ถาม รมว.แรงงาน ลาฉีดวัคซีน (ไม่) ถูกตัดเบี้ยขยัน

แรงงาน

ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก หลังจากมีการลงทะเบียนผ่านระบบต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้ หรือแม้แต่วัคซีนทางเลือก แต่อาจมีบางอย่างที่หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านแรงงาน ลืมคิดไปว่าในกรณีพนักงานลูกจ้าง “ลางาน” ไปฉีดวัคซีน จะถูกกำหนดให้เป็นการลาประเภทใด ? และจะส่งผลค่าตอบแทนที่ลูกจ้างจะได้รับหรือไม่ ?

ลางานฉีดวัคซีนตัดเบี้ยขยัน

แหล่งข่าวจากองค์กรด้านแรงงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจ้างงานที่มีหลายประเภทมีระบบสวัสดิการที่แตกต่างกัน เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการหารือถึงข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ลางานฉีดวัคซีน แล้วพบว่ามีการ “ตัดเบี้ยขยัน” ออกไป ซึ่งเบี้ยขยันนั้นถือเป็นสวัสดิการเพื่อสร้างกำลังใจให้กับพนักงานที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถูกตัด จึงได้รับผลกระทบเต็ม ๆ

อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ยังมีโรงงานที่ยังเดินเครื่องการผลิตไม่เต็มที่ บางโรงงานเลิกจ้าง และปิดกิจการจำนวนมาก สังเกตได้ว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประเภทใดต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการทำงานที่บ้าน (work from home) ที่ทำงานล่วงเวลา (OT) แต่องค์กร นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ กลับไม่ให้ “เบิกค่า OT” รายได้ของลูกจ้างจึงลดลงแน่นอน ในขณะที่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาครั้งนี้จะต้องมองให้ครบทุกมิติวิเคราะห์ล่วงหน้าเพื่อให้ใช้แนวทางที่ถูกต้องตามปัญหาของลูกจ้างที่แตกต่างกันด้วย

“หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านแรงงานควรรับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ เพราะการฉีดวัคซีนยังคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 เดือน และยังต้องฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม หรืออาจจะล่วงไปถึงเข็มที่ 3 ก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากปัจจุบันโควิด-19 ยังพัฒนาความรุนแรงมากยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากเป็นไปได้ กระทรวงแรงงานควรมีการออกประกาศแนวปฏิบัติ หรือสร้าง “แรงจูงใจ” เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบการทั่วประเทศสนับสนุนให้พนักงาน ลูกจ้าง และแรงงาน เข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดยเมื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วนั้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชน รวมถึงเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มกำลัง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวต่อไป

ลูกจ้างร้องทุกข์ กระทรวงแรงงาน

“ชาลี ลอยสูง” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกลุ่มสหภาพแรงงานได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า ขณะนี้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจาก 2 กรณี คือ 1) การระบาดที่รุนแรงทำให้แรงงานกังวล จึงขอเข้ารับการตรวจโควิดในสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ถูก “ปฏิเสธ” การตรวจ

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยให้เหตุผลว่ายัง “ไม่มีอาการ” ซึ่งหยิบยกกรณีคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 7 คน กว่าจะได้รับการตรวจ ทำให้ในจำนวนนี้ติดเชื้อรวม 4 คน ยังไม่นับรวมจำนวนคนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงติดโควิด-19

และ 2) ในกรณีที่ลางานเพื่อไปฉีดวัคซีน นายจ้างตัดค่าตอบแทน เช่น เบี้ยขยัน ซึ่งมองว่าในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นนายจ้างควรจะเป็น “ผู้เสียสละ” เพื่อผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังมีนายจ้างบางรายในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ต้องการป้องกันแรงงานของตัวเองจากโควิด-19 ก็ยอมจ่ายเงินให้ 3,500 บาท เพื่อให้ไปตรวจโควิด-19 ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้เหตุผลว่าหากมีผู้ติดเชื้อในโรงงานคงต้องปิดโรงงานชั่วคราว ฉะนั้น ป้องกันเชิงรุกน่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

“ภาครัฐอาจต้องตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ต่างก็กลัวโควิด-19 จนกระทั่งต้องตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของลูกจ้าง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่คาดว่าจะมียอดร้องทุกข์อีกเป็นจำนวนมาก”

“ชาลี” กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เบื้องต้นได้รับการยืนยันว่ากำลังจัดหาแนวทางช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้สั่งกำชับกับ “สุชาติ” ว่า ต้องดูแลลูกจ้าง นายจ้างอย่างดีที่สุดในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณา

บิ๊กธุรกิจให้เป็นลากิจไม่บังคับ

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังสำรวจนโยบายองค์กรขนาดใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ในการให้พนักงาน หรือลูกจ้าง และแรงงานลางานไปฉีดวัคซีน ยกตัวอย่างบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กำหนดให้พนักงานทุกระดับสามารถลางานไปฉีดวัควีนป้องกันโควิด-19 ได้ และถือให้เป็นโควตาประเภทลากิจที่มีอยู่ประมาณ 30 วันต่อปี

อีกทั้งนโยบายจากบริษัทแม่จะไม่มีการ “บังคับฉีด” ถือเป็นการตัดสินใจของพนักงานเอง ด้านบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ที่ส่งเสริมให้พนักงานได้รับวัคซีน โดยใช้โควตาการลางานที่มีอยู่แล้ว เพราะหากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นอาจต้องปิดบริษัทชั่วคราว เนื่องจากเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงาน ลูกจ้าง เกินกว่า 1,000 คน จะควบคุมได้ยากหากพบการติดเชื้อ

ฉะนั้น การเข้ารับวัคซีนถือเป็นการป้องกัน และลดความรุนแรงของโควิด-19 ดีที่สุดในขณะนี้ อีกทั้งหน่วยงานเหล่านี้ยังช่วยเหลือให้ภาครัฐสามารถใช้พื้นที่สถานีบริการน้ำมันในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการกระจายวัคซีนให้ได้ตามแผนที่ภาครัฐวางไว้ได้