‘โกลบอลคอมแพ็ก’ ดึงผู้นำทั่วโลก แก้วิกฤตอากาศ-เหลื่อมล้ำยุคโควิด

‘โกลบอลคอมแพ็ก’ ดึงผู้นำทั่วโลก แก้วิกฤตอากาศ-ความเหลื่อมล้ำยุคโควิด-19 “ศุภชัย เจียรวนนท์” ร่วมเวที เสนอให้ COP26 เรียกร้องรัฐบาลแต่ละประเทศ กำหนดบริษัทเอกชนตั้งเป้าความยั่งยืนและทำรายงาน zero emission เพื่อขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เป็นรูปธรรม

วันที่ 16 มิ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า UN Global Compact (UNGC) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เครือข่ายท้องถิ่นของโครงการสำคัญระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) จัดฟอรั่ม “UN Global Compact Leaders Summit 2021” บนแพลตฟอร์มออนไลน์แบบเสมือนจริง (virtual) ถ่ายทอดสดจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

โดยเป็นการประชุมผู้นำความยั่งยืนครั้งสำคัญของโลก ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน มาร่วมระดมความคิด ผนึกกำลังปรับเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มาบรรจบการระบาดของโควิด-19 ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจที่เลวร้ายลง และการคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกตรวจสอบ รวมทั้งเสนอแผนงานเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดงานไปแล้วเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) เวลา 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และจัดตลอดทั้งวันจนถึงวันที่ 16 มิ.ย. 2564 รวมหัวข้อเสวนากว่า 140 หัวข้อ

นายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวเปิดการประชุมว่า ผู้นำความยั่งยืนที่ร่วมในงาน Leaders Summit 2021 พร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

“องค์กรธุรกิจต่าง ๆ มารวมตัวกันครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมแสดงความรับผิดชอบ และเดินหน้าลงมือในภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ขอย้ำว่าองค์กรธุรกิจจะต้องบูรณาการในเรื่องการลงทุน การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึง ESG (Environmental, Social, Governance)”

ขณะที่ นางสาวแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact กล่าวว่า จากปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก UNGC มีความห่วงใยในประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

แซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact

“มีหลายประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนได้ ตลอดจนปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีวัยทำงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางที่จะสร้างการมีส่วนร่วม และระดมแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากผลกระทบโควิด-19 อย่างจริงจัง”

สำหรับหัวข้อ “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5°C World” (มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ : แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส) มีตัวแทนจากประเทศไทย คือ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group)

ร่วมเสวนาแบบเรียลไทม์กับผู้นำจากนานาประเทศ ได้แก่ น.ส.ดามิลโอลา โอกันบียี ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL) และผู้แทนพิเศษเลขาสหประชาชาติด้านพลังงานความยั่งยืน, นายคีธ แอนเดอร์สัน ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power, และ น.ส.กราเซียเอลา ชาลุปเป้ ดอส ซานโตส มาลูเซลลิ ซีโอโอและรองประธานบริษัท Novozymes ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านไบโอเทคโนโลยี ประเทศเดนมาร์ก

นายศุภชัย กล่าวว่า การที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ได้ ต้องเริ่มจากการทำให้คนในประเทศตระหนักถึงปัญหาการบริโภคที่ยังไม่มีความยั่งยืน ทั้งระดับบุคคลและบริษัท เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ

“ในฐานนะที่ ซีพี กรุ๊ป อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร การเกษตร และการค้าปลีก เราจึงพยายามทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีมากกว่า 100,000 ราย ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ให้มีความยั่งยืน และที่สำคัญพนักงานของเราต้องเดินตามเป้าหมายเดียวกัน”

ซีพี กรุ๊ปตั้งเป้าหมายที่ต้องการบรรลุภายใน 10 ปีข้างหน้า ใน 3 หัวข้อหลัก ๆ คือ 1) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และตั้งเป้าผลิตให้ได้ 10,600 เมกะ​วัตต์ โดยเราลงทุนกับเรื่องพลังงานสีเขียวไปกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ปลูกป่าให้ได้ 16 ล้านไร่ เพื่อครอบคลุมการชดเชยคาร์บอนฟุตพรินต์ใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน 3) ขับเคลื่อนการกำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะอาหารในกระบวนการทั้งหมดให้เป็นศูนย์

นอกจากนั้น นายศุภชัย ยกตัวอย่างพื้นที่ในภาคเหนือของประเทศไทยว่า มีภูเขาหัวโล้นจำนวนมาก เนื่องจากระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว (mono-crop) แต่เมื่อมีการส่งเสริมให้เปลี่ยนระบบเกษตรไปทำแบบผสมผสาน ก็ทำให้มีป่าภูบนเขาเพิ่มขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เราต้องหยุดการตัดป่าอย่างต่อเนื่อง และอยากแนะนำให้นำเทคโนโลยี เช่น บล็อกเชน และ IoT มาช่วยจัดการดูแลระบบเกษตรกรรมมากขึ้น

“ผมอยากให้ในงานประชุม COP26 ระหว่างผู้นำโลก ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ (จะจัดขึ้นเดือน พ.ย. 2564) มีการเรียกร้องให้รัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และภาคเอกชน ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนและทำรายงานเกี่บวกับ zero emission เพื่อช่วยขับเคลื่อนอีโคซิสเต็มของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และลดอุณหภูมิโลกเกิดขึ้นได้จริง และเป็นไปตามเป้าหมายภายในปี 2593 และอยากให้การศึกษาของคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนจาก 2.0 ไป 4.0 ที่ไม่เพียงเน้นเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องเป็นเรื่องความยั่งยืนด้วย”

นางสาวดามิลโอลา กล่าวว่า ขณะนี้ทุกภาคส่วนสนับสนุนให้มีการเจรจาเรื่องการจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรด้านพลังงานเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการไปควบคู่กัน

“จะต้องให้ความสำคัญในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้บริหารจัดการพลังงานไปสู่การสร้างพลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ด้าน นายคีธ กล่าวถึงการดำเนินงานของ Scottish Power บริษัทที่ผลิตถ่านหินว่า ปัจจุบันเลิกใช้ถ่านหินทั่วทั้งสกอตแลนด์ และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน  เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ในสกอตแลนด์มีการใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ถึง 97% ทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง และใช้พลังงานในอาคารจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งเป้าให้เมือง Glassgow เป็นเมืองคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์แห่งแรกในสหราชอาณาจักร”

นางสาวกราเซียล่า กล่าวว่า Novozyme ได้มีการลงทุนทางด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาปรับใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเป็นการทำงานร่วมกับคู่ค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานเป็นกรณีตัวอย่างในการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางการลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด