‘ภาคเอกชน’ ผนึกกำลัง หนุนบุคลากรแพทย์-คนในชุมชน ต่อสู้กับโควิด

ที่มาภาพ: AFP/Paulo Miranda

‘ภาคเอกชน’ ผนึกกำลังสนับสนุนบุคลากรแพทย์ และคนในชุมชน ต่อสู้กับโควิด-19 ในมิติต่าง ๆ ทั้งการมอบอาหาร อุปกรณ์ที่จำเป็น สมทบทุน และใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการคิวฉีดวัคซีน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ระลอก 3 มีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งยอดผู้ติดเชื้อใหม่และยอดผู้ติดเชื้อสะสมมีเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นวิกฤติก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข ล้วนแต่ต้องทำงานหนัก แข่งกับเวลา เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยและลดยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด

ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ มีบริษัทเอกชนจำนวนมากระดมกำลังสนับสนุนบุคคลากรด้านการแพทย์ ในมิติต่าง ๆ และหลายบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง เนื่องจากชาวบ้านหลายคนมีอุปสรรคในการหารายได้เพื่อซื้อของอุปโภคบริโภคมาในช่วงที่สถานการรณ์ไม่ปกติเช่นนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมตัวอย่างรูปแบบที่ภาคเอกชนยื่นมือช่วยเหลือสังคมในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 ดังนี้

คาราวานผลผลิตเกษตร

สยามคูโบต้า จับมือ 5 วิสาหกิจชุมชน ทำกิจกรรม คูโบต้า…ฟาร์มส่งสุข จัดคาราวานรถบรรทุกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์จากชุมชน สู่ 5 โรงพยาบาล เพื่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ภายใต้โครงการ KUBOTA On Your Side ปีที่ 2

คาราวานผลผลิตเกษตรของสยามคูโบต้า

“วราภรณ์ โอสถาพันธุ์” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขของผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันโรงพยาบาลก็มีความต้องการอาหารที่เพียงพอ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารักษาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในขณะเดียวกันกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

“เราจึงทำกิจกรรม คูโบต้า…ฟาร์มส่งสุข พร้อมปล่อยคาราวานครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรไปสู่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลสนาม ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับความร่วมมือจาก 5 กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า ที่เราร่วมสร้างให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบทางการเกษตรที่มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2555”

กิจกรรมในครั้งนี้ สยามคูโบต้าได้ให้การอุดหนุนผลผลิตที่มีคุณภาพของกลุ่มเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์แปรรูปขึ้นชื่อของชุมชน และดำเนินการจัดส่งผลผลิตจนถึงมือผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี 5 เส้นทาง ที่ส่งมอบเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ สู่โรงพยาบาลสมุทรปราการ เส้นทางที่

2 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-เกษตรทิพย์ จังหวัดศรีสะเกษ สู่โรงพยาบาลสนามศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและฝั่ง จังหวัดชลบุรี เส้นทางที่ 3 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ห้วยตาดข่า จังหวัดอุดรธานี สู่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เส้นทางที่ 4 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-ตอนิมิตร จังหวัดแพร่ สู่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และเส้นทางที่ 5 ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-หนองผักบุ้ง จังหวัดเพชรบูรณ์ สู่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

ถุงปันยิ้มช่วยชุมชน 800 ครัวเรือน

สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ มอบถุงปันยิ้มให้กับคนในชุมชนเขตราชเทวี กทม.

บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลัง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ทำโครงการ “ถุงปันยิ้ม” ช่วยเหลือด้านอาหารและสิ่งของที่จำเป็นให้กับชุมชนในเขตราชเทวี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของคน ทางบริษัทจึงร่วมกับสหพัฒนพิบูลนำส่งของกินของใช้ที่จำเป็นให้กับคนในชุมชน เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังกายและกำลังใจให้ดีขึ้น พร้อมต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19

“ครั้งนี้เราได้จัดกิจกรรมมอบถุงปันยิ้มให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตราชเทวี จำนวนกว่า 800 ครัวเรือน โดยได้รับการสนับสนุนอาหารและสิ่งของที่จำเป็นจากสหพัฒนพิบูล ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมเวเฟอร์ ปลากระป๋อง นมถั่วเหลือง และเจลแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ เมเจอร์ฯยังได้นำอาหารกลางวันจาก Blu-O และป๊อปคอร์น มามอบให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชน โดยประสานกับสำนักงานเขต และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในการลงพื้นที่ในการส่งมอบถุงปันยิ้มให้กับคนในชุมชนที่ต้องกักตัวภายในบ้าน”

อุดหนุน SME ส่งต่อให้คณะแพทย์

บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) สานต่อนโยบาย “Sansiri Care…เพราะเราห่วงใย” ช่วย 2 ต่อ โดยอุดหนุนสินค้าด้านอาหารของผู้ประกอบการ SMEs ไทย และมอบเป็นอาหารมื้อเย็นให้แก่คณะแพทย์ พยาบาล และทีมงานจิตอาสาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. ที่ผ่านมา

แสนสิริอุดหนุนสินค้าผู้ประกอบการ SMEs ไทย และมอบให้กับคณะแพทย์ พยาบาล และทีมงานจิตอาสาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

ตั้งแต่ปี 2563 แสนสิริร่วมสนับสนุนเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความหวังที่จะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว เริ่มจากการบริจาคเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่ารวมกว่า 8 ล้านบาท ต่อมาได้มอบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยหรือรถตรวจโควิด-19 จำนวน 1 คัน มูลค่าประมาณ 1.8 ล้านบาท เพื่อให้กรมควบคุมโรคได้ใช้ตรวจโควิด-19 เชิงรุกในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและภูเก็ต

และล่าสุดแสนสิริได้ผนึกกำลังกับพันธมิตรคู่ค้า 29 บริษัท สร้างห้องอาบน้ำสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลสนามเมืองทองธานี กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 380 ห้อง รวมมูลค่า 8 ล้านบาท โดยสร้างเสร็จภายในระยะเวลา 5 วัน เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

มอบถุงขยะ 1.2 ล้านใบ

บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ ฮีโร่ (HERO) ส่งความห่วงใยด้านสุขอนามัยในภาวะวิกฤติโควิด-19 ด้วยการจัดทำโครงการ “ฮีโร่มาแล้ว” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคม และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ของบริษัท มุ่งเน้นการส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น และให้ความรู้ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ดีให้แก่สังคม

ล่าสุดบริษัทเดินหน้าบริจาคถุงขยะดำ ถุงขยะแดง และถุงซิปอเนกประสงค์กว่า 1.2 ล้านใบ ให้โรงพยาบาลรัฐที่ต้องการความช่วยเหลือ นำร่อง โรงพยาบาลในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง  

คิงส์แพ็ค บริจาคถุงขยะพลาสติกฮีโร่ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลายประเภท เหมาะกับใช้ในการแพทย์ให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง

“ทวี จุลศักดิ์ศรีสกุล” กรรมการ บริษัท คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมถุงขยะดำสำหรับขยะทั่วไป ถุงขยะแดงสำหรับขยะติดเชื้อ และถุงซิปเอนกประสงค์ ให้กับโรงพยาบาลที่มีความต้องการ รวมกว่า 1.2 ล้านใบ โดยประเดิม 3 โรงพยาบาลรัฐในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โรงพยาบาลแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี

ทุกครั้งที่มีสถานการณ์เร่งด่วน คิงส์แพ็คฯ ทำการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลิด เช่น วิกฤตน้ำท่วมภาคอีสานปี 2562 เราได้มอบถุงขยะและถุงซิปผ่านหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผ่านคู่ค้าทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งใส่สิ่งของเครื่องใช้ไปให้ผู้ประสบภัยตามที่ต่าง ๆ และใช้เก็บขยะจากเหตุการณ์น้ำท่วม”

ส่วนในปี 2563 ไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ฮีโร่ได้บริจาคถุงขยะรวมกว่า 8 ล้านใบ ให้แก่ 125 องค์กรทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการที่ต้องติดต่อกับประชาชน รวมมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท และในปี 2564 ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายลง ทางคิงส์แพ็คเริ่มขยายวงจากการบริจาคสิ่งของที่จำเป็น มาเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะติดเชื้อเพิ่มเติม หากทุกคนในสังคมช่วยกัน สังคมก็จะดีขึ้น

“ทวี” กล่าวเพิ่มเติมว่า พลาสติกที่บริษัทผลิตและมอบให้กับลูกค้าหรือบริจาคให้กับสังคม เป็นพลาสติกที่ผ่านนวัตกรรมรีไซเคิล จากขยะพลาสติกกลับมาเป็นพลาสติกคุณภาพระดับสากลใบใหม่ จึงเป็นการช่วยลดขยะในประเทศไทยทางหนึ่งด้วย

สำหรับโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ที่ต้องการถุงฮีโร่ สามารถกรอกข้อมูลแจ้งความประสงค์ผ่านทาง Google Forms ที่ลิงก์นี้ shorturl.asia/D3HYu หรือส่งอีเมล์มาที่ [email protected] ตั้งแต่วันนี้–วันที่ 30 มิ.ย. 2564

สายด่วนแก้ปัญหาสุขภาพจิต

การรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในสถานการณ์ปัจจุบันมีหลากหลายมิติ ทั้งมาตรการควบคุมการเดินทาง การจำกัดการใช้บริการพื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่มาตรการเว้นระยะห่าง การรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่อีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ในช่วงนี้คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนไทย ในการรับมือกับข่าวสาร ภาวะเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต จนบางครั้งทำให้เกิดความเครียดจนนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิต

สายด่วน Are U OK ? แก้ปัญหาสุขภาพจิตคนไทยช่วงโควิด-19 ระบาด

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทีมอาจารย์พยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ AIS ในการเปิดสายด่วน “Are U OK ?” เพื่อให้บริการประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยประชาชนสามารถโทรเข้าปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ที่ เบอร์ 02-078-9088

นอกจากนั้น AIS ยังนำบริการดิจิทัล (digital service) อย่างระบบ call center ที่ใช้ intelligence IVR มาบริหารจัดการคิวสำหรับประชาชนที่เข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกด้วย

“รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์” ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต ซึ่งเราพบว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะถูกมองข้ามไป ทำให้ภาวะความเครียดส่งผลต่อการใช้ชีวิต จนบางครั้งหากมีความรุนแรงอาจถึงขั้นการคิดฆ่าตัวตายได้

ด้าน “สายชล ทรัพย์มากอุดม” หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าภารกิจสู้ภัยโควิด-19 ตามแนวทาง เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อคนไทย ผ่านการนำเทคโนโลยี และศักยภาพขององค์กรในด้านต่าง ๆ ทั้งสัญญาณเครือข่าย เทคโนโลยี บริการดิจิทัล รวมถึงบุคลากรทุกส่วนงาน เข้าสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขอย่างเต็มกำลัง

“สำหรับความร่วมกับโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งมิติ โดยเรามีความเชื่อว่า การทำงานแบบสอดประสานไม่ว่าจะในมิติไหนก็ตามจะช่วยทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ด้วยดี”

ในฐานะ Digital Life Service Provider ของ AIS นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแล้ว เรายืนยันความพร้อมในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสาร รวมถึง digital service ต่าง ๆ กับทุกภาคส่วน เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อจะสามารถเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้เร็วที่สุด

ระดมพลังพนักงานจิตอาสา

พนักงานธนาคารซิตี้แบงก์ร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย และส่งกำลังใจไปถึงบุคลากรด้านสาธารณสุข

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2510 และได้ขยายกิจการจนกลายเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีรากฐานมั่นคงแห่งหนึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานในไทยราว 2,200 คน และได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ของพนักงานในองค์กร มาโดยตลอด

ทั้งในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินทุก ๆ ปี โดยร่วมมือกับองค์กรและมูลนิธิต่าง ๆ เป็นการเสริมศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการสร้างอาชีพ การส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงพนักงานซิตี้แบงก์ช่วยขับเคลื่อนแนวคิดด้านความเป็นผู้นำและนวัตกรรมให้คนในชุมชน

ล่าสุด ซิตี้แบงก์ จัดกิจกรรมจิตอาสาชื่อ “วันชุมชนซิตี้” (Citi Global Community Day) เพื่อส่งเสริมให้พนักงานรวมถึงคนในครอบครัวและเพื่อน ๆ ของพนักงาน ร่วมเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมหลากหลายที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรด้านสาธารณสุขของไทยที่กำลังต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ได้แก่

  • เปลี่ยนคะแนนในบัตรเครดิตเป็นเงินบริจาคให้กับมูลนิธิรามาธิบดี
  • บริจาคเลือด ช่วยกันเติมเลือดในคลังให้เพียงพอ เพราะตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนคลังเลือดลดลง จนหลายครั้งไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการเลือดเพื่อใช้ในการรักษา
  • ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสมทบเงินซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลศิริราช และศิริราชมูลนิธิ สำหรับใช้ในการต่อสู้กับโรคต่าง ๆ
  • บริจาคเงินเพื่อนำไปซื้อสิ่งของที่จำเป็นและขาดแคลน เช่น ชุด PPE หน้ากาก N95 ตามแต่ความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลสนาม
  • วิ่งสะสมระยะทาง เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินบริจาคเพื่อสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับมูลนิธิรามาธิบดี

เพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี โดยหัวใจสำคัญในการทำโครงการคือเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นไปที่การยกระดับสังคมในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม รวมถึงด้านเยาวชน

“ทีบอร์ พานดิ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า Citi Global Community Day เป็นกิจกรรมที่ธนาคารซิตี้แบงก์จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก โดยกิจกรรมปีนี้ในประเทศไทยมุ่งเน้นไปที่เรื่องการช่วยเหลือด้านโควิด-19

“การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ถือเป็นด่านหน้า ที่ต้องทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างหนักในการดูแลรักษาผู้ป่วย และในฐานะที่เราทุกคนต่างเป็นหนึ่งสมาชิกของสังคม จึงมีหน้าที่ร่วมมือกันในการดูแลและหาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

หนุนภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เชฟรอนมอบคอมพิวเตอร์ให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนุนภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกันทั่วประเทศของประเทศไทยให้ลุล่วง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้บริจาคคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มูลค่า 2,306,096 บาท แก่ศูนย์วัคซีนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สำหรับใช้ในการดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนภายในศูนย์ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

“นพ.ภาณุวัฒน์ ชุติวงศ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศในการให้บริการการฉีดวัคซีน ทั้งในด้านการสื่อสารกับคนไข้โควิด-19 และผู้ป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ด้านการลงทะเบียน และบันทึกข้อมูลของคนไข้ในระบบเพื่อติดตามอาการในภายหลัง

กระบวนการเหล่านี้ต้องมีการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการรักษาระยะห่าง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงใช้เผยแพร่ความรู้และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองให้ปลอดภัยจากโรคนี้

“เมื่อบุคลากรทางการแพทย์มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจากการสนับสนุนของทางเชฟรอน เหล่าบุคลากรทางการแพทย์จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การกระจายวัคซีนรวมถึงข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศได้อย่างครอบคลุม”

ด้าน “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนเดินหน้าสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับมือกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยการช่วยเหลือล่าสุดเรามองเห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการให้บริการการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 เชฟรอนไม่เพียงมอบอุปกรณ์การแพทย์และสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แต่ยังให้การสนับสนุนการสร้างสร้างศักยภาพในระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เช่น การสนับสนุนโครงการวิจัยการใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้กับกรมควบคุมโรคในการพัฒนาและยกระดับการจัดการระบบข้อมูล ผ่านกระบวนการ design thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ และการมอบคอมพิวเตอร์แบบพกพา 20 เครื่อง แก่สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินภารกิจฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นต้น

หนุนงานวัคซีนกลุ่มบกพร่องทางปัญญา

ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา สถาบันราชานุกูลได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น และแอลดี ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว ในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ที่ทางสถาบันให้การดูแล

โดยสถาบันราชานุกูลเป็นองค์กรภายใต้การกำกับของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้บริการโรงพยาบาลพิเศษเฉพาะทางแก่ผู้บกพร่องทางสติปัญญาแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา ส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพ พร้อมทั้งเป็นสถานที่ให้ความรู้ด้านภาวะปัญญาอ่อนแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุขทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถาบันราชานุกูล ด้วยการส่งมอบเสื้อสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น และแอลดี ตลอดจนสมาชิกครอบครัว

“ที่ผ่านมายูนิโคล่ทำงานร่วมกับสถาบันราชานุกูลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ด้วยการจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการทำงาน โดยตั้งศูนย์การศึกษาจำลองขึ้นที่สถาบันราชานุกูลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรได้เรียนรู้ตั้งแต่ทักษะพื้นฐานงานต่าง ๆ จากพนักงานอาสาของยูนิโคล่ รวมไปถึงเปิดโอกาสการจ้างงานเพื่อให้พวกเขาสามารถดูแลตัวเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างกลมกลืน

ยูนิโคล่มอบเสื้อที่สร้างความคล่องตัวให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถาบันราชานุกูล

ส่งกำลังใจไปยังแพทย์

“ธนา ต่อสหะกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มดีพีซี จำกัด ผู้ให้บริการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรในเครือเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า บริษัทได้จัดกิจกรรม MDPC ALL FOR HERO เชิญชวนลูกบ้านร่วมบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย (สำหรับใช้ในการแพทย์), หน้ากากอนามัย N95, ถุงมือยาง, face shield, ชุดกาวน์คลุมศีรษะ (PPE), น้ำยาฆ่าเชื้อโรค, แอลกอฮอล์/เจลแอลกอฮอล์ เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกลุ่มเส้นด้าย อาสาสมัครประชาชนช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้รับมือกับโรคระบาด

“ในฐานะตัวกลางที่ทำงานกับลูกบ้านโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก จึงต้องการช่วยเป็นสื่อกลาง รวบรวมและส่งมอบอุปกรณ์ที่จำเป็น พร้อมทั้งส่งต่อความห่วงใยให้แก่เหล่าฮีโร่ที่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสุขภาพที่ดีของคนทั้งประเทศ โดยบริษัทได้นำร่องการวางจุดรับบริจาคในโครงการดิ เอ็กเซล ไฮด์อะเวย์ สุขุมวิท 71 ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกบ้านเป็นอย่างดี ”

สำหรับแผนการดำเนินงานลำดับต่อไป ทางบริษัทจะขยายกิจกรรมไปสู่อสังหาริมทรัพย์โครงการอื่น ๆ ที่บริษัทบริหาร เพื่อให้ลูกบ้านทุกโครงการ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความห่วงใย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป ไม่จำกัดแค่เพียงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และกลุ่มเส้นด้ายเท่านั้

บริษัทเอ็มดีพีซีและลูกบ้าน มอบสิ่งของด้านการแพทย์ที่จำเป็นต่อการใช้รับมือโควิด-19