‘ไอแอลโอ’ ระบุพิษโควิดเพิ่มจำนวนแรงงานเด็ก สูงสุดในรอบ 20 ปี

ที่มาภาพ: ILO/Joseph Fortin

‘ไอแอลโอ’ ระบุพิษโควิดส่งผลให้จำนวนแรงงานเด็กเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี เด็กจำนวนมากอาจถูกบังคับให้ทำงานที่มีรูปแบบที่เลวร้าย เนื่องจากการตกงานและการสูญเสียรายได้ของครอบครัวในกลุ่มที่เปราะบาง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization : ILO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) จัดทำรายงานฉบับใหม่เรื่อง “การใช้แรงงานเด็ก : ตัวเลขประมาณการทั่วโลก ปี 2563 แนวโน้มและแนวทางสู่ความสำเร็จ” โดยการประมาณการใช้วิธีการอนุมานข้อมูลจากการสำรวจ 106 ครั้งที่ครอบคลุมมากกว่า ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรโลกที่เป็นเด็ก อายุตั้งแต่ 5-17 ปี เพื่อเผยแพร่ก่อน “วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก” วันที่ 12 มิถุนายนนี้ เป็นการเตือนว่า ความคืบหน้าในการยุติการใช้แรงงานเด็กได้สะดุดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี และก่อให้เกิดการถดถอยของแนวโน้มก่อนหน้านี้ ที่จำนวนแรงงานเด็กลดลงที่ 94 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2543 ถึง 2559

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า แรงงานเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเกินครึ่งของตัวเลขแรงงานเด็กทั่วโลก โดยเด็กอายุระหว่าง 5–17 ปี ทำงานอันตราย ซึ่งหมายถึงงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็ก มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนเป็น 79 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2559

“กาย ไรเดอร์” ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตัวเลขประมาณการล่าสุดนี้ เป็นการเตือนว่าเราไม่สามารถนิ่งดูดาย ขณะที่เด็กรุ่นใหม่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

“แต่ละประเทศต้องมีการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมให้ครอบครัวสามารถให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ แม้ในยามที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น การลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนาชนบทและงานที่มีคุณค่าในภาคเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง”

รายงานระบุด้วยว่า ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ที่มีการเติบโตของวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งความยากจนอย่างรุนแรง และมาตรการการคุ้มครองทางสังคมที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีแรงงานเด็กเพิ่มขึ้นอีก 16.6 ล้านคน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีความคืบหน้า เช่น ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน โควิด-19 ก็กำลังเป็นอันตรายต่อความคืบหน้าของประเทศในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2559

ทั้งนี้ รายงานเตือนว่า ทั่วโลกมีเด็กอีก 9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงจะถูกผลักให้เป็นแรงงานเด็กภายในสิ้นปี 2565 อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และแบบจำลองสถานการณ์แสดงให้เห็นว่าตัวเลขแรงงานเด็กอาจเพิ่มขึ้นเป็น 46 ล้านคน หากเด็กเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมที่จำเป็นได้

ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและการปิดโรงเรียนที่มีสาเหตุจากการระบาดของโรคโควิด-19 อาจทำให้เด็กที่เป็นแรงงานเด็กอยู่แล้วมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น หรือตกอยู่ภายใต้สภาวะที่เลวร้ายลง ขณะที่เด็กอีกจำนวนมากอาจถูกบังคับให้ทำงานที่มีรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากการตกงานและการสูญเสียรายได้ของครอบครัวในกลุ่มที่เปราะบาง

“เฮนเรียตตา โฟร์” ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า เรากำลังพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก และในปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้การต่อสู้นั้นง่ายขึ้นเลย ซึ่งตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 2 ของการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดโรงเรียน เกิดความปั่นป่วน เศรษฐกิจหยุดชะงัก และงบประมาณของทุกประเทศหดตัว ทำให้หลายครอบครัวถูกบีบให้ตัดสินใจทำในทางที่พวกเขาไม่อยากทำ

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการลงทุนในโครงการที่สามารถช่วยให้เด็กออกจากงานและกลับไปเรียนหนังสือได้ และลงทุนในโครงการที่ให้การคุ้มครองทางสังคมที่สามารถช่วยให้ครอบครัวหลีกเลี่ยงการตัดสินใจให้ลูกออกมาทำงาน”

รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุข้อค้นพบประการอื่น ๆ ดังนี้

  • แรงงานเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.4 ล้านคนในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
  • ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนแรงงานเด็กคิดเป็นร้อยละ 70 (112 ล้านคน) ตามด้วยร้อยละ 20 ในภาคบริการ (31.4 ล้านคน) และร้อยละ 10 ในภาคอุตสาหกรรม (16.5 ล้านคน)
  • เกือบร้อยละ 28 ของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5-11 ขวบ และร้อยละ 35 ของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12-14 ปี เป็นแรงงานเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ
  • การใช้แรงงานเด็กเป็นที่แพร่หลายในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงในทุกช่วงอายุ แต่เมื่อคำนึงถึงการทำงานบ้านอย่างน้อย 21 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ช่องว่างระหว่างเพศในการใช้แรงงานเด็กจะแคบลง
  • ความหนาแน่นของการใช้แรงงานเด็กในเขตพื้นที่ชนบท (ร้อยละ 14) สูงกว่าในเขตพื้นที่เมือง (ร้อยละ 5) เกือบสามเท่า

เพื่อให้แนวโน้มที่กำลังเพิ่มขึ้นของการใช้แรงงานเด็กถอยกลับลงไป ไอแอลโอ และยูนิเซฟ จึงมีข้อเรียกร้องให้ทุกประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติ โดยเพิ่มความพยายามขึ้นเป็น 2 เท่าในการต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็กทั่วโลกโดยการให้คำมั่นในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

  • มีการคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอสำหรับคนทุกคน รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กแบบถ้วนหน้า
  • เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพและให้เด็กทุกคนกลับไปเรียนหนังสือ รวมถึงเด็กที่ออกจากโรงเรียนก่อนการระบาดของโรคโควิด-19
  • ส่งเสริมงานที่มีคุณค่าสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งจะทำให้ครอบครัวไม่ต้องพึ่งพาเด็ก ๆ ในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว
  • ยกเลิกบรรทัดฐานทางเพศสภาพที่เป็นอันตรายและการเลือกปฏิบัติที่มีอิทธิพลต่อการใช้แรงงงานเด็ก
  • ลงทุนในระบบการคุ้มครองเด็ก การพัฒนาการเกษตร การบริการสาธารณะในเขตพื้นที่ชนบท โครงสร้างพื้นฐานและการดำรงชีวิต

เพื่อช่วยเด็กที่เป็นแรงงานจากอันตรายทางร่างกายและจิตใจ การใช้แรงงานเด็กกระทบต่อการศึกษาของเด็ก ๆ จำกัดสิทธิและโอกาสในอนาคตของเด็ก และนำมาสู่วงจรอุบาทว์ของความยากจนและการใช้แรงงานเด็กในแต่ละช่วงอายุคน