ยุคดิจิทัล จุดจบผู้จัดการ ?

ประกอบบทความ
คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

พิชญ์พจี สายเชื้อ

ช่วงนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่ทราบกันอยู่ ได้ยินข่าวน้อง ๆ HR ถูกเลิกจ้างต้องหางานใหม่กันหลายคน และที่น่าสนใจคือ เป็นระดับ middle manager ไม่ใช่ระดับเด็ก (โดยมักเลิกจ้างระดับผู้จัดการ แล้วทดแทนด้วยน้องระดับจูเนียร์กว่า เงินเดือนน้อยกว่า) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัย และแนวคิดหลายสำนักที่ว่า middle manager น่าจะลดน้อยลง

ขอยกตัวอย่างผลสำรวจจาก BCG จากบทความเรื่อง “The end of management as we know” ปี 2019 ที่พบว่ามีพนักงานแค่ 1 ใน 10 เท่านั้นที่อยากเป็นผู้จัดการ

โดยรายละเอียดบอก ดังนี้

– 81% บอกว่า งานที่ทำอยู่ยากกว่าที่เคยเป็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

– 63% บอกว่า ไม่อยากเป็นผู้จัดการ

– 37% เชื่อว่าระดับผู้จัดการในองค์กรจะหายไปในอีก 5 ปี

– 9% บอกว่า ตัวเองอยากเป็นผู้จัดการ (1 ใน 10 คนเท่านั้นที่อยากเป็นผู้จัดการ)

จากรายละเอียดดังกล่าว เห็นแบบนี้หลายท่านอาจจะงงว่าเป็นไปได้อย่างไร ?

เป็นไปได้ค่ะ ในเมื่อ middle manager หน้าที่หลักคือการเป็น “กาวใจ” หรือ “รอยต่อระหว่างผู้บริหารและพนักงาน” ซึ่งหน้าที่ของ “ผู้จัดการ” เปรียบเสมือน “ผู้ควบคุม” และบริหารพนักงานให้ทำงานได้ตามแนวทางของผู้บริหาร ปิดช่องว่างระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ซึ่งบทบาทเหล่านี้สามารถทดแทนได้อย่างง่ายดายในโลกยุคดิจิทัล

จากงานเขียนเรื่อง “The End of the Middle Manager” ของ “Dr.Lynda Gratton” ที่ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review บอกว่า ผู้จัดการที่ทำหน้าที่ปิดรอยต่อระหว่างผู้บริหาร กับพนักงานมีแนวโน้มลดลงหรือหมดไป หรืออาจจะเปลี่ยนสภาพไป เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเข้ามาทดแทนงานด้านการจัดการและควบคุมต่าง ๆ ของผู้จัดการทั้งหลาย

ไม่ให้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไป มี app มากมายที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี ทำรายงานได้ แถมบางโปรแกรมยังนำเสนอทางเลือกต่าง ๆ ได้อีกโดยไม่ต้องใช้คนช่วยคิดให้เสียเวลา และที่สำคัญเทคโนโลยีมีต้นทุนไม่สูงและไม่มีปัญหา (ปวดหัว) ในการบริหารคนอีกด้วย

นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่เจน Y และเจน Z ที่กลายมาเป็นประชากรส่วนใหญ่ในองค์กร มีจริตที่ต่างจากเจนเดิม ไม่ชอบการทำงานที่ต้องควบคุม สั่งการ ชอบได้รับอิสระในการคิด และทำงานเอง พวกเขาทำงานกับเทคโนฯได้ดี และมี multitasking skills เป็นพวกที่มีแนวคิดว่า “จะทำงานที่ชอบเท่านั้น งานเยอะไม่กลัว กลัวงานน่าเบื่อ หัวหน้าไม่น่ารัก” และพวกเขาเข้าใจและใช้เทคโนฯได้ดีมาก

ดังนั้น ทำไมต้องมีผู้จัดการมาควบคุมพวกเขาอีกล่ะ ?

ถ้าท่านเป็นผู้จัดการอยู่ในปัจจุบันสิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนแปลงบทบาทและทักษะให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนไป แนะนำว่า

1) ต้องหาให้ได้ว่าอะไร คือ “signature skill” ของท่านที่คนอื่นไม่มีและพัฒนาได้ยาก เพื่อเป็นจุดขายของตัวเอง เช่น ถ้าเป็น HR ตอนนี้ “signature skill” ที่ควรมีคือการใช้เทคโนฯประสานกับงาน HR ให้มีประสิทธิภาพที่สุด การเป็น HRBP หรือการมีความรู้และทักษะในเรื่องการพัฒนาคนสู่ future of work เป็นต้น

2) ปรับบทบาทตัวเองจากเป็น manager ให้เป็น leader ให้ได้ ทักษะสำคัญของการเป็น leader ต้องถูกพัฒนา เช่น coaching skill (อย่าลืมว่าเจน Y และ Z ไม่ชอบถูกสั่งให้ทำ แต่อยากให้เรา coach เขามากกว่า) facilitation skills บทบาทของเราคือ facilitator ไม่ใช่ manager เป็นต้น

ดิฉันหวังว่า “ผู้จัดการ” ทุกท่านที่ได้อ่านบทความนี้คงจะสามารถนำคำแนะนำไปปรับใช้และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จนกลายเป็น “ผู้จัดการยุคดิจิทัล” ที่ยังคงอยู่กันทุกท่านนะคะ