“วันสิ่งแวดล้อมโลก” 5 มิ.ย. ทุกภาคส่วนร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศ

ที่มาภาพ: unep.org

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. 2564 กับธีมร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งภาครัฐ-เอกชนไทย ร่วมทำกิจกรรมและสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนานาประเทศทั่วโลก 

ความเป็นมาวันสิ่งแวดล้อมโลก

วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) สถาปนาขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 โดยระหว่างการจัด “การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อม” (UN Conference on the Human Environment) ณ กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 5 -16 มิถุนายน 2515 ในปีนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 113 ประเทศ มีผู้สังเกตุการณ์มากกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และสื่อมวลชน รวมทั้งตัวแทนเยาวชนและกลุ่มนักศึกษาจากทั่วโลก

ในการประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ตกลงให้ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพิจารณาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศสมาชิกกำลังประสบอยู่อย่างเร่งด่วน

พร้อมทั้งได้จัดตั้ง “โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ” หรือเรียกย่อว่า “ยูเนป” (UNEP : United Nation Environment Programe) ขึ้น รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น และจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน

ในปี 2564 UNEP ได้กำหนดธีมวันสิ่งแวดโลกว่า Ecosystem Restoration (การฟื้นฟูระบบนิเวศ) มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกัน หยุด และย้อนกลับความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในทุกทวีปและในทุกมหาสมุทรทั่วโลก เพื่อช่วยยุติความยากจน ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ ซึ่งจะสำเร็จได้ต่อเมื่อทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งทั่วโลกต่างพากันแสดงกิจกรรมที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อสร้างความตระหนักและปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงในประเทศไทยที่มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแสดงออกและปลุกกระแสความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศน์ เช่น

ปากีสถาน เจ้าภาพปี 64

ปีนี้ “ประเทศปากีสถาน” เป็นเจ้าภาพ World Environment Day และการจัดประชุมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ บนเว็ปไซต์ World Environment Day และยูทูป ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย.

โดยปากีสถานชูเหตุการณ์สำคัญที่ประเทศตนลงมือทำและต้องการแก้ไขหลายประการ เช่น

  • ปลูกต้นไม้หลายพันล้านต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนด้วยการปลูกต้นไม้จำนวน 10,000 ล้านต้นในประเทศ
  • ลงนามโดยสมัครใจครั้งใหญ่ภายใต้โครงการ Bonn Challenge เพื่อฟื้นฟูพื้นป่าที่ที่เสียหายจากเข้าไปทำกิจกรรมของมนุษย์ หรือป่าที่ถูกถาง ให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์
  • ประกาศเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area)
  • สนับสนุนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านเงินทุนและองค์ความรู้
  • ออกตราสารหนี้สีเขียว (green bonds) ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ครั้งแรกของประเทศ

อยู่บ้านก็ช่วยโลกได้

“บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด” (SAMSUNG) ชวนคนสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ ด้วยการกระทำเล็ก ๆ ที่บ้านเพื่อโลกที่ยั่งยืน โดยแนะนำวิธี ที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ ดังนี้

1. บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน: เดิมทีคนส่วนใหญ่นิยมที่จะนำกล่องกระดาษแข็งกลับมาใช้เป็นกล่องเก็บของ แต่เราสามารถเปลี่ยนกล่องกระดาษแข็งให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ หรือของเล่น หรือแม้กระทั่งบ้านแมว

เพราะซัมซุงได้ออกแบบ Eco-Packaging ที่มีรอยเส้นประ เพียงแค่ตัดและนำแต่ละส่วนของบรรจุภัณฑ์มาประกอบกัน ก็จะได้เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ (ค้นหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติมได้ที่ samsung-ecopackage)

2. ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน: ที่ชาร์จของ Samsung Galaxy ถูกออกแบบมาเพื่อให้ลดการใช้พลังงานเมื่ออยู่ในโหมดสแตนด์บาย หลายคนอาจคิดว่าอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ไม่ได้ใช้พลังงาน หากตัวเครื่องไม่ได้อยู่ในระหว่างการใช้งานหรือเสียบปลั๊กทิ้งไว้ แต่ที่จริงแล้ว ส่วนประกอบหลักต่าง ๆ ของอุปกรณ์จะทำงานอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งานที่จะเกิดขึ้น

โดยพลังงานที่เสียไปในระหว่างที่เครื่องอยู่ในโหมดสแตนด์บายนับเป็น 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งนับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้พลังงานไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในผู้บริโภคสามารถช่วยลดการใช้พลังงานดังกล่าวได้ ผ่านการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้พลังงานในโหมดสแตนด์บายให้ใกล้เคียงกับศูนย์ที่สุดแทน

ซัมซุงลดการใช้พลังงานในโหมดสแตนด์บายของที่ชาร์จสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นแฟลกชิปมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อลดปัญหาการสิ้นเปลืองพลังงาน โดยที่ผ่านมาสามารถประหยัดพลังงานไปได้กว่า 13 ล้านกิโลวัตต์ (kW) เทียบเท่ากับปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำถึง 4.5 แห่ง

3. นวัตกรรมใหม่เพื่อความยั่งยืน: ซัมซุงได้ผลิตอุปกรณ์มากมายภายใต้แนวคิดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ซึ่งมาพร้อมกับสุดยอดฟีเจอร์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รีโมทโซลาร์เซลล์ ที่สามารถชาร์จพลังงานได้จากแสงภายในและภายนอกอาคาร หรือ USB ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้ถ่าน AA ได้ถึง 99 ล้านก้อนตลอดระยะเวลาการใช้งาน 7 ปี, เครื่องซักผ้ารุ่น QuickDrive™ ที่ใช้นวัตกรรม AI ในการคำนวณปริมาณน้ำ ผงซักฟอกและรอบการซัก ช่วยประหยัดเวลาในการซักได้ถึง 50% และประหยัดพลังงานถึง 20% แสดงทั้งความเป็นมิตรต่อทั้งสิ่งแวดล้อม พร้อมลดค่าใช้ไปพร้อมกัน และเครื่องปรับอากาศ Wind-Free™ ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 77%

ใช้ซ้ำ-ใช้ใหม่-ผลิตใหม่

“กลุ่มเซ็นทรัล” บูรณาการแนวนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ (reuse) หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (recycle) และการผลิตใหม่ (re-material) จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

ตัวอย่างกิจกรรมของกลุ่มเซ็นทรัลที่สะท้อนการฟื้นฟูระบบนิเวศ และสอดคล้องกับธีมของ World Environment Day ดังนี้ กลุ่มเซ็นทรัลนำขยะอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย (food surplus) ซึ่งมีคุณภาพดี จากในท็อปส์, แฟมิลี่มาร์ท, มิสเตอร์โดนัท และโรงแรมในเครือเซ็นทารา ได้นำไปบริจาคให้ผู้เปราะบางทางสังคมผ่านมูลนิธิ SOS (Scholars of Sustenance) จำนวน 203 ตันต่อปี คิดเป็นมื้ออาหารจำนวน 855,869 มื้อในปี 2563

การลด food surplus ดังกล่าว คิดเป็นเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 380 ตันคาร์บอนเทียบเท่า ในขณะที่ธุรกิจโรงแรม ยังมีโครงการลดปริมาณอาหารทิ้งตั้งแต่ต้นทางด้วยการทำงานร่วมกับหัวหน้าเชฟเพื่อวางแผนการใช้วัตถุดิบจากขั้นตอนการเตรียม จนสู่การแปรรูปขยะอาหารที่เกิดขึ้นเป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ กลับนำมาใช้ภายในโรงแรม

นอกจากนั้น มีการติดตั้ง “ถังวนถุง by มือวิเศษ” ร่วมกับ PPP Plastic ที่ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลจำนวน 17 แห่ง เพื่อรับขยะพลาสติกชนิดยืด 12 ประเภท นำส่งรีไซเคิลตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถคัดแยกขยะพลาสติกได้จำนวน 6.2 ตัน

กิจกรรมร่วมกับลูกค้าด้านการมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ถุง Bag for Life ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ใช้ซ้ำได้หลายครั้งและสามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลต่อได้  โดยสามารถส่งถุงกลับเข้าสู่ระบบได้จำนวน 518,000 ใบ ช่วยลดคาร์บอนการปล่อยคาร์บอนได้ 24.7 ตันคาร์บอนเทียบเท่า

“จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ในเดือนมีนาคม 2564 FeedUp@UN โดยองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับสมาคมการตลาดเกษตรและอาหาร แห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (AFMA – อัฟมา) ได้มอบรางวัล Climate Action Awards จำนวน 2 รางวัล ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

2 บริษัทร่วมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ยูนิลีเวอร์-เอสซีจี ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาและเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์จากพลาสติกชนิด HDPE (ขวดแกลลอน ขวดน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขวดแชมพูและขวดครีมนวด) เป็นพลาสติก HDPE รีไซเคิล (rHDPE)

ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสู (High Quality PostConsumer Recycled Resin – PCRภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green PolymerTM)

จากปริมาณขยะทั้งหมดในประเทศไทย สัดส่วนของพลาสติกใช้แล้วที่นำมารีไซเคิลมีเพียงประมาณ แสนตัน จากปริมาณทั้งหมดกว่า ล้านตัน และส่วนใหญ่ยังจัดการไม่ถูกวิธี ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19  ส่งผลให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้วัสดุได้หมุนเวียนกลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ และไม่หลุดรอดไปทำลายสิ่งแวดล้อม

ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมั่นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ รวมทั้งการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะสามารถนำประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม (Circular Economy in Actions)

ภาครัฐปลุกพลัง ปรับพฤติกรรม

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day 2021) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 14 ปี โดย “วิรัตน์  มนัสสนิทวงศ์” ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า

“สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวัน เช่น การรณรงค์คัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิด ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะเพิ่มพื้นที่สีเขียว และร่วมกิจกรรมในการฟื้นฟูระบบนิเวศ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก มาช่วยกัน คนละไม้คนละมือ ฟื้นฟูจริงจัง รวมพลังสีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมือง”

นอกจากนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก 2564 ภายใต้หัวข้อ We Change World Change : เราเปลี่ยน โลกเปลี่ยน “ปลุกพลัง ปรับพฤติกรรม สร้างการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องสุขภาพ และการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมจากมลพิษสิ่งแวดล้อม พร้อมเชิญชวนประชาชนรับชมและร่วมกิจกรรมรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก 2564 รูปแบบออนไลน์ ในวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในประเทศไทยมีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งมลภาวะทางดิน น้ำ อากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น 1) ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) 2) ปัญหาหมอกควัน 3) ปัญหาขยะ

“ซึ่งพบว่า มีปัญหาจากขยะหลายประเภท ได้แก่ ขยะมูลฝอยตามชุมชน ขยะติดเชื้อ ขยะทั่วไป ขยะพลาสติก ขยะอันตรายที่มาจากสารเคมีและของเสียจากอุตสาหกรรม และจากสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในไทย 2563 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีพื้นที่วิกฤตทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่อื่น ๆ ในทุกภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบว่ามีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นประมาณ 27.35 ล้านตัน ของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 658,651 ตัน และมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้น 47,962 ตัน”