เทรนด์จ้างงานสู้โควิด-19 เข้มสุขภาพผ่านฉีดวัคซีน

เทรนด์จ้างงานเน้นฉีดวัคซีน
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

โรงงาน-บริษัทปรับวิธีรับพนักงานใหม่ “ซีแวลู-ทียู-ศรีตรัง” ขอ new normal ต้องยื่นใบตรวจสุขภาพ ไร้โควิด และเข้าถึงวัคซีนเป็นหัวใจหลัก เผยผู้สมัครงานเริ่มตั้งคำถามมี WFH หรือไม่ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่สำนักงานจะลดลง หรือปรับเปลี่ยนไปเป็นแบบผสมผสาน

ผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ขยายวงกว้างไปยังภาคการผลิตสินค้าต่าง ๆ มากกว่า 17 โรงงานใน 9 จังหวัด ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป-ไก่แปรรูป-ผลไม้กระป๋อง-บะหมี่สำเร็จรูป-อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องนุ่งห่ม ส่งผลให้แต่ละบริษัทต้องปรับวิธีการทำงาน เพิ่มการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น รวมไปถึงกระบวนการในการรับพนักงานและแรงงานใหม่ โดยหลายบริษัทเลือกที่จะใช้วิถีใหม่ หรือ new normal ในการรับสมัครพนักงาน

นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีแวลู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ซูเปอร์ ซีเชฟ” กล่าวถึงการปรับตัวหลังจากผ่านวิกฤตโควิดสมุทรสาคร ทำให้พนักงานใหม่ที่จะเข้ามาร่วมงานกับบริษัทต้องตรวจโควิดก่อนเข้างานทุกคน โดยขณะนี้บริษัทมีการเปิดรับสมัครอยู่ประมาณ 1,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตถ้าวัคซีนมีการเข้าถึงพนักงานต่างด้าวได้ก็จะให้พนักงานฉีดวัคซีนก่อนเข้างานเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ขณะที่กลุ่มไทยยูเนี่ยน (TU) ผู้ผลิตส่งออกอาหารทะเลและผลิตภัณฑ์รายใหญ่ของโลก มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ไทยยูเนี่ยนได้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน โดยพนักชาวต่างชาติทุกคนต้องทดสอบ RTPCR COVID-19 ก่อนเข้าร่วมงาน รวมถึงการต่ออายุวีซ่าสำหรับพนักงานที่ทำงานอยู่แล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงดำเนินการจ้างงานเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ แม้ว่าการจ้างแรงงานต่างด้าว MOU จากเมียนมา/กัมพูชา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม

ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงโควิด-19 ไทยยูเนี่ยนยังได้ดำเนินมาตรการป้องกันการติดเชื้อภายในโรงงานอย่างครอบคลุมและเคร่งครัด นอกจากนี้ บริษัทยังมีการจัดสรรให้ทำงานจากที่บ้าน (WFH) สำหรับหน้าที่หรือหน่วยงานที่สามารถปฏิบัติงานได้ด้วย

เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ซึ่งโรงงานกำลังเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในหมู่แรงงาน ในโรงงานที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ตรัง ว่า บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการรับ “พนักงานใหม่” โดยกำหนดให้จะต้องมีใบรับรองการตรวจสวอฟมาประกอบการสมัครงาน และเมื่อสมัครงานแล้วให้กักตัวอีก 14 วัน เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ซีอีโอ บริษัท พาราดิน เวิร์คแวร์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแบรนด์ “BlueBear” กล่าวถึงเรื่องการรับสมัครพนักงานใหม่เป็นไปตามนโยบายของแต่ละบริษัท ยังไม่มีวิธีการที่เป็นมาตรฐานบังคับที่เหมือนกัน สำหรับวิธีการโดยทั่วไปก็จะทำตามคำแนะนำ good factory practice ที่ทางหน่วยงานรัฐและที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแนะนำ

ส่วนนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย กล่าวว่า ขอให้เชื่อมั่นกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปในประเทศไทยสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย ตลอดทั้ง supply chain มีมาตรการป้องกันดูแลอย่างเข้มงวด ตามมาตรฐานควบคุมหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP)

โดยในส่วนของบุคลากรจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองสุขภาพ ก่อนเข้าพื้นที่การผลิตและต้องสวมชุดป้องกันการปนเปื้อนตลอดเวลา ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ และต้องสวมชุดถุงมือ หมวก รองเท้า และผ้ากันเปื้อน และต้องเว้นระยะห่างระหว่างการปฏิบัติงานอย่างน้อย 2 เมตร

การทำงานแบบผสมผสาน

นายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT (Personnel Management Association of Thailand) กล่าวประเด็นนี้ว่า การจ้างงานในสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในระลอก 3 นั้น จะทำให้เห็นภาพของสภาพการจ้างงานใหม่เกิดขึ้น องค์กรต่าง ๆ จะต้องสร้างแรงจูงใจในการดึงดูคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการอย่างการทำงานที่บ้าน (WFH) ที่จะเป็นตัวดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่งงานได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานที่บ้าน เช่น ค่าไฟฟ้า ไปจนถึงค่าโทรศัพท์ โดยขณะนี้ได้เริ่มเห็นองค์กรต่าง ๆ เริ่มออกแบบการจ้างงานใหม่ (redesign) ใหม่ มีการกำหนดสัดส่วนระหว่างการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น ขณะที่การทำงานที่สำนักงาน (onsite) ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีโจทย์ชัดเจนว่า ต้องการคนรุ่นใหม่ที่เก่งเข้ามาร่วมงานด้วย

“เราจะได้เห็นการจ้างงานแบบเฉพาะกิจมากขึ้น เพราะยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า โควิด-19 จะยังคงอยู่อีกนานแค่ไหน ฉะนั้น การปรับตัวหรือมีแผนสำรองในการจัดการด้านกำลังคนจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัว และวางแผนให้สอดคล้องและยืดหยุ่นรับสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ” นายบวรนันท์กล่าว

ด้านนางสาวพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Weflex Consulting ระบุว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คนรุ่นใหม่เลือกทำงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในแบบ “hybrid of work” คือการผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้าน และการทำงานที่สำนักงาน อีกทั้งในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ก็มีความพร้อมอยู่แล้วในแง่ของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน และสิ่งที่จะตามมาคือ การวัดผลการทำงานที่จะวัดจาก “ชิ้นงาน” หรือ performance ของพนักงานได้

ร้านอาหารไม่กำหนดเงื่อนไข

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีการรับสมัครพนักงานอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ช่วงโควิดที่เกิดขึ้นจะมีการรับพนักงานเฉพาะบางสาขา ในอัตราที่ไม่มากนัก ส่วนจะเพิ่มมาตรการเรื่องการตรวจโควิด หรือการฉีดวัคซีน ก่อนเข้ารับการทำงานหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล และบริษัทไม่ได้จำกัดสิทธิ์การสมัคร แต่จะเน้นรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนมากกว่า ไม่อยากให้มองในเชิงของการบังคับ

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ไมเนอร์ฟู้ดมีนโยบายหลัก สร้างความมั่นใจให้พนักงานเข้ารับการฉีดวัคซีน ถือว่าเรากระตุ้นโครงการนี้ได้ดีพอสมควร และถ้าพนักงานฉีดวัคซีนแล้ว จะได้เข็มกลัด 1 เข็ม เพื่อแสดงว่าผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าร้านไหนพนักงานฉีดวัคซีนได้ครบจะมีโปสเตอร์ติดที่หน้าร้าน หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า