เปิดไอเดียรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เป็นแบต Li-ion ช่วยไทยลดขยะ 8 แสนตัน

ที่มาภาพ: REUTERS/Jean-Paul Pelissier

เปิดไอเดียรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เป็นแบตลิเธียมไอออน ช่วยไทยลดขยะแผงโซลาเซลล์ที่ทยอยหมดอายุสะสมสูงกว่า 790,000 ตัน ในปี 2565

อินโดรามา เวนเจอร์ส จัดโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาขยะในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้นวัตกรรุ่นใหม่พัฒนาทักษะสำหรับการคิดค้นโซลูชั่น เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

“ยาช โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า โครงการนี้เป็นแรงผลักดัน และให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ ในการนำแนวคิดของพวกเขามาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง ภายใต้แนวทางของการรีไซเคิล และเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไอวีแอลในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในเชิงบวก

“ยาช โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส

“มีผู้ลงทะเบียนรวมถึง 174 ทีม และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวมถึง 108 โครงการที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจพอเพียง โดยทีมที่ชนะเลิศได้แก่ RECYSO กับผลงานนำขยะแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อใช้งานต่อ”

“ยุทธนากร คณะพันธ์” หัวหน้าทีม RECYSO บอกเล่าถึงแนวคิดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนของทีมว่า โจทย์ของโครงการทำให้เริ่มศึกษาปัญหาขยะในประเทศไทย หาวัสดุเหลือใช้ที่สามารถเอาไปสกัดทำเป็นพวกแบตเตอรี่ ด้วยความที่ทีมกำลังศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงมีความรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว สามารถเอามาทำแบตเตอรี่ได้ และเห็นเทรนด์ความต้องการของตลาดแบตเตอรี่ในอนาคตที่ต้องการวัสดุประจุไฟฟ้าขั้วลบเป็นซิลิกอน

“ยุทธนากร คณะพันธ์” หัวหน้าทีม RECYSO

“ในแผงโซลาเซลล์ 1 แผงมีซิลิกอนเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 3.56% จึงคิดจะเอาซิลิกอนจากแผงโซลาเซลล์ที่หมดอายุแล้วมาผ่านกระบวนการ แล้วทำให้เป็นวัสดุที่เหมาะสำหรับไปทำแบตเตอรี่ต่อได้ เราไม่จำเป็นต้องขุดเหมืองมาทำแบตเตอรี่ แค่นำขยะแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ก็นับเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ไม่เพียงแค่ขยะเหลือศูนย์หรือ Zero Waste เท่านั้น แต่ต้องเป็นขยะที่วนกลับมาอยู่ในวงจรเศรษฐกิจต่อได้”

ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มใช้แผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2545 โดยอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์มีระยะเวลา 20 ปีหลังจากติดตั้ง ทำให้คาดได้ว่า ภายในปี 2565 ประเทศไทยจะมีแผงโซลาเซลล์ที่ทยอยหมดอายุสะสมสูงถึง 620,000 – 790,000 ตัน

“ต้องยอมรับว่าการใช้แผงโซลาเซลล์มีประโยชน์ในด้านการผลิตพลังงานสะอาด แต่เมื่อแผงเหล่านั้นหมดอายุและถูกวางทิ้งไว้เป็นซากโดยไม่มีการกำจัดที่ถูกวิธี จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนสารไดออกซินจากการเผาที่ไม่ถูกต้อง การแพร่กระจายของโลหะหนัก อาทิ แคดเมียม ตะกั่ว เทลลูเลียม อินเดียม แกลเลียม จากการกำจัดโดยการฝังกลบเมื่อตากแดดตากฝนอาจจะชะล้างโลหะหนักเหล่านี้ลงสู่ผืนดิน แม่น้ำ ลำคลอง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

ทีม RECYSO

ดังนั้น การรีไซเคิลแผงโซลาเซลล์ จึงเป็นหนึ่งแนวทางในการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ การจัดการส่วนใหญ่ยังเป็นการกําจัดแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน มีต้นทุนต่ำ โดยใช้การคัดแยกขยะแล้วนําไปย่อย เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนเข้าตามกระบวนการปรับเสถียร ก่อนทิ้งในหลุมฝังกลบตามกฎหมาย แต่การจัดการเพื่อนํากลับมาใช้ใหม่จะมีกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นเพื่อให้ได้วัสดุคุณภาพดีที่สามารถรีไซเคิลได้ซึ่งต้องใช้เงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยีมากขึ้น

“ยุทธนากร” เล่าว่า เหตุผลหลักของอุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ที่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน การรีไซเคิลแล้วดึงมูลค่าของวัสดุในนั้นรวมกันได้แค่ 400 บาท กระบวนการส่วนใหญ่มีเพียงแค่แยกกระจก กรอบโลหะอลูมิเนียม แล้วเอาไปฝังกลบ ส่วนที่เหลือพลาสติกหรือโลหะหนักต่าง ๆ จะมีบางบริษัทที่เค้าเอาซิลิกอนหรือเอาแร่โลหะต่าง ๆ ที่อยู่ภายในเอากลับไปทำแผงโซลาร์เซลล์เหมือนเดิม แต่ว่าการเอาไปทำมันต้องทำให้บริสุทธิ์มากกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการนี้ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้ต้นทุนที่สูงมาก จึงทำให้ไม่คุ้มทุน

“ความแตกต่างที่ชัดเจนของนวัตกรรมของเรา คือ เราสกัดเอาซิลิกอนจากภายในแผงโซลาเซลล์เหมือนคนอื่น ๆ แต่เรานำมาปรับปรุงคุณสมบัติให้เป็นซิลิกอนที่เหมาะกับแบตเตอรี่ที่มีขนาดในระดับนาโนเมตร คือเล็กมาก ๆ เหมือนกับเอาเส้นผม 1 เส้น มาแบ่งเป็น 8 แสนเส้น ซึ่ง 1 ใน 8 แสนเป็น 1 นาโน พอเราทำกระบวนการได้ จะสามารถเพิ่มมูลค่าจากซิลิกอนเกรดโลหะกรัมที่อยู่ในแผงโซลาร์เซลล์ เวลาสกัดมาได้กิโลละ 75 บาท ถ้าเอาไปทำเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นาโนซิลิกอน ซึ่งสามารถใช้กับแบตเตอรี่ได้ทุกประเภท เช่น แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในแต่ละรูปแบบ ในแบตเตอรี่ 1 เซลล์ ใช้ในขั้วลบประมาณ 10-15% ซึ่งจำนวนนี้ที่เราเอานาโนซิลิกอนหรือวัสดุที่สกัดได้ไปทดแทน โดยมีคุณสมบัติที่เบา ประจุพลังงานได้มาก และใช้งานได้ยาวนาน”

“การได้รับโอกาสจากอินโดรามา เวนเจอร์ส และองค์กรพันธมิตรที่ร่วมจัดนี้ เปรียบเหมือนกับมีหลายมือมาผสานกัน ให้ความเชื่อมั่นว่าคุณทำได้ ผมเชื่อว่า สักวันจะต้องเกิดขึ้นจริงในประเทสไทย และสิ่งที่คาดหวังต่อจากนี้คือ การพัฒนาโรงงานฉบับสมบูรณ์ ที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพ หรือใช้ในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยได้”