ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรพยาบาล รับคนจบ ป.ตรี ทุกสาย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดหลักสูตรใหม่ ปริญญาตรี “พยาบาลศาสตรบัณฑิต” รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา เรียน 5 เทอม รองรับวิชาชีพขาดแคลน

วันที่ 22 มิถุนายน 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่าเพื่อตอบสนองพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ต้องการสืบทอดพระราชปณิธานในการขจัดทุกข์บำรุงสุข แก่ประชาชน ซึ่งจัดตั้งสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขึ้น พร้อมรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2560 จำนวน 50 คน มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ รอบรู้ในศาสตร์ทางการพยาบาล และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง มีคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพการพยาบาล ภายใต้ปรัชญา “ดูแลคนด้วยหัวใจ”

ทั้งยังเป็นการรองรับสถานการณ์และปัญหาสาขาวิชาชีพขาดแคลน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้เปิดหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2564 คือ “พยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น” โดยรับบุคคลที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นพยาบาลวิชาชีพ มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเรื่องการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาคุณภาพการพยาบาล อีกทั้งยังเป็นไปตามพันธกิจของสถาบัน ซึ่งมุ่งตอบสนองความต้องการของประเทศ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุ และการเพิ่มกำลังคนสาขาหลักของสาธารณสุข

 

โดยเป็นการมุ่งขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับบุคคลโดยไม่จำกัดเพศ วัย เชื้อชาติ หรือเศรษฐานะ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันในการแก้ปัญหาโดยรวม อาทิ ตอบสนองความต้องการบุคลากรพยาบาลของประเทศที่กำลังขาดแคลน ปัญหาการว่างงานของประชาชน ส่งเสริมคุณภาพการบริการทางสุขภาพ และพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการบริการทางสุขภาพ โดยทางสถาบันฯ มีความพร้อมอย่างมากในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษามีศักยภาพสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริการทางสุขภาพ รองรับความต้องการในวิชาชีพขาดแคลน

หลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 2 ปี 6 เดือน จะมุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะเรื่องการวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม และที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพทางการพยาบาล มีระบบการเทียบโอนหน่วยกิตรับบุคคลที่จบปริญญาตรีสาขาอื่นที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพมาเป็นพยาบาลวิชาชีพ และใช้การเรียนรู้ที่เน้นการเรียนแบบผู้ใหญ่ (Adult learning) มุ่งให้มีประสบการณ์จริงทั้งในห้องปฎิบัติการเสมือนจริง และการปฎิบัติในโรงพยาบาลและในชุมชน ใช้กระบวนการเรียนแบบผสมผสาน (Blended learning) ทั้ง online และ onsite มีโครงการและกิจกรรมภาคสังคมให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติเพื่อเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ อาทิ การทำงานวิจัยร่วมกับคณาจารย์ การให้บริการวิชาการแก่ประชาชน และ การออกหน่วย พอ.สว. ร่วมกับสหวิชาชีพ

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอื่น ที่ไม่ใช่สาขาพยาบาล และต้องมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่า 2.50 (จากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม/กระทรวงศึกษาธิการ/ทบวงมหาวิทยาลัย) มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยหรือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และการประกอบอาชีพ เช่น ตาบอดสีรุนแรง หูหนวกหรือหูตึง เป็นต้น

ทั้งนี้รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพ มีความสำคัญในสถานบริการด้านสุขภาพทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ให้บริการด้านสุขภาพ อาทิเช่น โรงงาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น นักวิจัยปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยหรือนักวิจัยอิสระ นักประกอบการทางสุขภาพ ผู้ดำเนินการสถานดูแลสุขภาพ หรือประกอบอาชีพอิสระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

อีกทั้งระดับมหภาค “พยาบาล” เป็นวิชาชีพขาดแคลน จากข้อมูลตามรายงานของสภาพยาบาลและสภาการพยาบาลระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลกระบุว่า วิชาชีพพยาบาล เป็นกลุ่มบุคลากรทางสุขภาพที่มีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 59 ของวิชาชีพด้านสุขภาพ ขณะที่ทั่วโลกมีพยาบาลวิชาชีพอยู่ราว 28 ล้านคน ซึ่งในระยะสั้นช่วง 10 ปีข้างหน้า ความต้องการพยาบาลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5.9 ล้านคน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้สามารถมั่นใจในโอกาสการทำงาน

สำหรับผู้สนใจ กำหนดการเปิดรับสมัคร รุ่น 1 จำนวนรับสมัคร 100 คน วันที่ 28 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2564 และเปิดภาคเรียน เดือนสิงหาคม 2564
สอบถามเพิ่มเติม โทร: 089-671-0633 (ในเวลาราชการ)
สมัครออนไลน์: http://nurse.pccms.ac.th/
Email: [email protected]<mailto:[email protected]>
Fakebook: @nurse.pccms