SCG-CBM ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ดึงคนอายุ 60 สู่งานสายเทคฯ

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด

SCG-CBM ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ดึงคนอายุ 60 ปีสู่งานสายเทคโนโลยี ส่งเสริมคนรุ่นใหม่รู้จักตนเอง พร้อม upskill และ reskill แรงงานเก่า

“WEDO” องค์กรด้านนวัตกรรมผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาธุรกิจใหม่ของ SCG ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีภารกิจส่วนหนึ่งคือ talent acquisition หรือการหาคนทำงานที่ใช่ มีฝีมือและเหมาะสมกับงานที่เป็น T-shape (design, business และ technology) และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนทำงานมีโอกาสได้ทำงานที่ตรงใจ

“อภิรัตน์ หวานชะเอม” Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด (SCG-CBM) บอกกับประชาชาติธุรกิจว่า ที่ WEDO เรียกคนในองค์กรว่า DODER (ดูเดอร์) และเป็นคนที่มีคุณสมบัติ DODEE ที่ประกอบด้วย 3 mindset คือ

1) humble ทำความเข้าใจลูกค้า ตลอดจนทีมงานที่ร่วมงานกัน ยอมรับฟังคำวิจารณ์ และนำมาปรับปรุงแก้ไข

2) passionate มีแรงผลักดันและมุ่งมั่นเพื่อสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ที่สำคัญคือรู้ why ของตัวเอง ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร

3) fearless ใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ ให้กล้าออกจาก comfort zone กล้าลองของใหม่ กล้าทดสอบไอเดียที่คนอื่นบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไอเดียที่เป็น moonshot

ทั้งนี้ WEDO มีความเชื่อว่าคนทุกเจเนอเรชั่นควรได้รับโอกาสในการค้นหา passion และศักยภาพของตนเอง จึงทำภารกิจ talent acquisition และมองหาคนที่สามารถเป็น digital citizen ให้กับองค์รกรที่เป็น innovation based

“ผมมองว่าทุนมนุษย์ (human capital) ของไทยเป็นคนจาก 3 กลุ่ม คือ 1.คนที่อยู่ในเจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่กำลังเรียนในระดับอุดมศึกษา และคนที่เพิ่งเรียนจบ 2.คนที่เป็น workforce ปัจจุบัน ที่ต้องได้รับการ upskill และ reskill 3.คนที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังมีศักยภาพ ที่ให้กลับมา upskill และ reskill ก่อนทำงานใหม่”

“อภิรัตน์” กล่าวต่อว่า SCG-CBM ดึงดูด human capital ทั้ง 3 กลุ่มมาที่ WEDO และมีโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาพวกเขาให้เหมาะกับองค์กรที่ใช้นวัตกรรมทำธุรกิจ หรือเทคคอมพะนี

โดยสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่มีโครงการ WEDO Young Talent Hell Day เพื่อให้น้อง ๆ เรียนรู้ 3 อย่างหลัก ๆ คือ รู้ว่าองค์กรในปัจจุบันมองหาคนแบบไหน สามารถเลือกทางที่จะเดินต่อได้ และรู้ว่างานด้าน innovation เหมาะกับตนเองหรือไม่

ส่วนกลุ่ม workforce ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ early adopter คนที่อยากลองทำสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา, follower คนที่เห็นคนอื่นทำสิ่งใหม่ แต่จะเริ่มลงมือทำต่อเมื่อเห็นแล้วว่าดี และ comfort zone คนที่ไม่อยากทำอะไรใหม่ ๆ

“ซึ่งคนที่เราเลือกเข้า WEDO คือคนที่อยู่ในกลุ่มของคนประเภท early adopter โดยเราพัฒนาให้พวกเขาเป็น data citizen เพื่อตอบโจทย์การเป็น data driven organization ทำให้พวกเขาสามารถทำการตัดสินใจโดยการใช้ข้อมูล ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก และทุกคนสามารถเป็น data citizen ได้โดยไม่ต้องเก่งเรื่องเทคโนโลยี โดยเริ่มจากใช้ข้อมูลง่าย ๆ จากโปแกรม Excel เป็นต้น จากนั้นเรียนเกี่ยวกับใช้เครื่องมือ BI (Business Intelligence) เพิ่ม และไต่ระดับไปเรียน data science”

สำหรับกลุ่มที่ 3 คนที่เกษียณอายุแล้ว จะมีโครงการ senior talent program เพราะมองว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนที่อายุ 60 ปียังมีแรงกาย และแรงสมอง ควรให้โอกาสพวกเขามาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ

“อภิรัตน์” อธิบายว่า คนที่เกษียญอายุมักจะเผชิญกับความรู้สึกไร้ค่า จากที่เคยทำตำแหน่งสูง ๆ อย่างเช่น CEO ก็ต้องมาอยู่บ้าน แต่สิ่งที่องค์กรสามารถได้จากคนกลุ่มนี้คือ ปัญญา และประสบการณ์การทำงาน เพียงแค่บางคนอาจขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่ถ้าพวกเขามี passion เราก็ยินดีที่จะรับ

“คนที่เกษียญอายุแล้วหลาย ๆ คนมักพูดว่า ถ้าเริ่มต้นใหม่ได้จะไปเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนเขียนโปรแกรม หรือเป็น data scientist ดังนั้น จึงควรจะดึงคนกลุ่มนี้กลับมา แล้วพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีให้พวกเขา และให้พวกเขาสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้”

เพื่อให้พวกเขาได้เริ่มในตำแหน่งงานระดับทั่วไปกับด้านสายงานใหม่ ๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพ มีกำลังใจ ได้ใช้สมองเพราะถูกท้าทาย