“ยูนิโคล่” บริจาค 1 ล้าน ช่วยอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อม

Wild Animal

นิโคล่แบรนด์เครื่องแต่งกายระดับโลกจากญี่ปุ่น จับมือมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (WARF) บริจาค 1 ล้านบาทจากการขายถุงกระดาษ สนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมสานต่อพันธกิจด้านความยั่งยืน “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” เปลี่ยนพลังของเสื้อผ้าให้กลายเป็นพลังแห่งความดีเพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์โลกและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยการผลิตเสื้อผ้าและกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เขมจิรา เทศประทีป” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยูนิโคล่ให้ความสำคัญกับพันธกิจด้านความยั่งยืนมาโดยตลอดตามแนวคิด “ปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” ที่มุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ผู้คน ชุมชน และโลก รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เขมจิรา เทศประทีป
เขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย)

“โดยเฉพาะการลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งภายในร้าน โดยยูนิโคล่ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกลงให้ได้ 85% หรือประมาณ 7,800 ตันทั่วโลกตามเป้าหมายของบริษัท ด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เป็นพลาสติกเป็นกระดาษ สนับสนุนให้ลูกค้าใช้ถุงผ้า ecobag และการเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก”

“สำหรับประเทศไทย ยูนิโคล่เริ่มดำเนินการงดแจกถุงพลาสติกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 โดยเปลี่ยนมาขายถุงกระดาษใบละ 2 บาทแทน ทำให้ปัจจุบันมีรายได้จากการขายแล้วประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะบริจาคแก่มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือฟื้นฟูสัตว์ต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญในการตอกย้ำความมุ่งมั่นของยูนิโคล่ในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม”

“ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์” เลขาธิการมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยกล่าวเสริมว่า มูลนิธิเริ่มช่วยเหลือสัตว์ป่าเมื่อปี 2528 จากการเปิดพื้นที่เล็ก ๆ หลังบ้านใจกลางถนนสุขุมวิท ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นทุ่งนาอยู่ให้เป็นศูนย์พิทักษ์สัตว์ป่า เพื่อใช้เป็นที่ช่วยเหลือและเลี้ยงดูสัตว์ป่า ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคทองของการล่าและค้าสัตว์ป่าอย่างเกลื่อนกลาดตามตลาดมืดทั่วประเทศ ซากชิ้นส่วนสัตว์ป่าและที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถพบเห็นได้อย่างง่ายดาย

ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์
ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์ เลขาธิการมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย

“เนื่องจากยังไม่มีการคลอดตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าขึ้น พอเวลาผ่านไปผู้คนเริ่มนำสัตว์ป่าที่ไม่ต้องการแล้วมามอบให้ ส่งผลให้จำนวนสัตว์มีปริมาณมากขึ้น พื้นที่ในการวางกรงเลี้ยงดูสัตว์ป่าหลังบ้านเริ่มไม่เพียงพอ ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ จึงปรึกษาและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน จนก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาในปี 2535 และได้ขยายงานช่วยเหลือสัตว์ป่าควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้”

“สมัยนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชยังไม่ก่อตั้งและร่วมมือในการรับดูแลสัตว์ป่าจำนวนมากให้กับทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยได้รับการช่วยเหลือจากสัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า และอาสาสมัครจากทั่วโลก ประกอบกับได้ช่วยเหลือหน่วยงานราชการด้วยดีมาตลอด จนมีโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ทั่วประเทศไทยอย่างทุกวันนี้ ซึ่งโครงการหลัก ๆ ของมูลนิธิตอนนี้ ได้แก่ โครงการคืนชะนีสู่ป่า โครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ฯลฯ”

“ทั้งนี้ ปัญหาเกี่ยวกับสัตว์ทุกประเภทไม่ใช่แค่การล่าค้าสัตว์จากกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น ปัจจุบันมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นผู้ล่า เนื่องจากการดำรงชีวิตประจำวันของเราส่งผลกระทบต่อสัตว์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกที่เกิดจากมนุษย์ ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตสัตว์ป่า และสัตว์ทะเลจำนวนมหาศาล ถึงแม้ว่าไทยจะมีทรัพยากรสัตว์มากถึง 10% ของโลก แต่ในขณะเดียวกันเราคือ 1 ใน 10 ประเทศที่สร้างขยะลงสู่โลกสูงสุดอีกด้วย อันเป็นปัจจัยทำให้สัตว์ทั้งหลายเสียชีวิตเยอะทั้งสัตว์ป่าและสัตว์ทะเล”

“ธนพัฒน์” บอกว่า เราจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จากการทำงานที่ผ่านมาเราค้นพบว่างานอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมักมีจุดเริ่มต้นจากการลงมือทำจากส่วนเล็ก ๆ ก่อนเสมอ ดังนั้น พันธกิจยูนิโคล่ที่เริ่มจากการลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อของในร้าน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญและเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย แต่ได้ผลลัพธ์มหาศาลในการร่วมรักษาโลกของเรา

“ซึ่งนอกจากลูกค้ายูนิโคล่จะได้มีส่วนร่วมในการลดพลาสติก ลดคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว เงินบริจาคที่มอบให้กับมูลนิธิยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย เนื่องจากงานวิจัยล่าสุดสัตว์ป่ามีความสามารถในการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชอาหารที่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้กับโลกอีกด้วย”

“โดยมูลนิธิจะนำเงินบริจาคส่วนนี้ไปใช้ในภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ป่าและสัตว์ทะเลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านสัตว์ป่าและระบบนิเวศ คืนสมดุลให้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจคืนสัตว์สู่ธรรมชาติ”

“หลายคนอาจไม่ทราบว่าการคืนสัตว์กลับสู่ธรรมชาติไม่ใช่แค่การปล่อย แต่ต้องมีการฟื้นฟูสภาพและสัญชาตญาณต่าง ๆ ทั้งยังต้องมีการค้นคว้าวิจัยจนกว่าจะพบเทคนิคในการปล่อยสัตว์ที่เคยอยู่กับคนสู่ป่า และต้องใช้เวลาฝึกสัญชาตญาณเขาอย่างต่ำถึง 5 ปี”


ฉะนั้น เงินบริจาคจะไปช่วยสนับสนุนงานวิจัยส่วนนี้ และกำลังอยู่ในช่วงพูดคุยกับยูนิโคล่อยู่ว่าจะดำเนินการระยะยาวอย่างไรบ้าง