เปิดเกณฑ์กองทุนเงินทดแทนปี 64 จ่ายกรณีเจ็บป่วย-อุบัติเหตุจากงาน

เปิดเกณฑ์กองทุนเงินทดแทนปี 64 จ่ายกรณีเจ็บป่วย-อุบัติเหตุจากงาน สูงสุด 1 ล้านบาท ตัวเลขปี 2563 มีผู้ได้รับเงินทดแทนไปแล้ว 25,518 ราย ขณะที่ไตรมาสแรกปี 64 ยอดผู้เข้าข่ายรับเงินทดแทนพุ่ง 26,673 ราย

เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย เสียชีวิต หรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน สามารถรับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนได้ตามกฎหมาย จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นเงินสมทบที่เก็บจากนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว โดยเรียกเก็บเป็นรายปี

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน อธิบายว่า การดูแลลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานเป็นไปตามนโยบายของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยวิธีปฏิบัติมีดังนี้

  • กรณีมีเหตุการณ์ที่ประสบอันตราย นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย ตายหรือสูญหาย และคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 (กท.16) ส่งให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขา ที่นายจ้างขึ้นทะเบียนไว้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการประสบอันตรายของลูกจ้าง
  • กรณีลูกจ้างประสบอันตรายเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมขอแนะนำให้นายจ้างส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน โดยที่นายจ้างไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาล่วงหน้า และสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นตามกฎกระทรวงค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2563

ส่วนค่ารักษาพยาบาลจะจ่ายเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล กรณีลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลในความตกลงของกองทุนเงินทดแทนตั้งแต่เริ่มแรกจนสิ้นสุดการรักษา เว้นแต่มีเหตุสมควรที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลในความตกลงตั้งแต่เริ่มแรก ให้ทดรองจ่ายค่ารักษาไปก่อนแล้วเบิกคืนจากกองทุนเงินทดแทนตามระยะเวลาที่กำหนด

ที่มาภาพ: สำนักงานกองทุนเงินทดแทน

รายละเอียดจำนวนเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลดังนี้

  1. จ่ายจริงตามความจำเป็นในเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ต่อการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 1 ครั้ง
  2. หากมีการบาดเจ็บรุนแรงหรือเรื้อรัง “ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง” และค่ารักษาพยาบาลเกิน 50,000 บาท ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท
  3. ถ้าค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายข้างต้นไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายเพิ่มเท่าที่จ่ายจริงอีก รวมแล้วไม่เกิน 300,000 บาท แต่ต้องเข้าเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เช่น เป็นผู้ป่วยหนักที่พักรักษาตัว หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น
  4. หากค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายข้างต้นไม่เพียงพออีกก็สามารถจ่ายเพิ่มขึ้นได้ รวมแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
  5. สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีกแต่รวมทุกข้อต้องไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยต้องเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการการแพทย์พิจารณา และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

(กองทุนเงินทดแทนจะต่างกับสิทธิประกันสังคม เพราะสิทธิประกันสังคมจะดูแลค่ารักษาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน)

นายทศพลกล่าวด้วยว่า จากผลการวินิจฉัยเรื่องการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานประจำปี 2563 มีลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไปแล้วจำนวน 25,518 ราย และข้อมูลในปี 2564 (ช่วง ม.ค. – เม.ย.) มีลูกจ้างที่อยู่ในข่ายได้รับเงินทดแทนแล้วจำนวน 26,673 ราย

“อย่างไรก็ตาม ขอให้ลูกจ้างระมัดระวังความปลอดภัยในการทำงาน และสถานประกอบการก็ต้องให้ความปลอดภัยในการทำงานด้วย”

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/ สาขา/ ที่ท่านสะดวก หรือโทร.สายด่วน 1506 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th