ปตท.ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ กระตุ้นภาคเกษตร-ชุมชนสู้ภัยโควิด

ปตท.ร่วมมือฉีดวัคซีน

โควิด-19 ยังคงอยู่กับสังคมไทยในปีที่ 2 กับการระบาดระลอกใหม่ จนกลายเป็นอาฟเตอร์ช็อกสะเทือนภาพเศรษฐกิจที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวให้กลับไปนับหนึ่งใหม่ ความช่วยเหลือเกิดขึ้นในทุกระดับและกระจายเป็นวงกว้าง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ระดมกำลังงบประมาณเพื่อพาประเทศรอดพ้นวิกฤตยืดยาวครั้งนี้ให้ได้

โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งด้านงบประมาณองค์ความรู้ และเครื่องมือที่หลากหลายเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

ระดมทุกช่องทางช่วย ปชช.

ซึ่งเหมือนกับกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้ผู้นำอย่าง “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO ปตท. ที่ระดมทุกความช่วยเหลือบนพื้นฐานของศักยภาพที่มีในปัจจุบัน โดยในเฟสแรกนี้ ปตท.เห็นว่าควรที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องช่วยดูแลไปจนถึงปากท้องของประชาชนไปพร้อมกัน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO ปตท.

โดยผ่านการบริจาคในรูปของเงินและอาหาร รวมถึงการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย ที่สำคัญ ปตท.บริจาคเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่มาก, เครื่องให้ออกซิเจน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ อย่างเช่น หน้ากากอนามัยภายใต้โครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”

สเต็ป 2 กระตุ้นลมหายใจ ศก.

นอกจากนั้น “อรรถพล” ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการแถลงข่าวผลประกอบการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า เมื่อต่อลมหายใจให้ประชาชนแล้ว จากนี้ไป ปตท.จะช่วยกระตุ้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ อะไรที่ส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงักต้องเร่งแก้ไขให้กลับมาปกติ จึงได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่ดูแลด้าน CSR ของ ปตท.ให้เดินหน้าใน 2 เรื่องเพื่อดูแลชุมชน เกษตรกร

รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ด้วยการดำเนินการด้าน smart marketing เพื่อช่วยเกษตรกรให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชน มีการทำการตลาดร่วมกับ platform ของ ปตท.คือ สถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่อเมซอนและการส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์ที่ ปตท.ตั้งใจจะนำรูปแบบนี้มาช่วยเกษตรกรไทยด้วย

การช่วยเหลือสังคมของ ปตท.ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 นี้ ยังคงดำเนินการต่อเนื่องจนถึงขณะนี้กำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 คือ 1) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อได้โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็น “หัวใจสำคัญ” ของการส่งออก รวมถึงโรงงานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงว่าโควิด-19 จะระบาดได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 จนถึงวันนี้ยังกลับมาเดินเครื่องผลิตตามปกติไม่ได้ และ 2) ประชาชนในกลุ่มเปราะบาง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย และชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับธุรกิจหรือกิจการของ ปตท.

เดินหน้ากระจายวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุด ปตท.ได้ลงนามความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมมือกันกระจายวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ องค์กรที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะต้องกันจำนวนวัคซีนประมาณ 10% ให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้

อย่างเช่น ผู้มีรายได้น้อยตรงนี้ถือเป็นเงื่อนไขในความร่วมมือครั้งนี้อย่างไรก็ตามแผนของ ปตท.จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในเครือ ปตท.ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในจังหวัดเสี่ยงอย่างระยอง, ชลบุรี และพนักงานสำนักงานใหญ่ ปตท.

นอกจากนี้ อาจมีความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อช่วยกันกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนทั่วประเทศโดยเร็วที่สุดอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือ

กลุ่ม ปตท.พร้อมใจช่วยสังคม

ไม่เพียงแต่บริษัทแม่จะมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมยามวิกฤตเท่านั้น แต่บริษัทน้องใหม่อย่างบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็มีการร่วมมือกับ LINE MAN, Wongnai ด้วยการนำค่าอาหารกว่า 5 แสนบาทให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใน 5 โรงพยาบาล คือ รพ.เปาโล (เกษตร), รพ.วิภาวดี, รพ.ภูมิพลอดุลยเดช, รพ.ราชพิพัฒน์ และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โดยไม่มีการคิดค่าขนส่งสำหรับอาหารทั้งหมด

ทั้งยังมีความร่วมมือล่าสุดระหว่าง OR กับสำนักอนามัย กทม. สภาหอการค้าไทยในการใช้พื้นที่ของสถานีบริการน้ำมัน (พีทีที สเตชั่น) เป็นหน่วยให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล โดยนำร่องไปแล้วแห่งแรกที่พีทีที สเตชั่น สาขาพระราม 2 ขาออก (กม.12) เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงราว 1,500 คนต่อวัน สำหรับประชาชนทั่วไปในพื้นที่ กทม.จะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 นี้ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีน และ “ลด” อัตราการติดเชื้อ และลดความรุนแรงในกรณีของผู้ป่วยติดเชื้อด้วย

อันไปสอดคล้องกับนโยบายของ OR ที่ต้องการให้สถานีบริการน้ำมันเป็น “platform” ศูนย์กลางของการเดินทาง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน และยังได้บริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข 77 จังหวัดทั่วประเทศในการดูแลผู้ป่วยโควิด รวมถึงบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่มอบเครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูงให้กับโรงพยาบาลสนามบุษราคัม เมืองทองธานี 50 เครื่อง

โควิด-19 ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเจอวิกฤตเล็กหรือใหญ่ก็ตามการช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องต่างคนต่างทำ แต่การร่วมมือกันตามความถนัดของแต่ละองค์กรจะพาชาติรอดพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี