‘อิเกีย’ ส่งเสริมอาชีพ-ผลักดัน SE ผ่านงานฝีมือสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น

‘อิเกีย’ ส่งเสริมอาชีพในชุมชน ผลักดันองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ผ่านงานฝีมือที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นใน ไทย จอร์แดน อินเดีย กับคอลเล็กชั่น LOKALT

อิเกีย (IKEA) สานต่อการสร้างอาชีพระยะยาวให้กับผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผ่านการทำงานร่วมกับนักออกแบบท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise หรือ SE) ในการผลิตสินค้าใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย จอร์แดน และอินเดีย ภายใต้โครงการ IKEA Social Entrepreneur เพื่อสร้างคอลเล็กชั่นงานหัตถกรรมสมัยใหม่ในชื่อ “LOKALT” (ลูคอลต์) ซึ่งเป็นภาษาสวีเดนที่มีความหมายว่า ‘ท้องถิ่น’

“ลาช สเวนสัน” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนอิเกีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก กล่าวว่า อิเกียทำงานร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสังคมทั่วโลกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ผ่านโครงการ IKEA Social Entrepreneur โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การใช้ชีวิตประจำวันดีขึ้น สร้างอาชีพระยะยาวให้กับผู้หญิง และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้ลี้ภัย

“จนถึงปัจจุบันเราได้ช่วยสร้างงานภายใต้โครงการนี้ไปแล้วกว่า 30,000 ตำแหน่ง ทั้งงานด้านช่างฝีมือ และงานในธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก โดยอิเกียทำงานร่วมกับนักออกแบบท้องถิ่น และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม สร้างงานผ่านการส่งเสริมการผลิตสินค้างานหัตถกรรมสมัยใหม่ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประเพณีและวิถีชีวิตของไทย จอร์แดน และอินเดีย”

สำหรับชิ้นงานหัตถกรรม LOKALT ล่าสุด เป็นผลงานออกแบบโดยดีไซเนอร์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศ ประกอบด้วย “พลอยพรรณ ธีรชัย” และ “เดชา อรรจนานันท์” ผู้ก่อตั้ง THINKK Studio สตูดิโอออกแบบสัญชาติไทย ที่นำเสนอชุดหัตถกรรมไทยสำหรับการจัดโต๊ะอาหาร ที่มีวัฒนธรรมรับประทานอาหารร่วมกัน และเพิ่มความทันสมัยและฟังก์ชั่นการใช้งานเข้าไป โดยร่วมมือกับทีมช่างฝีมืองานเครื่องปั้นดินเผาจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมและเป็นพันธมิตรที่ยาวนานของอิเกีย มารับหน้าที่เป็นผู้ผลิต

ช่างฝีมืองานเครื่องปั้นดินเผาจากโครงการพัฒนาดอยตุงฯ

นอกจากนั้นมี “ทันยา ฮัดแดด” แฟชั่นดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Tania George ที่ถ่ายทอดเสน่ห์ของกรุงอัมมาน เมืองหลวงของประเทศจอร์แดน ผ่านงานปักลายเส้นเป็นรูปตึกรามบ้านช่อง มุมเมืองต่าง ๆ ทั้งยังสอดแทรกไว้ด้วยธรรมเนียมของการเล่นว่าวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ บนปลอกหมอนอิง และผ้าคลุม โดยผลงานออกแบบถูกส่งไปผลิตโดยช่างฝีมือจากศูนย์ Al Karmeh Center ที่ดำเนินการภายใต้มูลนิธิ Jordan River องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาชีพให้กับหญิงชาวจอร์แดน รวมถึงหญิงผู้ลี้ภัย

ปลอกหมอนอิงที่ถ่ายทอดเสน่ห์ของกรุงอัมมาน เมืองหลวงประเทศจอร์แดน

และ “อคานชา เดโอ” นักออกแบบประจำอิเกียในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ที่นำเสนอไอเท็มที่น่าสนใจอย่างโคมไฟสานจากใยกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงาน ผ่านความร่วมมือกับกิจการเพื่อสังคมของอินเดียอย่าง Industree เปิดโอกาสให้ผู้หญิงในชนบทหาเลี้ยงชีพด้วยทักษะด้านงานฝีมือ รวมถึงปลอกหมอนอิงและพรมที่ทอโดยกลุ่มแรงงานช่างทอหญิงจาก Diamond ซึ่งเธอได้นำเอารูปทรงที่สื่อถึงความเป็นอินเดียมาถ่ายทอดในรูปแบบร่วมสมัย ผ่านผืนพรมทอมือจากผ้าวูล 100% ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน หมุนเวียนได้ และมีความทนทาน

ปลอกหมอนอิงที่ทอโดยกลุ่มแรงงานช่างทอหญิงในอินเดีย

“มาเรีย โอไบรอัน” ผู้นำฝ่ายสร้างสรรค์ประจำอิเกียสวีเดน และหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ กล่าวว่า อิเกียมองหานักออกแบบที่มีมุมมองทันสมัย เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่างานหัตถกรรมไม่จำเป็นต้องดูเป็นแบบดั้งเดิมเสมอไป แต่สามารถนำมรดกทางวัฒนธรรมมาผ่านการดีไซน์และใช้เทคนิคใหม่ ๆ เพื่อเผยแพร่ไปในอนาคต และกลายมาเป็นของใช้ในบ้านที่ใช้งานได้จริง

“เรามีโอกาสได้ทำงานกับทีมนักออกแบบรุ่นใหม่จาก 3 ประเทศ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถสื่อสารโดยตรงกับทีมช่างฝีมือท้องถิ่น และทำให้อิเกียได้เรียนรู้งานหัตถกรรมและวัฒนธรรมจากประเทศต่าง ๆ อีกด้วย”

ด้าน “เดชา” และ “พลอยพรรณ” ร่วมกันเล่าถึงการทำงานร่วมกับอิเกียในโครงการนี้ว่า อิเกียได้จัดเวิร์กช็อปขึ้นที่ดอยตุง จ.เชียงราย เพื่อให้ดีไซเนอร์ทั้งหมดได้พูดคุยกันเป็นครั้งแรกก่อนแยกย้ายกันไปทำงาน สำหรับขั้นตอนการทำงานของทั้ง 2 คน เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด การเยี่ยมชมโรงงาน และนำมาผสมผสานเข้ากับงานออกแบบ

“พลอยพรรณ ธีรชัย” และ “เดชา อรรจนานันท์” ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง THINKK Studio

THINKK Studio มักจะผสมผสานการออกแบบไทยร่วมสมัยเข้ากับงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม สำหรับคอลเล็กชั่น LOKALT สะท้อนถึงงานทำมือ (craftsmanship) โดยการประทับรอยนิ้วมือไว้บนพื้นผิวของจาน ชาม และแจกัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงประเพณี ธรรมเนียมความนอบน้อมในการมอบสิ่งของให้ผู้อาวุโส โดยการใช้ทั้งสองมือส่งมอบสิ่งของต่าง ๆ


“นับเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมทำงานกับอิเกีย และโครงการพัฒนาดอยตุงฯ อย่างใกล้ชิดในทุกกระบวนการ พวกเราหวังว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะทำให้ผู้ที่นำกลับไปบ้านรู้สึกถึงภูมิปัญญางานฝีมือของไทย”

ชุดหัตถกรรมไทยเพื่อการจัดโต๊ะอาหาร