Digital HR ตอบโจทย์ ขับเคลื่อนองค์กรฝ่าโควิด-19

วัลภา เปี่ยมนพเก้า
วัลภา เปี่ยมนพเก้า ผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายแอปพลิเคชั่น ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย

COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการทำงานทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล (human resource-HR) ในหลายองค์กรต้องทบทวนแนวทางการจัดการกำลังคนใหม่ ๆ และการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับพนักงานมากขึ้น เช่นเดียวกับปี 2564 ที่ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายสำหรับงานสาย HR

บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำระบบคลาวด์และชุดแอปพลิเคชั่นครบวงจรแบบบูรณาการ เพื่อให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถขับเคลื่อนองค์กรในยุคที่ความเร็วเป็นปัจจัยชี้ขาดในการแข่งขัน ได้วิเคราะห์เทรนด์ HR ในอนาคต เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริหารองค์กร ทีม HR และคนทำงานต้องรู้

รวมถึงเปิดมุมมองบทบาทขององค์กร กับการช่วยเหลือพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

แชตบอตดูแลสุขภาพจิต

“วัลลภา เปี่ยมนพเก้า” ผู้จัดการทั่วไป และผู้อำนวยการฝ่ายแอปพลิเคชั่น ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า จากแบบสำรวจความคิดเห็นจากพนักงาน ผู้จัดการ ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารระดับสูงกว่า 12,000 คน ใน 11 ประเทศกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ในปี 2563-2564 เกี่ยวกับสิ่งที่พนักงานต้องการให้องค์กรซัพพอร์ตพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (mental health) เพราะสถานการณ์โควิดทำให้เกิดความเครียด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส และความไม่มั่นคงในอาชีพ นอกจากนั้น คนทำงานส่วนใหญ่ที่ทำงานที่บ้านไม่สามารถแยกเวลางานกับครอบครัวออกได้

“พนักงาน 70% มีความเครียด และความวิตกกังวลในสถานที่ทำงานมากขึ้นในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ส่งผลเชิงลบต่อสุขภาพจิตของแรงงาน (78%) ทั่วโลก โดยเกิดความเครียดมากขึ้น (38%) ขณะเดียวกันก็ขาดสมดุลของชีวิตส่วนตัวและงาน (35%) มีความเหนื่อยล้า (25%) ความหดหู่จากการไม่ได้เข้าสังคม (25%) และความโดดเดี่ยว (4%)”

แรงกดดันใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดทั่วโลกได้ทับถมลงบนสิ่งที่กระตุ้นความเครียดในสถานที่ทำงานที่มีอยู่เดิมซึ่งเกิดขึ้นอยู่แล้วทุกวัน รวมถึงแรงกดดันที่ต้องปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐาน (42%) การรับมือกับภารกิจประจำวันและงานที่น่าเบื่อหน่าย 41% และภาระงานที่ยุ่งยากจนไม่สามารถบริหารจัดการได้ (41%)”

เมื่อเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเริ่มมีผลกระทบมากขึ้น และพนักงานต้องทำงานทางไกลจากที่บ้าน ทำให้พนักงาน 35% ต้องทำงานมากขึ้น 40 ชั่วโมงต่อเดือน และ 25% เกิดความอ่อนล้าจากการทำงานมากเกินไป

เทคโนโลยีเปลี่ยนองค์กร

“วัลลภา” บอกว่า สิ่งที่องค์กรปัจจุบันควรทำคือ ซัพพอร์ตพนักงานทั้งทางด้านอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานที่บ้าน และทำระบบดูแลสุขภาพจิตแบบใช้ chatbot ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) เป็นเครื่องมือ เพราะจากการสำรวจพบว่า พนักงานองค์กรในยุคดิจิทัลชอบเล่าปัญหาและความรู้สึกไปถึงองค์กรผ่าน chatbot เพราะไม่มีอคติ ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง และ chatbot ช่วยเก็บข้อมูลที่พนักงานบอกไปทำการวิเคราะห์

นอกจากนั้น HR ยุคดิจิทัลควรมีฐานข้อมูลของพนักงาน (employee data base) ในด้านทักษะ การพัฒนาหน้าที่การงาน การขึ้นเงินเดือน การลางาน ที่สามารถประมวลผลได้ทั้งหมดแบบ single source of truth (SSOT) คือการนำข้อมูลทางธุรกิจทั้งหมดไปไว้ในฐานเดียวที่มีความปลอดภัย ซึ่งทุกคนที่มีอำนาจตัดสินใจในองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ร่วมกันจากระยะไกล และสามารถแจ้งเตือนไปที่แมเนเจอร์ให้ทำการต่าง ๆ ได้

“องค์กรยุคใหม่ต้องมีความยืดหยุ่น (agile organization) มีการทำงานแบบ cross functional team หมายถึง ทีมที่ประกอบด้วยสมาชิกจากฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งมีทักษะการทำงานที่แตกต่างกัน มาทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละโปรเจ็กต์ และรีพอร์ตตรงกับผู้นำโปรเจ็กต์ วิธีนี้จะทำให้พนักงานมีโอกาสใหม่ ๆ มีแรงจูงใจที่จะอยู่กับองค์กร”

นอกจากนี้ ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นให้การทำงานด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง 3 เทคโนโลยี ดังนี้

1) แพลตฟอร์ม one-stop-service บนระบบคลาวด์ Oracle Fusion Cloud Human Capital Management ที่พัฒนาเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถจัดการงานที่เกี่ยวกับการบริหารคนได้ง่ายขึ้น และมีความเป็นส่วนตัว เช่น การลา การฝึกอบรม เป็นต้น

2) Journeys Launchpad ระบบสำรวจและประมวลผลความต้องการพนักงานด้วย AI ทำให้ผู้บริหารสามารถมอบหมายงาน และแนะนำงานได้ตรงตามความต้องการของพนักงาน ช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในสายอาชีพ

3) Journeys Booster รวมกระบวนการ HR กับฟังก์ชั่นทางธุรกิจอื่น ๆ เช่น การจัดการด้านการเงิน แบบ end-to-end ในแพลตฟอร์มเดียว มีกระบวนการอัตโนมัติบนคลาวด์ สามารถเสริมในด้านทรัพยากรบุคคลให้ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ดิจิทัลตัวช่วยเรื่องวัคซีน

“วัลลภา” อธิบายว่า ในฐานะที่ออราเคิลฯมีความเชี่ยวชาญระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลบนคลาวด์ จึงได้ออกแบบเทคโนโลยีมาช่วยจัดการกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องฉีดวัคซีน เรียกว่า vaccine management systems เพื่อช่วยให้องค์กรที่ต้องการความคล่องตัวและความเป็นระบบระเบียบเรื่องการจัดการวัคซีน

เพราะระบบสามารถแทร็กข้อมูลจำนวนวัคซีน ลงทะเบียนฉีด เก็บข้อมูลผู้รับการฉีด และบันทึกข้อมูลติดตามอาการหลังการฉีด ซึ่งเราให้ใช้ฟรี 10 ปี ที่ผ่านมาได้รับการยอมรับใช้งานในสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และแทสเมเนีย

“นอกจากนั้น ออราเคิลฯได้พัฒนา 2 โซลูชั่น เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ ได้แก่ National Electronic Health Records (EHR) Database และ Oracle Public Health Management System เป็นระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานผ่านคลาวด์ เพื่อช่วยให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสามารถรวบรวม ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลอัพเดตด้านสุขภาพจากผู้ป่วย และผู้ให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว”

เทรนด์ใช้คลาวด์บริหารงาน

“วัลลภา” กล่าวว่า ระบบคลาวด์และแอปพลิเคชั่นเพื่อการบริหารองค์กร ทั้งสำหรับธุรกิจ การตลาด และทรัพยากรบุคคล มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการบริหารจัดการองค์กร โดยผลประกอบการล่าสุดของออราเคิลฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2564) มีรายรับรวมประจำไตรมาสเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รายรับจากบริการคลาวด์และสิทธิการใช้งานเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับรายรับจากสิทธิ์การใช้คลาวด์และสิทธิ์การใช้ซอฟต์แวร์ในองค์กรเพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้จากการดำเนินงานของไตรมาสที่ 3 ตามการคำนวณบัญชีทั่วไปเพิ่มขึ้น 10% อยู่ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรจากการดำเนินงานตามการคำนวณบัญชีทั่วไปอยู่ที่ 38% ทั้งนี้ รายได้จากระบบ ERP Cloud เพิ่มขึ้น 30% และ Netsuite Cloud ERP เพิ่มขึ้น 24%

“ที่ผ่านมามีเทรนด์ขององค์กรไทยใช้ระบบคลาวด์ในการบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด โลตัส ประเทศไทย ร่วมกับเราในการนำนวัตกรรม ERP Cloud ใหม่ ๆ รองรับการทำงานด้านการจัดการบัญชีในส่วนหลังบ้าน (back office) และการบริการที่ครอบคลุมในการจัดเก็บข้อมูลแบบ big data เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำมาปรับใช้บริหารคนและองค์กรให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น