดําเนินธุรกิจในระยะยาว

“ชารัด” กล่าวว่า ดีแทคมองเห็น 3 แนวโน้มสำคัญที่จะเปลี่ยนสภาพสังคมและธุรกิจในโลกหลังยุคโควิด-19 ได้แก่

เทรนด์ที่ 1 คือความสำคัญของขนาดและประสิทธิภาพ โดยเห็นได้จากดีลการควบรวมธุรกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค เช่น ความสนใจในธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทพลังงาน การควบรวมธุรกิจระหว่าง Digi และ Celcom ในมาเลเซีย ขณะที่สตาร์ตอัพยูนิคอร์นสัญชาติสิงคโปร์ Grab มีแผนออก IPO เป็นครั้งแรก

“ธุรกิจจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs กำลังพบกับภาวะหนี้สะสมท่วม แต่ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ต้องลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล ซึ่งนับเป็นความท้าทายอย่างมากของ SMEs นอกเหนือไปจากการควบรวมกิจการ การทำ partnership และ outsource ก็เป็นอีกวิธีการที่ทำให้ธุรกิจโฟกัสได้ดีขึ้น”

การถือหุ้นใน dtac ของ Telenor ทำให้เราได้รับประโยชน์จากความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับโลก รวมถึงการพัฒนา 5G การเป็นสมาชิกของคณะกรรมการจริยธรรมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence –  AI) และตอนนี้ dtac กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Telenor Connexion ในการพัฒนา IoT

“ชารัด” กล่าวต่อว่า เทรนด์ที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น แม้โควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลอย่างรวดเร็วในภาครัฐและเอกชน แต่ในกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางยังคงต้องได้รับการแก้ไข และนี่คือสิ่งที่ dtac มองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ง่ายและปลอดภัย

“เราร่วมแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลผ่าน digital ecosystem ที่ทำให้ผู้ใช้งานสนุก มีปฏิสัมพันธ์ร่วม และตรงกับความต้องการเฉพาะ นอกจากนั้นดีแทคได้พัฒนาโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 700 MHz เสริมศักยภาพด้าน coverage ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยพัฒนาประสบการณ์การใช้งานได้ดียิ่งขึ้นโดยในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังมีโครงการ safe internet เพื่อช่วยให้เด็กไทยมีภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์ และยังมีโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ติดอาวุธทางดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก”

เทรนด์ที่ 3 คือ ปรากฏการณ์โลกร้อนที่ส่งต่อความยั่งยืนในระบบซัพพลายเชน ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในมหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้เกิดการขาดแคลนชิปเซตไปทั่วโลก และตอนนี้ได้ส่งผลกระทบตามแนวชายฝั่งและระบบนิเวศทางการเกษตรที่เปราะบาง

“การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบช่วยทำให้ระบบซัพลายเชนมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และเรากำหนดกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนได้ทั้งสิ้น 7 ด้าน ได้แก่ ธรรมาภิบาล ความเป็นส่วนตัว ซัพพลายเชน เสริมสร้างทักษะดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สิทธิมนุษยชน และอาชีวอนามัยในการทำงาน”