โคคา-โคล่า เดินหน้าภารกิจทำความสะอาดแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลก

เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี จับมือเป็นพันธมิตรระดับโลกรายแรกกับ The Ocean Cleanup ร่วมทำงาน “โครงการทำความสะอาดแม่น้ำ” เดินหน้าติดตั้งนวัตกรรม “Interceptor” ดักจับขยะพลาสติกป้องกันรั่วไหลลงมหาสมุทร ตั้งเป้า 15 แห่งทั่วโลกภายในปี 2565

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 มร.โบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งองค์กร The Ocean Cleanup กล่าวว่า ปัจจุบัน แม่น้ำกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรเป็นปริมาณสูงถึงร้อยละ 80 ของขยะในมหาสมุทรทั้งหมด และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน The Ocean Cleanup มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อกำจัดพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก โดยมุ่งดำเนินการยับยั้งการรั่วไหลของพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่ทะเล และเดินหน้าเก็บพลาสติกที่สะสมอยู่ในมหาสมุทร สำหรับการทำงานเพื่อยับยั้งการรั่วไหลของพลาสติกจากแม่น้ำลงสู่ทะเล องค์กรได้เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องทำความสะอาดแม่น้ำ Interceptor ขึ้นเมื่อปี 2019 องค์กรต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดยจากจำนวนขยะที่รวบรวมได้ในระบบ พบว่าจำนวนมากเป็นขวดพลาสติกซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์ของโคคา-โคล่าด้วย ซึ่งได้เข้ามาเป็นพันธมิตรรายแรกของอุตสาหกรรม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกจากการจัดการปัญหาขยะพลาสติกระดับโลกนี้ไปด้วยกัน

ด้าน มร. เจมส์ ควินซี่ย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี กล่าวว่าปัจจุบัน โคคา–โคล่า กำลังดำเนินการแบบบูรณาการในการจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกผ่านวิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste โดยมีเป้าหมายหลักคือ

1.ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% ก่อนปี 2568 และใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลไม่น้อยกว่า 50% ก่อนปี 2573

2. จัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ก่อนปี 2573

3.ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากขยะมูลฝอยทั้งบนพื้นดินและในทะเล

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์และนวัตกรรมไร้บรรจุภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิล เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์น้ำหนักเบาพิเศษ เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์จากพืช รวมถึงนวัตกรรมเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่ม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกลง 20% จากปริมาณการใช้ในปัจจุบันให้ได้ภายในปี 2568 อีกด้วย

และเพื่อตอบรับวิสัยทัศน์ดังกล่าว โคคา-โคล่า ยังมุ่งให้ความช่วยเหลือและเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานระดับโลกมากมาย เพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกผ่านการปฏิบัติงาน และการระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดจากทั้งภาคประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ โดยมีเป้าหมายคือส่งเสริมให้คนหันมารีไซเคิล และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงผลักดันให้องค์กรต่างๆ หันมาลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อคงคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้ว ให้สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างถูกต้อง ไม่กลายเป็นขยะอีกต่อไป

ส่วน มร.ไบรอัน สมิทธิ์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ เดอะโคคา-โคล่า คัมปะนี กล่าวเสริมว่า The Ocean Cleanup มีเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรอง และเหมาะสมสำหรับภารกิจในการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทร โคคา-โคล่าก็มีทีมงานในพื้นที่ที่พร้อมร่วมทำการติดตั้งเครื่อง Interceptor ในแม่น้ำทั่วโลก รวมถึงมีความพร้อมในด้านกระบวนการรีไซเคิลขยะที่รวบรวมได้ การที่จะได้เห็นพนักงานโคคา-โคล่าจากทั่วโลกได้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในระดับท้องถิ่น รวมถึงเป็นกระบอกเสียงในการทำภารกิจที่จะขยายใหญ่ขึ้น

สำหรับ Interceptor เปิดตัวครั้งแรกในปี 2562 โดยเป็นนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกจากแม่น้ำต่างๆ รั่วไหลลงสู่มหาสมุทร ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 100% และมีระบบดักเก็บขยะได้โดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้ Interceptor จึงสามารถใช้ได้ดีกับแม่น้ำที่มีปัญหามลพิษจากขยะอย่างรุนแรงในเกือบทุกพื้นที่ทั่วโลก ตลอดจนมีศักยภาพที่จะพัฒนามาสู่การใช้งานจริงในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การจับมือเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรได้ตั้งเป้าช่วยกันกำจัดขยะในแม่น้ำ 15 แห่งทั่วโลกภายในสิ้นปี 2565 มีการนำร่องติดตั้งเครื่อง Interceptor ไปแล้ว 2 เครื่องในแม่น้ำที่กรุงซันโตโดมิงโก สาธารณรัฐโดมินิกัน และนครเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม และจะร่วมกันพัฒนาโซลูชันจัดการขยะที่รวบรวมได้ รวมถึงวางแผนขยายการดำเนินงานไปยังแม่น้ำอีก 13 แห่งผ่านการทำงานร่วมกัน

โดย The Ocean Cleanup จะใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรวบรวมพลาสติก ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการติดตั้งเครื่อง Interceptor รวมถึงวิเคราะห์ปัญหาและหลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับขยะพลาสติก

ขณะที่โคคา-โคล่าจะเสริมแกร่งด้านการปฏิบัติงานด้วยเครือข่ายมากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกที่พร้อมลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่ชุมชนเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่อง Interceptor รวมถึงใช้ความเชี่ยวชาญจัดการกับขยะพลาสติกที่รวบรวมได้ เพื่อสนับสนุนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมร่วมกันสรรหาพันธมิตรและการลงทุนที่จำเป็นเพิ่มเติม เพื่อขยายการดำเนินงานด้วยการติดตั้งเครื่อง Interceptor รวมถึงสนับสนุนการออกใบอนุญาตและติดตั้งกล้อง River Monitoring System (RMS) เพื่อวิเคราะห์มลพิษในแม่น้ำเพิ่มเติมต่อไป